[:th]ขอให้ไม่ขยายเวลา พรบ.ฉุกเฉินกรณี โควิด 19 เสนอใช้ พรบ.โรคติดต่อ 58 เพิ่มงบ สธ. รณรงค์ลดการแพร่โควิด[:]

Share

[:th]

ขอให้ไม่ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เสนอให้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 เพิ่มงบประมาณสาธารณสุข รณรงค์ลดการแพร่เชื้อโรคโควิด

ตามที่ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)  ซึ่งเป็น “กฎหมายพิเศษ” โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ โควิด 19  ซึ่งแพร่ระบาดใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2562  และรัฐบาลอาจขยายระยะเวลาการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน  2563 ออกไปอีก หากรัฐบาลเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะใช้เป็นมาตรการดังกล่าวต่อไปนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า การประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการให้อำนาจฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง ในการที่จะใช้มาตรการต่างๆในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนเช่น การเดินทาง การเข้าขออกราชอาณาจักร การสมาคม การทำมาหาเลี้ยงชีพ ฯลฯ  ดังนั้นจึงต้องใช้เฉพาะในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งถึงขั้น “คุกคามความอยู่รอดของชาติ” เท่านั้น  ดังเช่นที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม ที่ระบุไว้ในข้อ 4 อนุ 1 ที่ว่า

“ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติ และได้มีการประกาศนั้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐภาคีแห่งกติกานี้อาจใช้มาตรการที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณีของตนภายใต้กติกานี้ได้เพียงเท่าที่ จำเป็นตามความฉุกเฉินของเหตุการณ์ ทั้งนี้ มาตรการเช่นว่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีอื่นๆ ของตน ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติเพียงเหตุแห่งเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรือ เผ่าพันธุ์ทางสังคม”

ดังนั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า เมื่อครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน 2563 แล้ว รัฐบาลไม่ควรขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างยิ่ง เช่นการสั่งปิดกิจการธุรกิจการค้าบางประเภท การห้ามประชาขนออกนอกบ้าน ฯลฯ มีผลทำให้ประชาชนตกงาน ขาดรายได้ที่ใช้ในการประทังชีวิตหลายล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน คนชายขอบ คนไร้ที่พึ่ง แรงงานข้ามชาติ โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและไม่เพียงพอที่จะบรรเทาความเดือดร้อนได้ ภาวะยากลำบากที่ประชาชนคนยากจนประสบอยู่ในขณะนี้ หากปล่อยให้ดำเนินต่อไปอาจส่งผลกระทบเกิดเป็นภาวะวิกฤติของชาติ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม จนยากที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้
  2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้เบาบางลงบ้างแล้ว และอยู่ในภาวะที่สามารถควบคุมได้ โดยรัฐบาลสามารถใช้มาตรการตาม “กฎหมายปกติ” อื่นๆ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 การรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือในการดูแลตนเองและผู้อื่น ฯลฯ โดยที่รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข แนะนำมาตรการและสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดเช่นหน้ากากอนามัย การเข้าถึงการตรวจสุขภาพให้แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
  3. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายนิติบัญญัติ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและดำเนินมาตรการต่างๆตามประกาศดังกล่าวโดยคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถที่จะตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายนิติบัญญัติดังเช่นกฎหมายของนานาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยกำหนด เนื่องจาก ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่อรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลไม่ต้องรายงานและขอความเห็นชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน หรือต่อรัฐสภา ทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตรวจสอบถ่วงดุล การประกาศและขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลฝ่ายเดียว
  4. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขาดการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า ฝ่ายตุลาการ ที่เป็นอิสระและ เที่ยงธรรม เป็นกลไกสุดท้ายที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย ที่จะ “ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบิหาร” เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างกว้างขวาง ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่เช่น เมื่อรัฐบาลประกาศห้ามประชาชนออกนอกบ้าน (เคอร์ฟิว) และเจ้าหน้าที่จับผู้ฝ่าฝืนเป็นจำนวนมาก ในเวลาเพียง 10 วันระหว่างวันที่ 3 – 13 เม.ย. 2563 มีคดีความทั่วประเทศจำนวน 9,000 กว่าคดี    แม้ผู้ถูกจับจะฝ่าฝืนกฎหมาย มีความผิดและมีโทษทางอาญา ศาลก็จะต้องพิจารณาทบทวนว่า ในสถานการณ์ที่ประกาศใช้เคอร์ฟิวอย่างเร่งด่วนทั่วราชอาณาจักร ซึ่งประชาชนจำนวนมากอาจไม่ตระหนัก หรือไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามเช่นนั้น สมควรที่ศาลจะพิพากษาให้นำตัวผู้ฝ่าฝืนให้รับโทษจำคุกหรือกักขังแทนค่าปรับหรือไม่ โดยเฉพาะในสภาวะที่เรือนจำมีจำนวนผู้ต้องขังที่แออัดและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 หรือแพร่เชื้อจากภายนอกเข้าสู่เรือนจำ เป็นต้น

หลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่า การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยฝ่ายตุลาการยังไม่มีประสิทธิภาพและมีข้อบกพร่อง   ส่วนหนึ่งเนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ตัดอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง ทำให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่ประกาศใช้โดยรัฐบาลและการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งๆที่มาตรการ และการกระทำต่างๆนั้น ในบางกรณีมีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็น และไม่ได้สัดส่วนกับสถานการณ์ หรือกรณี เป็นต้น ดังเช่นกรณีที่รัฐบาลได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ออกคำสั่งห้ามบุคคลสัญชาติไทยเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร แต่คนไทยที่ถูกห้ามไม่ให้เดินทางกลับประเทศ ที่สงสัยความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าว ไม่สามารถร้องต่อศาลปกครองให้ตรวจสอบได้ และเมื่อร้องต่อศาลแพ่ง  ศาลแพ่งก็วินิจฉัยว่า ศาลแพ่งไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคำสั่งดังกล่าวของรัฐบาลได้เช่นกัน

  1. การขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการนั้น อาจมีผลทำให้ฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินไปโดยไม่ได้สัดส่วนต่อความจำเป็นของสถานการณ์ หรือไม่สอดคล้องกับกรณีที่เกิด โดยเฉพาะ การที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กำหนดให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ในการบังคับใช้มาตรการตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แม้ว่าการบังคับใช้นั้นจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยมิชอบก็ตาม ย่อมอาจทำให้เจ้าหน้าที่บางคน ฉกฉวยใช้มาตรการตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปใช้ในทางไม่ชอบ ดังที่เกิดขึ้นในกรณีการนำไปใช้ในการเก็บตัวอย่าง ดีเอ็นเอ จากประชาชน หรือกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งสังหารคู่อริ โดยอ้างว่าอีกฝ่ายฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกบ้านและต่อสู้ขัดขวางกาปฏิบัติงานของตน เป็นต้น

อนึ่ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดทำบทความ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่รัฐบาลใช้รับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อให้เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และยกตัวอย่างบางประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และมีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการสากล เพื่อให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในขณะที่ต้องรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19   ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลและรัฐสภา จะพิจารณาทบทวน แก้ไข ปรับปรุง  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งฉบับ ให้สอดรับกับหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจในภาวะฉุกเฉินจากองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรฝ่ายตุลาการอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจประกาศใช้ ขยายเวลา ออกมาตรการและบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเองโดยปราศจากการตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีการแก้กฎหมาย กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎ คำสั่งและการกระทำของฝ่ายบริหารในภาวะฉุกเฉิน เพื่อป้องกันมิให้มาตรการพิเศษที่มีนั้นก่อให้เกิดภาระเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมและได้รับการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมต่อไป

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ มาตรการพิเศษในภาวะฉุกเฉินกับหลักสิทธิมนุษยชน กรณีศึกษา โควิด 2019 ในประเทศไทย ที่ https://bit.ly/2y91aEz
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม ที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [133.12 KB]

[:]

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading