แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
ยกเลิกการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลำดับรอง ประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีประกาศเรื่อง ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรอง ประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 13 เมษายน 2562 โดยเชิญชวนให้ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในระหว่างวันที่ 8 – 25 เมษายน 2563 นั้น
ประกาศดังกล่าว ได้อ้างถึงเงื่อนไขในการจัดทำกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับข้างต้น ตามมาตรา 62 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 116 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งต้องดำเนินการภายในเวลา 1 ปี และ 2 ปี ตามลำดับ ทั้งนี้ พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมีร่างกฎหมายลำดับรองที่จัดทำเสร็จสิ้นแล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 5 ฉบับ และร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จำนวน 2 ฉบับ
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายลำดับรอง ทั้ง 7 ฉบับ ยังมีสาระสำคัญที่จำกัดสิทธิชุมชนในการเข้าถึงที่ดิน และทรัพยากรเป็นด้านหลัก ประกอบกับเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการไว้ภายใน 1 ปี และ 2 ปี ตามลำดับ ซึ่งยังมีเวลาพอสมควรในการดำเนินการ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งถือเป็นวาระร่วมกันของทุกผู้คนในสังคมในการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นไปได้ และนำความปกติสุขมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง และความคืบหน้าในการดำเนินการตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ มาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ต้องมีการสำรวจการถือครองการอาศัยทำกินของประชาชนในพื้นทีป่าอนุรักษ์ตามกฏหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ที่ประเมินได้ว่าอาจไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในเวลากำหนด วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 นี้
ประกอบกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ผ่านทางเว็บไซต์ และมีเวลาที่จำกัด จึงไม่สามารถระดมข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขร่างกฏหมายลำดับรองดังกล่าวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่อาศัย ทำกินในพื้นที่พิพาทกับรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ซึ่งหากพิจารณาเทียบเคียงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 วรรคสอง ที่ระบุว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฏหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป”
จากเหตุผล และข้อเท็จจริงข้างต้น เครือข่ายปฏิรูปี่ดินภาคอีสาน (คปอ.) จึงมีความคิดเห็นและข้อเสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีดังกล่าว ให้มีคำสั่งยกเลิกประกาศดังกล่าวข้างต้นออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 จะยุติลง และนำมาสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลำดับรอง ที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัย ทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายทั้งสองฉบับ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง
พร้อมกันนี้ ในสถานการณ์เช่นปัจจุบัน รัฐบาลควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน ยุติการข่มขู่ คุกคาม จับกุมดำเนินคดี หรือปฏิบัติการใดๆของเจ้าหน้าที่ อันจะนำไปสู่การคุกคามสิทธิของประชาชนในพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทที่ดินและทรัพยากรกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีแต่หนทางเช่นนี้เท่านั้น จึงจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤติ และนำความยั่งยืนมาสู่สังคมในอนาคตได้
ด้วยความสมานฉันท์
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
24 เมษายน 2563