ในวันที่ 21 – 22 มกราคม 2563 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีที่นางนาปอย ป่าแส (ชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่) ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำอยู่ที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ใช้อาวุธปืนยิงสังหารนายชัยภูมิ ป่าแส ลูกชายของตนซึ่งเป็นนักกิจกรรมเยาวชนผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและคนไร้สัญชาติในประเทศไทย
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2560 เมื่อนายชัยภูมิ ป่าแส พร้อมเพื่อนหนึ่งคน ขับรถยนต์ผ่านด่านตรวจบ้านรินหลวงและถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจค้นยานพาหนะ เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่า นายชัยภูมิพยายามขัดขืนและทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธมีดและระเบิดขว้าง เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนยิงนายชัยภูมิจนเสียชีวิต โดยภายหลังระบุว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตนเอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังอ้างว่าพบยาบ้าเป็นจำนวน 2,800 เม็ดซ่อนอยู่ในหม้อกรองน้ำของรถยนต์ของนายชัยภูมิ ต่อมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้รับคำฟ้องเป็นคดีดำหมายเลข ป.24/62 จากมารดาของนายชัยภูมิเพื่อพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหารถือว่าเกิดกว่าเหตุการป้องกันตนเองดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ และกองทัพบกควรชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวของชัยภูมิหรือไม่ อย่างไร
การพิจารณาคดีที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 21 – 22 มกราคม 2563 เป็นการสืบพยานฝ่ายโจทก์ โดยมีญาติของชัยภูมิ ครูประจำชั้นและเพื่อนในโรงเรียนของชัยภูมิ ประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ รวมถึงพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง มาเบิกความที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ การสืบพยานยังคงไม่สิ้นสุดจึงยังไม่มีข้อสรุปข้อเท็จจริงในกรณีนี้และ แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นมากว่า 3 ปีแล้วครอบครัวของชัยภูมิยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ
จากการติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษนชนของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิฯตั้งข้อสังเกตว่า ชนเผ่าพื้นเมืองในไทยมักถูกตกเป็นเหยื่อของอคติทางเชื้อชาติโดยถูกเหมารวมว่าเป็นพวกค้าหรือขนส่งยาเสพติด ทำให้ประชาชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรมด้วยข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเช่นเดียวกับชัยภูมิ ตั้งแต่ปี 2546 รัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบาย “สงครามต่อต้านยาเสพติด” และมีปฏิบัติการกวาดล้างผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วยการฆ่านอกระบบอย่างกว้างขวาง โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,819 กรณี ในจำนวนนี้ มีคนจำนวนมากเป็นชนเผ่าพื้นเมือง แม้สงครามยาเสพติดจะจบลงแล้ว แต่ก็ได้ทิ้งมรดกความรุนแรงจากอคติทางเชื้อชาติไว้จนถึงปัจจุบัน นอกจากกรณีของชัยภูมิแล้ว ยังมีอีกกรณีที่คล้ายคลึงกันอย่างมากเกิดขึ้นต่อชายชาวลีซูที่เชียงดาวในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 และอีกกรณีกับชายชาวลาหู่ที่เวียงแหงในเดือนกรกฎาคม ปี 2562 อีกด้วย ทั้งนี้ ยังไม่เคยมีการนำผู้ใดถูกดำเนินคดีทางอาญาเพื่อให้รับผิดในทุกกรณี
มูลนิธิฯเสนอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (fair trial) ตามมาตรา 7 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: ICERD) และมาตรา 40 ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples: UNDRIP) โดยมูลนิธิฯจะคอยติดตามและให้ช่วยความช่วยเหลือครอบครัวของชัยภูมิและกรณีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่