“ผมกล่าวขอโทษต่อหน้าสมาชิกครอบครัวของหะยีสุหลงราว 80 กว่าคน ผมยอมรับว่าครอบครัวผมมีส่วนในเรื่องนี้ แล้วก็เล่าข้อมูลเท่าที่ผมรู้ให้ฟัง ครอบครัวเขาต้องอยู่กับความโศกเศร้ามานานหลายสิบปี ทุกปีก็จะจัดงานรำลึกกัน ผมเชื่อว่าการได้รับข้อมูลและคำขอโทษจากปากผม จะทำให้ทายาทของหะยีสุหลงสบายใจขึ้น ตัวผมเองก็รู้สึกสบายใจด้วยที่ได้ออกมาขอโทษออกไป และถ้ามันจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ผมก็พร้อมที่จะไปขอโทษครอบครัวอื่นๆอีกที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของบุคคลในครอบครัวผมในอดีต” จากหนังสือ ชีวิต มุมมอง ความคิด ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (2563)
I apologized to more than 80 family members of Toemeena. I admitted that my family was involved in this incidence. And, I divulged to them all the information I knew. The families had to live with such bereavement for decades. They organized a commemoration every year. I believe that this new information and an apology from me helped the descendants of Haji Sulong heal. I myself also feel better after offering the apology. And if it will help make everything better, I am more than willing to apologize in person to other families who have had to suffer because of the previous acts of my family members.
คำขอโทษจากทายาท “ชุณหะวัณ” ถึงทายาท “หะยีสุหลง” [1]
วันที่ 13 สิงหาคม 2559 ครอบครัวของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ได้จัดงานรำลึกครบรอบ 62 ปีการสูญหายของหะยีสุหลงที่บ้านของเขาในจังหวัดปัตตานี สมาชิกครอบครัวของหะยีสุหลงซึ่งมีความสนิทสนมกับผม โดยเฉพาะพี่เด่น โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาช่วงเดียวกับผม และเป็นบุคคลที่ผมเคารพนับถือมาก และลูกสาวพี่เด่น คือ พญ. เพชรดาว โต๊ะมีนา เชิญผมไปร่วมงานด้วย ผมก็เลยใช้โอกาสนี้ขอโทษครอบครัวของหะยีสุหลงในนามของครอบครัวชุณหะวัณ เพราะหะยีสุหลงหายตัวไปภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศหลังการรัฐประหารปี 2490 ที่นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ และอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้นก็คือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ลุงเขยของผม ช่วงเวลานั้นมีนักการเมือง ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นสูญหายหรือเสียชีวิตหลายคน รวมทั้งหะยีสุหลงด้วย และผมก็เชื่อว่าลุงเขยของผมเป็นคนออกคำสั่ง
ผมกล่าวคำขอโทษต่อหน้าสมาชิกครอบครัวของหะยีสุหลงราว 80 กว่าคน ผมยอมรับว่าครอบครัวผมมีส่วนในเรื่องนี้ แล้วก็เล่าข้อมูลเท่าที่ผมรู้ให้ฟัง ครอบครัวเขาต้องอยู่กับความเศร้าโศกมานานหลายสิบปี ทุกปีก็จะจัดงานรำลึกกัน ผมเชื่อว่าการได้รับรู้ข้อมูลและคำขอโทษจากปากผมจะทำให้ทายาทของหะยีสุหลงสบายใจขึ้น ตัวผมเองก็รู้สึกสบายใจด้วยที่ได้ขอโทษออกไป และถ้ามันจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ผมก็พร้อมจะไปขอโทษครอบครัวอื่นๆ อีกที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของบุคคลในครอบครัวผมในอดีต
การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น: “สมรภูมิสุดท้ายที่เราต้องรบกับมัน”
ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผมอยากจะต่อสู้ในตอนนี้ คือ การปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคืออยากเห็นการยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ผมอยากเห็นกฎหมายนี้มันพังทลายไปต่อหน้าต่อตาผมเลย เพราะผมเป็นคนชอบถ่ายทำภาพยนตร์ ผมเคยถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีหลายเรื่อง อย่างเรื่องเขื่อนน้ำโจนและสารคดีเรื่อง พลเมืองจูหลิง ที่ทำร่วมกับมานิต ศรีวานิชภูมิ และ อิ๋ง กาญจนวณิชย์ ผมก็นึกอยากจะกลับมาทำอีก อยากทำหนังเชิงการเมือง แต่ตราบใดที่ยังมีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์อยู่ ก็คงไม่ได้ฉาย ผมคิดว่าภาพยนตร์มันมีพลังและเป็นการส่งเสริมงานศิลปะหลายแขนงมากและมันเป็นอุตสาหกรรมที่จะสร้างเงินให้ประเทศไทยได้เป็นแสนล้านนะ ถ้าเราสนับสนุนมันให้ดี แต่ที่ผ่านมาหนังไทยดีๆ หลายเรื่องถูกสั่งห้ามฉายโดยคณะกรรมการเซ็นเซอร์ (คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์) ตั้งแต่เรื่อง ทองปาน หนังของอิ๋ง เค (สมาณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์) หลายเรื่อง เช่น คนกราบหมา เช็คสเปียร์ต้องตาย หนังเรื่อง แสงศตวรรษ ของอภิชาติพงษ์ วีรเศรษฐกุล ถูกสั่งให้ตัดฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลและฉากที่หมอจูบกับแฟนในโรงพยาบาล เรื่องล่าสุดคือ อาบัติ ที่ถูกสั่งให้ตัดฉากเณรดื่มเหล้าและจูบสีกาออก ภาพยนตร์ที่รัฐสนับสนุนมีอยู่แบบเดียวคือ เรื่องที่ปลูกฝังความคิดแบบชาตินิยม เช่น หนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การรบระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนถึงเผด็จการในด้านวัฒนธรรมอย่างชัดเจน
สิ่งที่ผมเรียกร้องไม่ใช่แค่เรื่องยกเลิกการเซ็นเซอร์หนังอย่างเดียว แต่หมายถึง free speech ทั้งหมด รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ของกฎหมายอาญาก็ต้องแก้ไข ต้องอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันได้ ตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ไทยได้ ผมเคยเขียนบทความเรื่องสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย โดยอ้างอิงจากงานของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ แล้วก็มานำเสนอที่จุฬาฯ ปรากฏว่าผมโดนวิจารณ์อย่างหนักเลยว่าเป็นความคิดที่อันตราย
คนไทยถูกสอนให้เชื่อ ให้รักชาติแบบจอมปลอมมาไม่รู้กี่สมัยแล้ว เราต้องพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาได้ ไม่ใช่ว่าใครพูดถึงนิดหน่อยหรือเอามาทำหนังก็ไม่ได้ ถูกสั่งให้ตัดออกหมด ผมไม่เห็นว่าการพูดถึง 6 ตุลาจะเสียหายตรงไหน เวลามีการจัดอันดับเรื่องความฉลาดของคนไทย เราถึงอยู่อันดับท้ายๆ เพราะเราพูดไม่ได้ เราไม่รู้เลยหรือรู้น้อยมากว่าอดีตของเราเป็นยังไง เพราะรัฐกีดกัน ไม่อยากให้รู้ ไม่อยากให้พูดถึงวิวัฒนาและการล้มลุกคลุกคลานของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย คนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้ ตอนผมเป็นอาจารย์ที่ ม.เกษตร ถามเด็กปี 1 ว่ารู้เรื่อง 14 ตุลา 6 ตุลามั้ย นิสิตบอกว่าไม่รู้
สังคมไทยเป็นสังคมที่พูดความจริงทั้งหมดไม่ได้ ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือนจนหาความจริงแทบไม่เจอเราเป็นประเทศเดียวที่หลักฐานต่างๆ โดนทำลาย ทำลายทั้งในทางกายภาพและความรับรู้ โดยกดมันเอาไว้หรือทำให้ประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวบางอย่างถูกลืมไป ผมต้องการอย่างเดียวคือความจริง หรืออย่างน้อยก็สิ่งที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด ผมคิดว่าการที่เราสามารถเล่าความจริงได้ เขียนความจริงได้มันเป็นความสุขที่สุดของมนุษย์นะ สังคมไหนที่มีความจริงที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน เราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ไม่มีการมองว่าฝ่ายที่ยึดถือความจริงคนละชุดกับเราเป็นฝ่ายตรงข้าม ต้องกำจัดออกไปหรือต้องลงโทษลงทัณฑ์เสียให้เข็ดหลาบ วิธีคิดแบบนี้มันดึกดำบรรพ์ เหมือนสมัยยุคมืด
การอยู่ในสังคมที่พูดความจริงทั้งหมดไม่ได้ ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมันทำให้ผมรู้สึกเดือดอยู่ในใจ และทำให้ผมรู้สึกผิดหวังว่าสิ่งที่เราต่อสู้กันมาทั้งหมดมันไม่ได้ประสบผลอะไรเลย แต่เราก็ยังต้องสู้กันต่อ โดยเฉพาะเรื่องเผด็จการทางวัฒนธรรมและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งผมคิดว่าเป็นสมรภูมิสุดท้ายที่เราต้องรบกับมัน ต้องต่อสู้ให้สำเร็จให้ได้ในช่วงที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ●
[1] หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ เป็นผู้นำศาสนาในจังหวัดปัตตานีที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง เขาก่อตั้งขบวนการประชาชนปัตตานีขึ้นในปี 2490 เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องการปกครองตนเอง ขอสิทธิในการใช้ภาษาและวัฒนธรรมรวมทั้งการใช้กฎหมายอิสลาม ปี 2491 เขาถูกตัดสินจำคุกในข้อหากบฏในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม การคุมขังหะยีสุหลงทำให้เกิดการประท้วงและจลาจลหลายครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สองปีหลังจากได้รับการปล่อยตัวออกจากคุกเมื่อปี 2495 เขาได้หายตัวไปพร้อมกับลูกชายคนโตและผู้ติดตามอีก 2 คนที่จังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเขาถูกฆาตกรรมโดยตำรวจ ซึ่งขณะนั้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ การหายตัวไปของหะยีสุหลงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิของชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเปลี่ยนการต่อสู้แบบสันติวิธีไปสู่การก่อตัวของขบวนการติดอาวุธ