[:th]CrCF Logo[:]

เปิดร่างพรบ.ทรมาน อุ้มหาย ฉบับภาคประชาชน ล่าสุด

Share

ร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายนี้จัดทำขึ้นโดยทบทวนและปรับปรุงร่างกฎหมายที่เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปีที่ผ่านมา •เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน(CAT, CED) เพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย •บัญญัติให้เกิดความกระจ่างชัดเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลโดยไม่เลือกปฏิบัติ และดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิผลเพื่อแก้ไขปัญหาการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่เกิดขึ้นจริงในห้วงเวลาที่ผ่านมา โดยให้มีกลไกป้องกัน ปราบปราม ชดเชยและฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายที่มีประสิทธิผล ลบล้างวัฒนธรรมที่ยังคงปล่อยให้คนผิดลอยนวล (impunity) และสร้างระบบความพร้อมรับผิดในภาคราชการ (accountability)

หลักการและเหตุผล

การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นอาชญกรรมที่ร้ายแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือโดยการสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญและกฎหมายในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาดไม่ว่าในสถานการณ์หรือด้วยเหตุผลใด ๆ   แต่ถึงกระนั้น การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการบังคับให้สูญหายยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำในหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทย   

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรผู้ร่วมจัด ยินดีที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550  และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555  แม้รัฐบาลจะกำหนดนโยบายในการต่อต้านและป้องกันการทรมานฯ และการบังคับให้บุคคลสูญหาย  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้ติดตามและผลักดันให้ทางการไทย ออกกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวตลอดมา โดยขอชื่นชมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทุกชุด ที่ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา  ทั้งกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งตำรวจและทหารก็ได้จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี เพื่อให้ตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจการที่ประเทศไทยโดยเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความพยายามทั้งปวงในการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่จากการติดตามสถานการณ์และการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ของผู้เสียหายจากการทรมาน องค์กรผู้จัดฯและองค์กรเครือข่าย พบว่าในทางปฏิบัติ ยังคงมีปัญหาและการร้องเรียนเรื่องการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งสถานการณ์ที่มีรายงานว่ายังมีการบังคับให้สูญหายในกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองบางรายที่ยังไม่สามารถสืบสวนสอบสวนได้ถึงชะตากรรมของพวกเขา เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการเพื่อปฏิบัตตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว 

แม้รัฐบาลที่ผ่านมาได้พยายามออกกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว โดยได้มีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ถูกทรมานและครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยพยายามที่จะให้มีการจัดทำร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระและกระบวนการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับ แม้จะต้องประสบกับปัญหาอุปสรรคและการขัดขวางหน่วงเหนี่ยว จากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม ตลอดมา ทำให้การตรากฎหมายอนุวัติการต้องล่าช้าออกไปนานนับสิบปี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้มีผู้ถูกทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหายเป็นจำนวนมาก ทั้งในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และแม้แต่พลทหาร ในขอบเขตทั่วประเทศ รวมทั้งมีการส่งผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศต้นทาง ที่ต้องเผชิญกับภัยทรมานหรือการกระทำให้สูญหาย โดยที่ผู้ได้รับความเสียหายในกรณีต่างๆเหล่านั้น ยังไม่ได้รับการเยียวยาและเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด ยังไม่ได้ถูกลงโทษเท่าที่ควร

ในปี 2561  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม[1] ได้ให้ความเห็นกับการทำงานของรัฐบาลต่อการทำให้การทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาไว้ว่าตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ……..  ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อตราเป็นกฎหมายอนุวัติการ ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับได้ โดยทาง สนช.พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจำนวน 15 คน เพื่อพิจารณา แต่ สนช. ไม่ทันได้พิจารณาในวาระที่สองและสาม สนช.ก็ยุบเสียก่อน เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปในต้นปี 2562  กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอร่างกฎหมายฉบับเดิมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งให้แก่รัฐสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้จัดประชาพิจารณ์เมื่อเดือนธันวาคม  2562 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคม 2563 นี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …….. ฉบับของรัฐบาล ยังมีประเด็นที่องค์การสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ยังมีบทบัญญัติที่ครบถ้วนตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯและอนุสัญญาป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับฯ สร้างระบบความพร้อมรับผิด (accountability) และลบล้างวัฒนธรรมปล่อยให้คนผิดลอยนวล (impunity) ตลอดจนมีกลไกสนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับความเป็นธรรม ผ่านการช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อติดตามตรวจสอบและนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา และมาตรการชดเชยฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายทางร่างกาย จิตใจและสังคม และการป้องกันไม่ให้การละเมิดเกิดขึ้นซ้ำอีก อาทิเช่น  การทรมานเนื่องจากเหตุของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าในด้านใดจะกระทำมิได้ ห้ามผลักดันบุคคลออกนอกราชอาณาจักรหากบุคคลดังกล่าวอาจต้องเผชิญกับการทรมาน ห้ามอ้างเหตุผลหรือสถานการณ์ใดๆรวมทั้งภาวะสงคราม กฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อกระทำการทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาต่อการกระทำทรมานหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย การกำหนดมาตรการป้องกันโดยให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ และการให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งให้มีอำนาจตรวจสอบและมีคำสั่งเพื่อระงับการทรมานและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายเป็นต้น ดังนั้นมูลนิธิฯ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ จึงได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …….. ฉบับประชาชนขึ้น


[1] https://bit.ly/2R5le1g 

TAG

RELATED ARTICLES