[:th]CrCF Logo[:]

บันทึกการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19: กรณีสถานการณ์คนงานไทยในมาเลเซีย หลังปิดด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย

Share

 บันทึกการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19: กรณีสถานการณ์คนงานไทยในมาเลเซีย หลังปิดด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย

ศูนย์ข้อมูล  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เผยแพร่วันที่ 31 มีนาคม 2563

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 14/2563 เรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ระบุว่าตามที่จังหวัดสตูลมีคำสั่งลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 ให้มีการปิดด่านท่าเรือตำมะลังและด่านวังประจันและไม่อนุญาตให้คนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศนั้น  สถานทูตเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง ได้ตรวจสอบกับจังหวัดสตูลแล้ว ขอเรียนที่แจ้งดังนี้ 1) ขอยืนยันว่าด่านท่าเรือตำมะลังและด่านวังประจัน รวมทั้งด่านชายแดนทางบกระหว่างไทยกับมาเลเซียทุกจุด ยังไม่เปิดทำการและไม่สามารถเข้า-ออกได้  2) จังหวัดสตูลยังไม่ได้กำหนดวันเปิดด่านตามคำสั่งดังกล่าว และอยู่ระหว่างการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 3) ขอให้พี่น้องคนไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับไทยผ่านด่านชายแดนทางบก อยู่ที่พัก   ไม่เดินทางไปที่ชายแดน   4) ขอให้รอฟังประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้จากทางสถานเอกอัครราชทูตฯ  ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯจะรีบประกาศให้ทราบโดยทั่วกันในทันทีที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้แล้ว 

ก่อนหน้านี้มีการผ่อนผันการเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 25-27 มีนาคม 2563  ต่อมามีรายงานข่าวว่าวันที่ 28 มีนาคม 2563 เมื่อมีการปิดด่านอย่างไม่มีกำหนดที่ด่านพรมแดน ในรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียซึ่งติดกับพื้นที่วังประจัน จังหวัดสตูล มีแรงงานสัญชาติไทยจำนวนกว่า 400 คนติดค้างที่ด่านแห่งนี้ในฝั่งประเทศมาเลเซียโดยพวกเขายังไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านแดนกลับเข้าประเทศไทย  อีกทั้งมีรายงานด้วยว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 จนนำมาสู่การปิดประเทศในมาเลเซียส่งผลให้มีการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมากในประเทศมาเลเซีย  แรงงานสัญชาติไทยในประเทศมาเลเซียมีจำนวนนับแสนคน ซึ่งกำลังเดือดร้อนจากผลกระทบของการแพร่กระจายของไวรัสโควิด 19 และสภาพปัญหาเศรษฐกิจ

ปัจจุบันจากข้อมูลพบว่ามีแรงงานสัญชาติไทยในประเทศมาเลเซียจำนวนหลายพันคนที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย   แต่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ บางรายได้พยายามเดินทางกลับตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด 19 และไม่ได้กักตัว 14 วันเพื่อดูอาการตามคำแนะนำของแพทย์และประกาศของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทยในอนาคตอันใกล้   อีกทั้งเมื่อกลับมาอาจไม่ได้สื่อสารกับชุมชนหรือได้รับการกักตัวที่บ้าน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้

สถานการณ์แพร่กระจายและการควบคุมโรคไวรัสโควิด 19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะเรื่องการได้รับการปฏิบัติตามมนุษยธรรมและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานไทยในฝั่งมาเลเซียที่มีจำนวนมาก หากมีการขอเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมๆ กัน อาจจะทำให้มาตรการรับมือการแพร่เชื้อโควิด 19 ไม่มีประสิทธิภาพและส่งผลถึงการควบคุมโรคตามหลักการทางการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่  เช่น เกิดความแออัดมากจนโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกันผู้ป่วยเก่าจำนวนไม่ลดลงทำให้เกิดความสูญเสียศักยภาพในการจัดการงานสาธารณสุขโดยรวม ซึ่งต้องมีป้องกันด้วยการจัดการที่ดี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข โดยประธานคือนายแพทย์กิ๊ฟลัน ดอเลาะ ได้จัดให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย( คฉ.จม.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค 19 ที่มาเลเซียประกาศปิดประเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีนายตูแวดานียา มือรีงิง  เป็นประธานกรรมการ พร้อมกับตัวแทนภาคประชาสังคมและบุคลากรด้านต่างๆ จำนวนรวม 11 คน

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย   (คฉ.จม.) ได้ประชุมครั้งแรก  นายตูแวดานียา มือรีงิง ได้เปิดเผยว่า อาจมีแรงงานไทยในมาเลเซียจำนวนกว่า 50,000 คนได้กลับบ้าน ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนใต้ก่อนหน้านี้  และยังมีที่เหลืออยู่จำนวนอาจถึง 10,000 คนที่ยังติดค้างในมาเลเซีย โดยมีผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางสถานทูตไทยจำนวนประมาณ 6,000 คน ที่เหลือยังกระจัดกระจาย มีข้อสรุปจากการประชุมดังนี้

สรุปสถานการณ์หลังจากที่มาเลเซียขยายเวลาปิดประเทศตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 จนถึง 14 เมษายน 2563 ทำให้แรงงานเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานร้านต้มยำกุ้งไทยในมาเลเซียยังคงอยู่ในประเทศมาเลเซีย ตอนนี้มีหลายคนที่ต้องการกลับไทย ขณะที่บางคนต้องการอยู่ต่อ 

คนที่ต้องการจะกลับไทยต้องมีใบรับรองแพทย์มีค่าใช้จ่าย 30 ริงกิต (ประมาณ   300 บาท) และใบรับรองจากสถานทูตไทย ในสถานการณ์ตอนนี้มีความยากลำบากในการเดินทางออกไปที่คลินิกที่กำหนดไว้เท่านั้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์และที่รัฐยะโฮร์  อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายค่าเดินทาง ตอนนี้หลายคนอยู่ในสภาพตกงาน ขาดรายได้ ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระและความเดือดร้อนมากขึ้น   

ในเรื่องการทำสื่อเผยแพร่ให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาของแรงงานร้านต้มยำกุ้ง ได้มีการสื่อสารสองรูปแบบคือ สื่อสำหรับแรงงานที่อยากกลับมีปัญหาอะไรบ้าง เช่น ใบรับรองแพทย์ fit to travel  และสื่อที่สะท้อนปัญหาที่มีอยู่ให้ชัดเจนของคนที่อยากอยู่ในประเทศมาเลเซีย โดยต้องสื่อสารให้รับผิดชอบต่อสังคม การป้องกันการแพร่กระจายไวรัสโควิด 19 ในขณะอยู่ต่อในประเทศมาเลเซีย ทั้งได้มีประสานงานให้ทางกงสุลไทยในทางรัฐยะโฮร์ให้นำถุงยังชีพไปแจกให้กับคนที่เดือดร้อนบางส่วนแล้วสำหรับกลุ่มที่ต้องการอยู่ต่อในประเทศมาเลเซีย

สภาพปัญหาในการช่วยเหลือคือ การรวบรวมข้อมูลจำนวนร้านต้มยำกุ้ง คนทำงานในร้าน ซึ่งไม่มีตัวเลขที่เป็นทางการแน่นอน อีกทั้งยังมีตัวเลขที่ไม่สามารถทราบได้คือ แรงงานไทยที่เข้ามาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ที่อาจเข้าข่ายผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้วย   ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมีจำนวน 4,000 – 5,000 คน บางคนประเมินว่าหมื่นกว่าคน และมักทำงานในร้านนวดหรือสปา  คนเหล่านี้โดยปกติจะเก็บตัวอยู่แล้วนอกจากเวลาออกไปทำงาน  โดยกลุ่มนี้ต้องมีความพยายามในการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มนี้ติดตามข่าวจากเพจต่าง ๆ ในมาเลเซีย เช่น เพจของสถานทูต/กงสุลไทย  คนไทยในมาเลเซีย Malaysia news network  สะใภ้มาเลเซีย  เป็นต้น  เพื่อให้เขาติดตามข้อมูลทันเหตุการณ์ และทำตามคำแนะนำของทางการมาเลเซีย  อนึ่งพวกเขายังมีปัญหาเรื่องวีซ่าหมดอายุหรือที่เรียกกันว่า over stay ซึ่งตอนนี้ทางการมาเลเซียมีการผ่อนปรนให้อยู่ต่อไปก่อนได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าการประสานงานทำงานร่วมกันและการสื่อสารเรื่องการรับมือโควิด 19 กรณีแรงงานไทยในประเทศมาเลเซียมีความสำคัญอย่างยิ่ง  และยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคมและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่  รวมทั้งงานเร่งด่วนในพื้นที่ชายแดนใต้ในปัจจุบันคือการป้องกันการแพร่กระจายไวรัสจากกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียโดยยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการคัดกรองและกักตัวในแต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละชุมชน เรายังมีสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ร่วมกัน  ขอแสดงความชื่นชมหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขและบุคลากรด้านต่างๆ ที่ทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย มา ณ โอกาสนี้

TAG

RELATED ARTICLES