[:th]CrCF Logo[:]

เปิดร่างพรบ.ทรมาน อุ้มหาย ฉบับกมธ. สภาผู้แทนราษฎร

Share

ดาวน์โหลดร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …  (ร่างฯ ฉบับกมธ.) ได้ที่ https://bit.ly/2ZeuyUN

วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านการพิจารณาและรับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …  (ร่างฯ ฉบับกมธ.) เพื่อเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไปในสภาฯ

ร่างฯ ฉบับกมธ.  เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านรวมไปถึงนิติกรสิทธิมนุษยชนผู้ชำนาญการ ที่มีความเห็นร่วมกันว่าควรมีกฎหมายอนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ที่ได้ให้สัตยาบันไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ที่ลงนามไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555

ร่างฯ ฉบับกมธ. มุ่งกำหนดกฎหมายที่ครอบคลุมบริบทของการเข้าถึงความยุติธรรม การชดเชย เยียวยา จากการถูกทรมานและถูกกระทำให้สูญหายในทุกมิติ โดยมีจุดประสงค์คือการกำหนดให้การทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม กำหนดให้มีกลไกป้องกัน ปราบปรามการกระทำดังกล่าว เพื่อลบล้างวัฒนธรรมที่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล (impunity) กำหนดให้มีกลไกตรวจสอบความโปร่งใสและความรับผิดชอบ รวมทั้งการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย เช่น การกำหนดให้ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิได้รับการเยี่ยมจากญาติหรือกรรมการที่เป็นอิสระ ให้พบและปรึกษาทนายความ ให้มีการบันทึกสถานที่และสภาพร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว มีกลไกการร้องเรียนหากถูกทรมานไม่ว่าบุคคลนั้นจะถูกคุมขังโดยเจ้าหน้าที่หน่วยใดหรือภายใต้กฎหมายฉบับใดก็ตาม อีกทั้งยังชดเชย เยียวยาผู้เสียหาย โดยได้ขยายนิยามของ “ผู้เสียหาย” ให้รวมไปถึง คู่สมรส ผู้สืบสันดาน บุพการี คู่ชีวิต และญาติผู้เสียหาย ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ทำให้กลุ่มคนดังกล่าวสามารถฟ้องคดีแทนเหยื่อได้ ในส่วนของอายุความ ไม่ให้นับอายุความจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ที่ถูกกระทำให้สูญหาย นอกจากนี้พลเมืองดีที่แจ้งหรือร้องเรียนกรณีอุ้มทรมานหรืออุ้มหาย หากกระทำโดยสุจริตก็จะได้รับการคุ้มครองพยานด้วย

ทั้งนี้ร่างฯ ฉบับกมธ. ฉบับนี้ใช้ร่างฯ ฉบับประชาชนเป็นฐาน โดยตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนยื่นร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับประชาชนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ต่อมามีการพิจารณาและปรับปรุงร่างฯ ในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในวันที่ 17 -18 และ24-25 มิถุนายน 2563 และในขณะนี้ กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน มีมติเห็นชอบร่างฯฉบับกมธ. โดยกระบวนการต่อจากนี้จะเป็นการเสนอร่างพ.ร.บ.ฯ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ประกอบกับร่างพรบ.ฉบับของกระทรวงยุติธรรมและพรรคการเมืองต่าง ๆ และนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอชื่นชมวิสัยทัศน์ร่วมของคณะกรรมาธิการฯ ที่เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิประชาชนเช่นนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่สะท้อนว่าผู้แทนราษฎรตระหนักถึงปัญหาอันเกิดจากการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ความคืบหน้าในการผลักดันกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความสัมฤทธิ์ผลของระบอบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ดังนั้นภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคประชาสังคมร่วมมือกับสื่อมวลชนยืนยันถึงความสำคัญของหลักการด้านสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และรักษาสิทธิอันพึงมีในฐานะพลเมือง โดยร่วมกันสอดส่อง ติดตามและร่วมผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้สำเร็จเพื่อเป็นหลักประกันแก่ความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต และให้พวกเราทุกคนปลอดจากการทรมานและการกระทำให้สูญหายไม่เกิดเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

แถลงการณ์ ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

TAG

RELATED ARTICLES