[:th]CrCF Logo[:]
สมชาย หอมลออ

รัฐต้องคุ้มครอง มิใช่กดขี่ ผลักไส ประชาชนของตน | สมชาย หอมลออ

Share

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ฟังผู้นำรัฐกัมพูชาและรัฐไทยให้ข่าวสารเกี่ยวกับการหายไปของนายวันเฉลิมแล้วเศร้าใจ และสลดใจยิ่งขึ้นที่ผู้รับข่าว โดยเฉพาะบางคนในประเทศนี้ ขาดความรู้ ความเข้าใจ อคติจนขาดสติไตร่ตรองต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

“เรื่องเช่นนี้หากไม่เกิดกับตน ไม่รู้สึก ที่น่าเศร้ายิ่งขึ้นคือ เมื่อเกิดกับตน ทวงหาสิทธิ เรียกร้องความเป็นธรรม แต่เมื่อเกิดกับผู้อื่น เหยียบย่ำ ซ้ำเติม ปฎิเสธความเป็นธรรม”

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Q : คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องกับการยกขึ้นมาว่าเหตุที่ “ต้าร์ วันเฉลิม” ถูกจับตัวไปเพราะเรื่องยาเสพติด

A : เรื่องที่หาว่าเขาหายไปเพราะเหตุปลูกกัญชาหรือเพราะเหตุขัดแย้งและต่อต้านกลุ่มผู้มีอำนาจของไทยนั้น สำหรับคนบางคนแม้ยากที่จะวินิจฉัย และบางทีดีชั่วหรือถูกผิดก็ตัดสินกันด้วยทัศน ความเชื่อและอคติ 

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้อยู่ทีว่า รัฐมีเจตนารมณ์และอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ประชาชนไม่ได้สร้างรัฐไว้เพื่อกดขี่ปราบปรามประชาชน ดังนั้นเมื่อคนๆหนึ่ง จะดีจะชั่ว หายไปหรือถูกสงสัยว่าจะเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ตามหลักดินแดน รัฐบาลกัมพูชาที่มีสมเด็จฮุนเซ็นเป็นผู้นำ เป็นเจ้าของดินแดนที่เกิดเหตุ มีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของ “คนทุกคน”  ที่อยู่ในดินแดนกัมพูชา รวมทั้งวันเฉลิมที่อยู่ในดินแดนแห่งนั้น ตามเจตนารมณ์และหน้าที่ของรัฐกัมพูชา   สำหรับรัฐบาลไทยที่มีสมเด็จประยุทธเป็นผู้นำ  เป็นรัฐที่วันเฉลิมถือสัญชาติ ตามหลักคนชาติ รัฐบาลไทยย่อมต้องมีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของเขา และ “ผู้ถือสัญชาติไทยทุกคน” ในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะในหรือนอกดินแดนไทย ไม่ว่าจะเป็น “คนสำคัญ” หรือ คนทีถูกมองว่า “ต่ำต้อย”  หรืออื่นใดก็ตาม หรือแม้แต่ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด เป็นอาชญากร 

หากมีพยานหลักฐานว่าคนผู้นั้นปลูกกัญชา รัฐบาลกัมพูชาก็ต้องดำเนินคดีเขาตามกระบวนการยุติธรรม ภายใต้พันธกรณีที่รัฐกัมพูชามีอยู่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย และการป้องกันบุคคลจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ

Q : ณ ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลไทย และกัมพูชาควรทำมากที่สุดคืออะไร

A : หากรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาไม่ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐไทยและรัฐกัมพูชา ย่อมถือว่ารัฐบาลนั้น “ไม่เต็มใจ (unwilling)” หรือหากรัฐบาล ซี่งมีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่นับล้านคน งบประมาณมหาศาลจะอ้างว่า “ไม่สามารถ (unable)” รัฐบาลนั้นก็ต้องออกไปเพราะไม่หรือล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ  มิเช่นนั้นประชาชนก็มีสิทธิที่จะไล่รัฐบาล

สมชายทิ้งท้ายไว้ว่า “เรื่องเช่นนี้หากไม่เกิดกับตน ไม่รู้สึก ที่น่าเศร้ายิ่งขึ้นคือ เมื่อเกิดกับตน ทวงหาสิทธิ เรียกร้องความเป็นธรรม แต่เมื่อเกิดกับผู้อื่น เหยียบย่ำ ซ้ำเติม ปฎิเสธความเป็นธรรม”