

ประเทศไทยต้องมีกฎหมาย
ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563 และวันที่ 20 กุมภาพันธุ์ พศ. 2563 ตัวแทนผู้เสียหาย องค์กรพร้อมนำรายชื่อบุคคลกว่า 100 คนยื่นร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับประชาชน โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รวมกับสมาชิกกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาร่วมกับร่างพรบ.ชื่อเดียวกันที่ทางกระทรวงยุติธรรมเสนอเข้ามาเพื่อให้คณะกรรมาธิการฯแล้ว พร้อมกับจัดทำรายงานเปรียบเทียบร่างฉบับประชาชนและฉบับของรัฐบาลด้วย โดยจะมีการยื่นต่อพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลให้สนับสนุนร่างฉบับประชาชนนี้ด้วย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมหนึ่งในองค์กรร่วมร่างพรบ.ฉบับประชาชนระบุว่าร่างกฎหมายฉบับประชาชนดังกล่าวนี้ยืนยันที่จะให้กฎหมายอนุวัติการมีสาระบัญญัติที่ครบถ้วนตามที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ.2527 ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.2550 และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2555
เช่น ถือการทรมานเนื่องจากเหตุของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าในด้านใดจะกระทำมิได้ ห้ามผลักดันบุคคลออกนอกราชอาณาจักรหากบุคคลดังกล่าวอาจต้องเผชิญกับการทรมาน ห้ามอ้างเหตุผลหรือสถานการณ์ใดๆ รวมทั้งภาวะสงคราม กฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อกระทำการทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาต่อการกระทำทรมานหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย การกำหนดมาตรการป้องกันโดยให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ และการให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายทุกกรณี รวมทั้งให้มีอำนาจตรวจสอบและมีคำสั่งเพื่อระงับการทรมานและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหาย เป็นต้น
สำหรับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในส่วนของกระทรวงยุติธรรมนั้นได้นำเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว โดยเรื่องดำเนินไปถึงชั้นกรรมาธิการสมัยยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมีการแก้ไขในหลายประเด็น ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการเสนอของกระทรวงยุติธรรมขอถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากการพิจารณาของรัฐสภาในสมัยที่แล้ว เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณากฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2562 กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมได้นำร่างไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญและได้นำกลับมาใหม่โดยเสนอเข้าสู่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรในสมัยนี้
ข้อเสนอของร่างฯฉบับประชาชนที่แตกต่างที่สำคัญจากร่างของกระทรวงยุติธรรมที่สำคัญได้แก่ การปรับปรุงคำนิยาม คำว่า การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่รัฐ ปรับปรุงสาระสำคัญของฐานความผิดเรื่องการทรมาน การกระทำให้บุคคลสูญหาย การกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งนิยามถึงผู้ได้รับความเสียหายซึ่งหมายรวมถึงญาติทางพฤตินัยและนิตินัย ในส่วนการปราบปรามฯได้ปรับปรุงเหตุเพิ่มโทษ ยืนยันบทรับรองหลักความเป็นความผิดสากล ในส่วนการดำเนินคดี ร่างภาคประชาชนได้รับรองความเป็นผู้เสียหายทั้งกรณีทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายในคดีอาญาให้ได้รับทราบความจริงและเข้าถึงความเป็นธรรมได้ รวมทั้งกำหนดเรื่องการนับอายุความการทรมานเป็น 50 ปี และกำหนดอายุความการทำให้บุคคลสูญหายให้ต่อเนื่องจนกว่าจะเปิดเผยชะตากรรม อีกทั้งยังกำหนดให้คดีตามพรบ.ฉบับประชาชนนี้เป็นคดีพิเศษมีพนักงานอัยการเป็นพนักงานผู้รับผิดชอบสำนวน และไม่ให้ดำเนินคดีอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เป็นต้น
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า “ร่างพรบ.ฉบับนี้ ปรับปรุงจากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับผู้เสียหายจากการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย เช่นกรณีนายบิลลี่ เป็นต้น โดยทำให้กรอบกฎหมายมีความชัดเจน นำคนผิดมาลงโทษได้ และมีทั้งมาตรการป้องกันและปราบปราม ทั้งนี้เพื่อยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสองเรื่องนี้จากการกระทำที่เกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐบางนาย และทำให้ผู้เสียหายที่ลำบากมากในการเข้าถึงความจริง ความเป็นธรรมและได้รับการเยียวยา”
รายชื่อองค์กรที่ร่วมกันยื่นร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ……
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
- สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)
- สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
- เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี(HAP)
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน(TLHR)
- มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)
- กลุ่มด้วยใจ (Duayjai)
- เครือข่ายปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)
- สถาบันเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม(สปยธ.)
- เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
- สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
- มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
- สมาคม ปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
- คณะทำงานไทยเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน
- มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
- สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย(IMPECT)
- คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
- มูลนิธิรักษ์เด็ก
- มูลนิธิศักยภาพชุมชน
- มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์
- มูลนิธิสายเด็ก 1387