เผยแพร่ครั้งแรก 3 มกราคม 2563 https://www.facebook.com/srawutaree/posts/10219557746588286?comment_id=10219574613329944&reply_comment_id=10219574649890858¬if_id=1578198929563519¬if_t=comment_mention (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ซ้ำ)
เอาชนะโรคเกลียดกลัวอิสลามผ่านสื่อ:
กรณีการรายงานข่าวความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ โดย ศราวุธ อารีย์

เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ระลอกใหม่ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปีแล้ว “สื่อกระแสหลัก” ที่เข้าถึงคนจำนวนมากอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ได้ติดตามรายงานเหตุการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่กลับรายงานเฉพาะข้อมูลจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น สถานที่เกิดเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และรายชื่อผู้ต้องสงสัย อีกทั้งยังผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม ๆ ด้วยการเลือกใช้คำที่สร้างภาพเหมารวมในแง่ลบ เช่น “โจรใต้” “กลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดน” หรือ “มุสลิมสุดโต่ง”
ล่าสุดนอกจากสื่อกระแสหลักจะผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม ๆ แล้ว ยังเกิดความผิดพลาดในการรายงานข่าวเมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่งได้พาดหัวข่าวลงหน้าหนึ่งว่า “ทพ.ลุยโจรใต้ จับตาย 3 ศพ ” ทั้ง ๆ ที่ปรากฏความจริงออกมาภายหลังว่าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารพรานวิสามัญช่างเลื่อยไม้ที่เขาตะเว อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา อันถือเป็นการพาดหัวข่าวที่ไม่ตรงกับความจริง ก่อให้เกิดความเกลียดชังในหมู่ประชาชน และยิ่งเสริมให้โรคเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในสังคมไทย
ถึงอย่างนั้น ท่ามกลางสื่อกระแสหลักที่มีอำนาจนำในสังคม ก็เริ่มมี “สื่อทางเลือก” ก่อตัวขึ้นทั้งในและนอกพื้นที่ความขัดแย้ง โดยพยายาม “สร้างความแตกต่าง” ด้วยการนำเสนอแง่มุมอื่น ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้ที่สื่อกระแสหลักมักจะละเลยไม่ให้ความสนใจ
บทความนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อทางเลือกในพื้นที่ความขัดแย้ง ในฐานะที่เป็น “กระบอกเสียง” จากคนในพื้นที่อันเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับมุสลิมในชายแดนใต้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดทอนกระแสเกลียดกลัวอิสลาม และทลายอำนาจนำของสื่อกระแสหลักที่ยังคง “ผูกขาด” ความจริงส่วนใหญ่เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้ไว้อยู่ในขณะนี้
* โรคเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia)
โรคเกลียดกลัวอิสลาม หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ผู้คนมีทัศนคติในแง่ลบต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมอย่างปราศจากรากฐานหรือมูลความจริง โดยสร้างภาพเหมารวมให้มุสลิมกลายเป็น “ปีศาจร้าย” ที่จะนำพาสิ่งไม่ดีมาสู่สังคม ส่งผลให้เกิดการแสดงออกทางพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ไม่คบค้าสมาคมกับมุสลิม กีดกันมุสลิมออกจากสังคม และห้ามแสดงสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามในที่สาธารณะ เป็นต้น
กระแสเกลียดกลัวอิสลามถือเป็นศัพท์ที่ค่อนข้างใหม่ในวงการสังคมศาสตร์ โดยพัฒนารูปแบบมาจากการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวในอดีต เปลี่ยนผ่านมาสู่การแบ่งแยกผู้คนผ่านศาสนาและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ภูมิหลังสำคัญของกระแสดังกล่าวมาจากการที่มุสลิมเป็นพลเมืองส่วนน้อยในประเทศแถบยุโรป วิถีชีวิตและการปฏิบัติตนที่แตกต่างจากชาวยุโรปทั่วไปย่อมทำให้เกิดความแปลกแยก และกลายเป็น “คนอื่น” ในสังคมนั้น ๆ เสมอ ความแปลกแยกสั่งสมจนค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นความเกลียดกลัวและดำรงอยู่ในสังคมยุโรปเรื่อยมา
หมุดหมายสำคัญของโรคเกลียดกลัวอิสลามในยุโรปและสหรัฐฯ คือเหตุการณ์การโจมตีของกลุ่มอัล-กออิดะฮ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เขย่าขวัญชาวโลกด้วยภาพเครื่องบินพุ่งชนตึกสูงที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อทั่วโลก และปะทุเชื้อความเกลียดกลัวยืดยาวมาจนถึงการกำเนิดของกลุ่มไอเอส (Islamic State of Iraq and Syria) ที่ปฏิบัติการอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางและลุกลามไปทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในสังคมไทย กระแสเกลียดกลัวอิสลามเริ่มมี “ต้นเพลิง” มาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่เริ่มปะทุขึ้นรอบใหม่ในช่วงต้น พ.ศ.2547 ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม
ภาพความรุนแรงที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องจึงค่อย ๆ บ่มเพาะกระแสเกลียดกลัวขึ้นมา จนทำให้ผู้คนหวาดกลัวมุสลิมมากขึ้น ผนวกกับภาพความรุนแรงของกลุ่มไอเอสที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชน ย่อมทำให้กระแสเกลียดกลัวอิสลามในสังคมไทยเด่นชัดขึ้น ดังจะเห็นจากการคัดค้านการสร้างมัสยิดที่จังหวัดน่าน เชียงราย เชียงใหม่ ขอนแก่น และล่าสุดที่จังหวัดมุกดาหาร หรือการคัดค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงกลาง พ.ศ.2559
เรื่องที่กำลังเกิดเป็นกระแสดังกล่าวนี้หากไม่เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง อาจจะนำมาสู่ความขัดแย้งทางศาสนาที่ยากจะเยียวยาได้ในอนาคต
* “สื่อกระแสหลัก” กับการเสริมสร้างกระแสเกลียดกลัวอิสลาม
แม้ว่ากระแสเกลียดกลัวอิสลามจะเกิดขึ้นจากภูมิหลังและปัจจัยอันหลากหลาย ทั้งการเมือง สังคมและวัฒนธรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สื่อมวลชน” กลายเป็นสถาบันสำคัญอันหนึ่งที่เสริมสร้างกระแสเกลียดกลัวอิสลามให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสังคมไทย “สื่อกระแสหลัก” ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ได้ช่วยผลิตซ้ำกระแสความเกลียดกลัวให้กระจายไปทั่วสังคมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติในกระบวนการทำงานของสื่อกระแสหลักในประเทศไทย
คำว่า สื่อกระแสหลัก (Mainstream Media) หมายถึง สื่อขนาดใหญ่ที่มีทุนประกอบการสูง และสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้ในเวลาพร้อม ๆ กัน โดยมีการจัดจำหน่ายหรือมีอาณาเขตการเผยแพร่ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ จึงถือเป็นสื่อมวลชนที่มีอำนาจนำในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนทั้งประเทศ
ตลอดช่วง 15 ปี ของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและสันติศึกษามักจะวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักไปในเชิงลบ ในงานเสวนา “โจรใต้ กบฏแบ่งแยกดินแดน นักรบญิฮาด ในสายตาสื่อไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556 ได้มีสื่อมวลชนจากสำนักต่าง ๆ ร่วมกันถอดบทเรียนและได้ข้อสรุปออกมาว่า สื่อกระแสหลักไทยเป็นสื่อที่เสริมสร้างความขัดแย้ง (War Journalism) มากกว่าจะมุ่งสร้างสันติภาพ (Peace Journalism) เพราะมักรายงานเหตุการณ์ผ่านมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ และใช้สายตาของ “คนนอก” มองเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้ง จนขาดแง่มุมของ “คนใน” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำความเข้าใจภูมิหลังของความขัดแย้งไป
นอกจากนั้น สื่อกระแสหลักยังเป็นผู้สร้างวาทกรรมต่าง ๆ ให้ปรากฏบนหน้าสื่อ เช่นคำว่า “กบฏแบ่งแยกดินแดน” “มุสลิมสุดโต่ง” หรือ “โจรใต้” ซึ่งช่วยเสริมสร้างกระแสเกลียดกลัวอิสลามให้รุนแรงยิ่งขึ้น และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน
*สื่อทางเลือก: ผู้สร้างความแตกต่างในสนามความขัดแย้ง
เมื่อแนวทางการนำเสนอของสื่อกระแสหลักถูกมองว่ามีปัญหา จึงเริ่มเกิดสื่อรูปแบบใหม่ขึ้นมาคานอำนาจกับสื่อดั้งเดิม “สื่อทางเลือก” ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับความนิยม
คำว่า สื่อทางเลือก (Alternative Media) หมายถึง สื่อที่มุ่งนำเสนอแนวคิดแปลกใหม่ ท้าทายความเชื่อหรือค่านิยมเดิมของสังคม โดยมักเลือกเจาะจงประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพื่อนำเสนอในเชิงลึกและรอบด้าน มักเป็นสื่อขนาดย่อมที่มีผู้รับสื่อเฉพาะกลุ่มและไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเชิงพาณิชย์
ด้วยธรรมชาติของสื่อและแนวคิดหลักที่แตกต่างกัน ทำให้แนวทางการนำเสนอข่าวความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของสื่อทางเลือกแตกต่างจากสื่อกระแสหลักอย่างชัดเจน ในบทความนี้ผู้เขียนใคร่ขอเปรียบเทียบสื่อทั้ง 2 ประเภทให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นใน 2 ประเด็น ได้แก่ บทบาทของสื่อในด้านการเข้าถึงแหล่งข่าวและบทบาทของสื่อในด้านการเลือกใช้ถ้อยคำและภาพ
*การเข้าถึงแหล่งข่าว
ในด้านการเข้าถึงแหล่งข่าว จะพบว่ากระบวนการทำงานของสื่อกระแสหลักมักเน้นความรวดเร็วฉับไว เพราะต้องผลิตข่าวเพื่อตีพิมพ์หรือออกอากาศเป็นรายวัน รายครึ่งวัน หรือรายชั่วโมง ไม่มีเวลาพิถีพิถันกับกระบวนการผลิตมากนัก แหล่งข่าวที่สื่อกระแสหลักเลือกจึงมักเป็นแหล่งข่าวที่ติดต่อและเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร น้อยครั้งที่จะลงไปเจาะลึกถึงตัวชาวบ้านและชาวมุสลิมที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้คนที่อยู่นอกพื้นที่รับรู้ข้อมูลเฉพาะจากฝั่งภาครัฐ และขาดแง่มุมความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านและชาวมุสลิมในพื้นที่ไป กระแสเกลียดกลัวอิสลามก็อาจจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไปอีก
กระบวนการเข้าถึงแหล่งข่าวเช่นนี้สะท้อนถึงแนวคิดผู้ให้นิยามหลัก (Primary Definers) ที่มองว่าความขัดแย้งคือการแข่งขันทาง “วาทกรรม” ในรูปแบบหนึ่ง หากฝ่ายใดมีโอกาสพูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนมากกว่าก็ย่อมควบคุมนิยามหรือ “ความจริง” ของความขัดแย้งนั้น ๆ ได้
เมื่อสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่เลือกเจ้าหน้าที่รัฐเป็น “ผู้ให้นิยามหลัก” เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ “ความจริง” ของเหตุการณ์ก็จะถูกผูกขาดโดยรัฐ และสามารถชี้นำความคิดของสาธารณชนให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ เช่น หากเจ้าหน้าที่ทหารให้สัมภาษณ์สื่อว่าชาวมุสลิมคนนี้เป็นผู้ก่อการร้าย โดยไม่มีแหล่งข่าวจากอีกฝ่ายขึ้นมาโต้แย้ง สาธารณชนก็จะตีตราบุคคลผู้นี้ทันที และมีฉันทานุมัติให้เจ้าหน้าที่เร่งตามล่าปราบปรามนำตัวมาดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเข้าถึงแหล่งข่าวที่ดูเป็นปัญหาเช่นนี้อาจแก้ไขได้ด้วยสื่อทางเลือก เพราะกระบวนการทำงานของสื่อทางเลือกในชายแดนใต้มักคลุกคลีอยู่กับคนในพื้นที่ กินอาหารเช่นเดียวกับชาวบ้าน รวมถึงหลายสำนักก็มีนักข่าวที่พูดภาษามลายูได้ จึงเป็นที่ไว้วางใจของชาวบ้านในพื้นที่ เพียงพอที่จะเปิดใจพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก
นอกจากนั้น สื่อทางเลือกยังมีลักษณะเป็นวารสารศาสตร์ช้า (Slow Journalism) เพราะไม่ต้องเร่งผลิตเพื่อเผยแพร่แบบวันต่อวัน ทำให้มีเวลาขัดเกลาประเด็นต่าง ๆ ให้ตกผลึกได้มาก ผลงานชิ้นต่าง ๆ จึงค่อนข้างมีมิติและเชื่อมโยงกับแหล่งข่าวในพื้นที่ได้มากกว่าสื่อกระแสหลัก
กรณีศึกษาหนึ่งที่โดดเด่นและถูกพูดถึงบ่อยครั้งในวงการสื่อสารมวลชน คือกรณีการวิสามัญฆาตกรรมนายมะรอโซ จันทราวดี แกนนำกลุ่ม RKK โดยทหารนาวิกโยธิน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 สื่อกระแสหลักบางฉบับนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับประเด็นนี้ในชื่อ “‘มะรอโซ จันทรวดี’ ชื่อนี้คนผวาทั่วบาเจาะ” โดยใช้แหล่งข่าวหลักเป็นนายทหารระดับสูงสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 เล่าถึงพฤติกรรมการก่อเหตุร้ายครั้งต่าง ๆ ของนายมะรอโซ จนทำให้มีหมายจับตามล่าตัวเป็นจำนวนมาก พร้อมกล่าวอีกว่า “พื้นที่นี้ถ้าสิ้นนายมะรอโซรับรองว่าสันติสุขแน่”
แตกต่างจากสื่อทางเลือกอย่างเว็บไซต์ปาตานีฟอรั่ม ที่เลือกนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับประเด็นนี้ในชื่อ “มะรอโซ จันทราวดี : จากเหยื่อสู่แกนนำ RKK” โดยลงพื้นที่ไปพูดคุยกับครอบครัวของมะรอโซ ทั้งมารดาและภรรยา เพื่อสะท้อนภูมิหลังและต้นตอของการก่อเหตุครั้งต่าง ๆ แม้รายงานพิเศษชิ้นนี้จะถูกวิจารณ์ว่ายกยอแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบให้เป็นวีรบุรุษ แต่ก็ถือเป็นความพิเศษของสื่อทางเลือกที่สามารถเปิดตัวแหล่งข่าวใหม่ ๆ จากพื้นที่ และลดการผูกขาดความจริงของฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้ให้นิยามหลักไปได้ หากคนนอกพื้นที่ได้เข้ามาอ่านก็น่าจะเข้าใจแง่มุมความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่รัฐเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” มากขึ้น
* การเลือกใช้ถ้อยคำและภาพ
ในด้านการเลือกใช้ถ้อยคำและภาพ จะพบว่าสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกมีเกณฑ์การคัดเลือกถ้อยคำและภาพที่นำมาประกอบเนื้อหาแตกต่างกัน สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากการขายโฆษณาเชิงพาณิชย์ (ยกเว้นสื่อสาธารณะ เช่น ไทยพีบีเอส) สื่อเหล่านี้จึงมักมองผู้รับสื่อในฐานะผู้บริโภค (Consumer) และผลิตผลงานต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก ทำให้ข่าวส่วนใหญ่ที่เลือกมานำเสนอมีลักษณะกระตุ้นความสนใจของมนุษย์ เช่น เล่นกับประเด็นความขัดแย้ง ความรุนแรงและเร้าอารมณ์ รวมถึงใช้ถ้อยคำและภาพประกอบข่าวที่หวือหวา ฉูดฉาด ชี้ชวนให้ผู้รับสื่อเข้ามาติดตาม
ในการรายงานข่าวความไม่สงบชายแดนใต้ สื่อกระแสหลักมักหยิบยกแง่มุมความรุนแรงและความโหดเหี้ยมมาเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ความเป็นมุสลิม เช่น เลือกภาพที่สะท้อนถึงความเสียหายและการสูญเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบครั้งต่าง ๆ พร้อมกับลงภาพผู้ต้องสงสัยที่มักเป็นผู้ชายไว้หนวดเครา สวมหมวกกะปิเยาะห์หรือเลือกใช้ถ้อยคำที่ส่อความหมายในแง่ลบ เช่น “โจรใต้” “โจรมุสลิมอำมหิตฆ่าพระ” “จับโต๊ะอิหม่ามให้ข่าวสับสน” “เย้ยอำนาจรัฐ” “ยิงผู้บริสุทธิ์” จนกลายเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม ๆ ที่สร้างภาพเหมารวม (Stereotype) ให้ชาวมุสลิมในภาคใต้เป็นผู้ร้าย และโหมกระแสเกลียดกลัวอิสลามในสังคมให้รุนแรงมากขึ้น
ผลกระทบจากการเลือกใช้ถ้อยคำและภาพเช่นนี้สะท้อนถึงทฤษฎีการวางกรอบข่าว (News Framing) ที่มองว่าการเลือกใช้คำและภาพในข่าวส่งผลต่อทัศนคติและความรู้สึกของผู้รับสื่อ เพราะมนุษย์มักจะสร้างเครือข่ายในสมอง เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันรวมไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน เมื่อเห็นคำ ๆ หนึ่งปรากฏขึ้นมาก็จะนึกถึงคำอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงไว้ในหมวดหมู่เดียวกันด้วย เช่น หากสื่อวางกรอบข่าวโดยเลือกใช้ถ้อยคำหรือภาพที่แสดงถึงความรุนแรงควบคู่กับสัญลักษณ์ความเป็นมุสลิมบ่อยครั้ง ผู้คนก็จะเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน ต่อมาเมื่อพบเห็นคำว่า “มุสลิม” หรือพบเจอกับชาวมุสลิม ภาพความรุนแรงก็จะปรากฏขึ้นในความทรงจำแบบทันทีทันใด ความเกลียดกลัวหรือความหวาดระแวงก็จะปะทุขึ้นทันที
แต่หากพิจารณาในบริบทของสื่อทางเลือกจะพบว่า มีเกณฑ์การเลือกใช้ถ้อยคำและภาพที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลักเป็นอย่างมาก เพราะสื่อทางเลือกมักมองผู้รับสื่อในฐานะพลเมือง (Citizen) ที่มีพลังอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคม ประเด็นข่าวที่เลือกมานำเสนอจึงมีลักษณะเป็นผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) ซึ่งกระตุ้นให้คนในสังคมลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อีกทั้งการดำเนินงานของสื่อทางเลือกมักไม่ได้เน้นผลกำไรสูงสุดเชิงพาณิชย์ จึงไม่จำเป็นต้องดึงดูดผู้รับสื่อด้วยถ้อยคำหรือภาพอันหวือหวาเหมือนสื่อกระแสหลัก และสามารถนำเสนอเนื้อหาในแนวทางที่เหมาะสมได้โดยไม่ต้องสนว่าจะตรงเป้าของตลาดโฆษณาหรือไม่
กรณีศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับผลกระทบของการเลือกใช้ถ้อยคำในข่าว คือการกำหนดนิยามของกลุ่มมาราปาตานี (Mara Patani) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รวมตัวกันเพื่อเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักหลายสำนักเลือกใช้คำว่า “ตัวแทน 4 กลุ่มของขบวนการแบ่งแยกดินแดน” หรือ “กลุ่มก้อนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งเป็นคำที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกด้านลบของคนไทย และช่วยเสริมสร้างมายาคติที่ว่า ชาวมุสลิมในชายแดนใต้ต้องการจะแบ่งแยกประเทศได้เป็นอย่างดี
ต่างจากสื่อทางเลือกส่วนใหญ่ เช่น สำนักข่าวอิศรา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) หรือเว็บไซต์ฟาตอนีออนไลน์ ที่เลือกใช้คำว่า “องค์กรของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” ซึ่งถือเป็นคำที่ให้ความหมายกลาง ๆ และสะท้อนถึงความเห็นต่างที่อาจมีเหตุผลให้พอเจรจากันได้ กลายเป็นการวางกรอบข่าวด้วยถ้อยคำที่ให้นัยแฝงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่สะท้อนถึงการวางกรอบข่าวผ่านการเลือกภาพ คือข่าวการจับกุมผู้ต้องหาสองคนสุดท้ายจากเหตุวางระเบิดโรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 5 และ 13 กุมภาพันธ์ 2556 สื่อกระแสหลักหลายสำนักเลือกนำเสนอภาพผู้ต้องหาในลักษณะที่ต้องใช้ความรุนแรงและเด็ดขาดในการจับกุม เช่น ถูกสั่งให้ยกมือขึ้นและนั่งย่อตัวลงกับพื้น หรือใส่กุญแจมือ อีกทั้งบางสำนักยังสอดแทรกสัญลักษณ์ความเป็นมุสลิมของผู้ต้องหาเอาไว้ในภาพ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่น การสวมหมวกกะปิเยาะห์ หรือนุ่งเสื้อผ้าแบบชาวมุสลิม กลายเป็นการเสริมย้ำภาพเหมารวมว่ามุสลิมเป็นบุคคลอันตราย จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาด
ต่างจากสื่อทางเลือกหลายสำนักที่นำเสนอภาพซึ่งให้ความหมายกลาง ๆ มากกว่า โดยฉายให้เห็นสภาพบ้านของผู้ต้องหา และการจับกุมของเจ้าหน้าที่ที่ดูไม่รุนแรงและเด็ดขาดเท่ากับสื่อกระแสหลัก จึงเป็นการวางกรอบข่าวด้วยภาพที่ให้ความหมายแตกต่างกันอย่างชัดเจน และส่งผลต่อทัศนคติของผู้รับสื่อที่แตกต่างกันไปโดยปริยาย
*ก้าวเดินสู่สันติภาพ
การผลิตเนื้อหาที่ดีของสื่อทางเลือกอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอในการแก้ปัญหา เพราะข้อจำกัดสำคัญของสื่อทางเลือกคือยังคงเข้าถึงผู้รับสื่อได้แบบเฉพาะกลุ่ม ไม่กว้างไกลเหมือนเช่นสื่อกระแสหลัก จึงอาจทำให้การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ และยากจะสัมฤทธิ์ผลในระดับประเทศได้ ดังนั้น การประสานพลังร่วมกับสื่อกระแสหลักจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สื่อทางเลือกในพื้นที่ต้องเร่งดำเนินการ
ปัจจุบันมีสื่อกระแสหลักอย่างไทยพีบีเอสที่เปิดโอกาสให้สื่อทางเลือกและคนทั่วไปเข้ามาแชร์พื้นที่เพื่อสื่อสารเรื่องราวในชายแดนใต้ เช่น รายการแลต๊ะแลใต้ รายการทีวีชุมชน และรายการนักข่าวพลเมือง รวมถึงมีสื่อกระแสหลักอีกหลายสำนักเริ่มเข้าไปทำข่าวงานเสวนาครั้งต่าง ๆ ที่สื่อทางเลือกชายแดนใต้ร่วมมือกันจัดขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และควรประสานพลังให้เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป
ที่สำคัญกว่านั้น การสื่อสารเรื่องราวจากคนในพื้นที่ความขัดแย้งอาจไม่จำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นโครงสร้างสื่อทางเลือกที่เป็นจริงเป็นจังอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้โทรศัพท์มือถือในมือของ “ทุกคน” สามารถแปลงรูปเป็นสื่อทางเลือกขนาดย่อม ๆ ได้ การสื่อสารในรูปแบบสื่อผสม (Multimedia) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์จึงกระทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำมากขึ้น ความหวังที่ทุกคนจะผันตัวมาเป็น “นักข่าวพลเมือง” และร่วมกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโลกมุสลิมก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
สุดท้ายนี้ การลดทอนกระแสเกลียดกลัวอิสลามคงไม่ใช่พันธกิจเฉพาะของสื่อทางเลือกหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในสังคม แต่เป็นสิ่งที่ “ทุกคน” ควรร่วมมือกัน หากสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนแนวทางเป็น “วารสารศาสตร์สันติภาพ” (Peace Journalism) โดยไม่วางกรอบข่าวหรือสร้างภาพเหมารวมให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผนวกกับทุกคนในสังคมมีสติรู้เท่าทันสื่อ เปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และปล่อยวางอคติในใจให้หมดสิ้น กระแสเกลียดกลัวอิสลามก็จะมลายหายไปจากสังคมได้ไม่ยาก และจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการนำ “สันติภาพ” กลับมาสู่พื้นที่ชายแดนใต้และสังคมไทยในภาพรวม
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความนี้เป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนร่วมผลิตกับนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างที่ผู้เขียนรับผิดชอบสอนวิชา “ตะวันออกกลางกับวารสารสนเทศ” เทอมปลายของปีการศึกษา 2559 ปัจจุบันผู้เขียนก็ยังสอนวิชานี้อยู่และร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับนิสิตอยู่ตลอดเวลา หากสื่อไหนเห็นว่าบทความนี้เหมาะสมที่จะนำไปเผยแพร่ตีพิมพ์ออนไลน์ก็สามารถคัดลอกไปได้เลยครับ
[:th]
เผยแพร่ครั้งแรก 3 มกราคม 2563 https://www.facebook.com/srawutaree/posts/10219557746588286?comment_id=10219574613329944&reply_comment_id=10219574649890858¬if_id=1578198929563519¬if_t=comment_mention (ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ซ้ำ)
เอาชนะโรคเกลียดกลัวอิสลามผ่านสื่อ:
กรณีการรายงานข่าวความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ โดย ศราวุธ อารีย์

เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ระลอกใหม่ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปีแล้ว “สื่อกระแสหลัก” ที่เข้าถึงคนจำนวนมากอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ได้ติดตามรายงานเหตุการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่กลับรายงานเฉพาะข้อมูลจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น สถานที่เกิดเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และรายชื่อผู้ต้องสงสัย อีกทั้งยังผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม ๆ ด้วยการเลือกใช้คำที่สร้างภาพเหมารวมในแง่ลบ เช่น “โจรใต้” “กลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดน” หรือ “มุสลิมสุดโต่ง”
ล่าสุดนอกจากสื่อกระแสหลักจะผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม ๆ แล้ว ยังเกิดความผิดพลาดในการรายงานข่าวเมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่งได้พาดหัวข่าวลงหน้าหนึ่งว่า “ทพ.ลุยโจรใต้ จับตาย 3 ศพ ” ทั้ง ๆ ที่ปรากฏความจริงออกมาภายหลังว่าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารพรานวิสามัญช่างเลื่อยไม้ที่เขาตะเว อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา อันถือเป็นการพาดหัวข่าวที่ไม่ตรงกับความจริง ก่อให้เกิดความเกลียดชังในหมู่ประชาชน และยิ่งเสริมให้โรคเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในสังคมไทย
ถึงอย่างนั้น ท่ามกลางสื่อกระแสหลักที่มีอำนาจนำในสังคม ก็เริ่มมี “สื่อทางเลือก” ก่อตัวขึ้นทั้งในและนอกพื้นที่ความขัดแย้ง โดยพยายาม “สร้างความแตกต่าง” ด้วยการนำเสนอแง่มุมอื่น ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้ที่สื่อกระแสหลักมักจะละเลยไม่ให้ความสนใจ
บทความนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อทางเลือกในพื้นที่ความขัดแย้ง ในฐานะที่เป็น “กระบอกเสียง” จากคนในพื้นที่อันเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับมุสลิมในชายแดนใต้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดทอนกระแสเกลียดกลัวอิสลาม และทลายอำนาจนำของสื่อกระแสหลักที่ยังคง “ผูกขาด” ความจริงส่วนใหญ่เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้ไว้อยู่ในขณะนี้
* โรคเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia)
โรคเกลียดกลัวอิสลาม หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ผู้คนมีทัศนคติในแง่ลบต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมอย่างปราศจากรากฐานหรือมูลความจริง โดยสร้างภาพเหมารวมให้มุสลิมกลายเป็น “ปีศาจร้าย” ที่จะนำพาสิ่งไม่ดีมาสู่สังคม ส่งผลให้เกิดการแสดงออกทางพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ไม่คบค้าสมาคมกับมุสลิม กีดกันมุสลิมออกจากสังคม และห้ามแสดงสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามในที่สาธารณะ เป็นต้น
กระแสเกลียดกลัวอิสลามถือเป็นศัพท์ที่ค่อนข้างใหม่ในวงการสังคมศาสตร์ โดยพัฒนารูปแบบมาจากการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวในอดีต เปลี่ยนผ่านมาสู่การแบ่งแยกผู้คนผ่านศาสนาและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ภูมิหลังสำคัญของกระแสดังกล่าวมาจากการที่มุสลิมเป็นพลเมืองส่วนน้อยในประเทศแถบยุโรป วิถีชีวิตและการปฏิบัติตนที่แตกต่างจากชาวยุโรปทั่วไปย่อมทำให้เกิดความแปลกแยก และกลายเป็น “คนอื่น” ในสังคมนั้น ๆ เสมอ ความแปลกแยกสั่งสมจนค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นความเกลียดกลัวและดำรงอยู่ในสังคมยุโรปเรื่อยมา
หมุดหมายสำคัญของโรคเกลียดกลัวอิสลามในยุโรปและสหรัฐฯ คือเหตุการณ์การโจมตีของกลุ่มอัล-กออิดะฮ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เขย่าขวัญชาวโลกด้วยภาพเครื่องบินพุ่งชนตึกสูงที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อทั่วโลก และปะทุเชื้อความเกลียดกลัวยืดยาวมาจนถึงการกำเนิดของกลุ่มไอเอส (Islamic State of Iraq and Syria) ที่ปฏิบัติการอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางและลุกลามไปทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในสังคมไทย กระแสเกลียดกลัวอิสลามเริ่มมี “ต้นเพลิง” มาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่เริ่มปะทุขึ้นรอบใหม่ในช่วงต้น พ.ศ.2547 ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม
ภาพความรุนแรงที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องจึงค่อย ๆ บ่มเพาะกระแสเกลียดกลัวขึ้นมา จนทำให้ผู้คนหวาดกลัวมุสลิมมากขึ้น ผนวกกับภาพความรุนแรงของกลุ่มไอเอสที่ปรากฏผ่านสื่อมวลชน ย่อมทำให้กระแสเกลียดกลัวอิสลามในสังคมไทยเด่นชัดขึ้น ดังจะเห็นจากการคัดค้านการสร้างมัสยิดที่จังหวัดน่าน เชียงราย เชียงใหม่ ขอนแก่น และล่าสุดที่จังหวัดมุกดาหาร หรือการคัดค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงกลาง พ.ศ.2559
เรื่องที่กำลังเกิดเป็นกระแสดังกล่าวนี้หากไม่เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง อาจจะนำมาสู่ความขัดแย้งทางศาสนาที่ยากจะเยียวยาได้ในอนาคต
* “สื่อกระแสหลัก” กับการเสริมสร้างกระแสเกลียดกลัวอิสลาม
แม้ว่ากระแสเกลียดกลัวอิสลามจะเกิดขึ้นจากภูมิหลังและปัจจัยอันหลากหลาย ทั้งการเมือง สังคมและวัฒนธรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สื่อมวลชน” กลายเป็นสถาบันสำคัญอันหนึ่งที่เสริมสร้างกระแสเกลียดกลัวอิสลามให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสังคมไทย “สื่อกระแสหลัก” ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ได้ช่วยผลิตซ้ำกระแสความเกลียดกลัวให้กระจายไปทั่วสังคมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติในกระบวนการทำงานของสื่อกระแสหลักในประเทศไทย
คำว่า สื่อกระแสหลัก (Mainstream Media) หมายถึง สื่อขนาดใหญ่ที่มีทุนประกอบการสูง และสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้ในเวลาพร้อม ๆ กัน โดยมีการจัดจำหน่ายหรือมีอาณาเขตการเผยแพร่ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ จึงถือเป็นสื่อมวลชนที่มีอำนาจนำในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนทั้งประเทศ
ตลอดช่วง 15 ปี ของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและสันติศึกษามักจะวิพากษ์วิจารณ์การนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักไปในเชิงลบ ในงานเสวนา “โจรใต้ กบฏแบ่งแยกดินแดน นักรบญิฮาด ในสายตาสื่อไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556 ได้มีสื่อมวลชนจากสำนักต่าง ๆ ร่วมกันถอดบทเรียนและได้ข้อสรุปออกมาว่า สื่อกระแสหลักไทยเป็นสื่อที่เสริมสร้างความขัดแย้ง (War Journalism) มากกว่าจะมุ่งสร้างสันติภาพ (Peace Journalism) เพราะมักรายงานเหตุการณ์ผ่านมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ และใช้สายตาของ “คนนอก” มองเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้ง จนขาดแง่มุมของ “คนใน” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำความเข้าใจภูมิหลังของความขัดแย้งไป
นอกจากนั้น สื่อกระแสหลักยังเป็นผู้สร้างวาทกรรมต่าง ๆ ให้ปรากฏบนหน้าสื่อ เช่นคำว่า “กบฏแบ่งแยกดินแดน” “มุสลิมสุดโต่ง” หรือ “โจรใต้” ซึ่งช่วยเสริมสร้างกระแสเกลียดกลัวอิสลามให้รุนแรงยิ่งขึ้น และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน
*สื่อทางเลือก: ผู้สร้างความแตกต่างในสนามความขัดแย้ง
เมื่อแนวทางการนำเสนอของสื่อกระแสหลักถูกมองว่ามีปัญหา จึงเริ่มเกิดสื่อรูปแบบใหม่ขึ้นมาคานอำนาจกับสื่อดั้งเดิม “สื่อทางเลือก” ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับความนิยม
คำว่า สื่อทางเลือก (Alternative Media) หมายถึง สื่อที่มุ่งนำเสนอแนวคิดแปลกใหม่ ท้าทายความเชื่อหรือค่านิยมเดิมของสังคม โดยมักเลือกเจาะจงประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพื่อนำเสนอในเชิงลึกและรอบด้าน มักเป็นสื่อขนาดย่อมที่มีผู้รับสื่อเฉพาะกลุ่มและไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเชิงพาณิชย์
ด้วยธรรมชาติของสื่อและแนวคิดหลักที่แตกต่างกัน ทำให้แนวทางการนำเสนอข่าวความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของสื่อทางเลือกแตกต่างจากสื่อกระแสหลักอย่างชัดเจน ในบทความนี้ผู้เขียนใคร่ขอเปรียบเทียบสื่อทั้ง 2 ประเภทให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นใน 2 ประเด็น ได้แก่ บทบาทของสื่อในด้านการเข้าถึงแหล่งข่าวและบทบาทของสื่อในด้านการเลือกใช้ถ้อยคำและภาพ
*การเข้าถึงแหล่งข่าว
ในด้านการเข้าถึงแหล่งข่าว จะพบว่ากระบวนการทำงานของสื่อกระแสหลักมักเน้นความรวดเร็วฉับไว เพราะต้องผลิตข่าวเพื่อตีพิมพ์หรือออกอากาศเป็นรายวัน รายครึ่งวัน หรือรายชั่วโมง ไม่มีเวลาพิถีพิถันกับกระบวนการผลิตมากนัก แหล่งข่าวที่สื่อกระแสหลักเลือกจึงมักเป็นแหล่งข่าวที่ติดต่อและเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหาร น้อยครั้งที่จะลงไปเจาะลึกถึงตัวชาวบ้านและชาวมุสลิมที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้คนที่อยู่นอกพื้นที่รับรู้ข้อมูลเฉพาะจากฝั่งภาครัฐ และขาดแง่มุมความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านและชาวมุสลิมในพื้นที่ไป กระแสเกลียดกลัวอิสลามก็อาจจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไปอีก
กระบวนการเข้าถึงแหล่งข่าวเช่นนี้สะท้อนถึงแนวคิดผู้ให้นิยามหลัก (Primary Definers) ที่มองว่าความขัดแย้งคือการแข่งขันทาง “วาทกรรม” ในรูปแบบหนึ่ง หากฝ่ายใดมีโอกาสพูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนมากกว่าก็ย่อมควบคุมนิยามหรือ “ความจริง” ของความขัดแย้งนั้น ๆ ได้
เมื่อสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่เลือกเจ้าหน้าที่รัฐเป็น “ผู้ให้นิยามหลัก” เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ “ความจริง” ของเหตุการณ์ก็จะถูกผูกขาดโดยรัฐ และสามารถชี้นำความคิดของสาธารณชนให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ เช่น หากเจ้าหน้าที่ทหารให้สัมภาษณ์สื่อว่าชาวมุสลิมคนนี้เป็นผู้ก่อการร้าย โดยไม่มีแหล่งข่าวจากอีกฝ่ายขึ้นมาโต้แย้ง สาธารณชนก็จะตีตราบุคคลผู้นี้ทันที และมีฉันทานุมัติให้เจ้าหน้าที่เร่งตามล่าปราบปรามนำตัวมาดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม กระบวนการเข้าถึงแหล่งข่าวที่ดูเป็นปัญหาเช่นนี้อาจแก้ไขได้ด้วยสื่อทางเลือก เพราะกระบวนการทำงานของสื่อทางเลือกในชายแดนใต้มักคลุกคลีอยู่กับคนในพื้นที่ กินอาหารเช่นเดียวกับชาวบ้าน รวมถึงหลายสำนักก็มีนักข่าวที่พูดภาษามลายูได้ จึงเป็นที่ไว้วางใจของชาวบ้านในพื้นที่ เพียงพอที่จะเปิดใจพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก
นอกจากนั้น สื่อทางเลือกยังมีลักษณะเป็นวารสารศาสตร์ช้า (Slow Journalism) เพราะไม่ต้องเร่งผลิตเพื่อเผยแพร่แบบวันต่อวัน ทำให้มีเวลาขัดเกลาประเด็นต่าง ๆ ให้ตกผลึกได้มาก ผลงานชิ้นต่าง ๆ จึงค่อนข้างมีมิติและเชื่อมโยงกับแหล่งข่าวในพื้นที่ได้มากกว่าสื่อกระแสหลัก
กรณีศึกษาหนึ่งที่โดดเด่นและถูกพูดถึงบ่อยครั้งในวงการสื่อสารมวลชน คือกรณีการวิสามัญฆาตกรรมนายมะรอโซ จันทราวดี แกนนำกลุ่ม RKK โดยทหารนาวิกโยธิน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 สื่อกระแสหลักบางฉบับนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับประเด็นนี้ในชื่อ “‘มะรอโซ จันทรวดี’ ชื่อนี้คนผวาทั่วบาเจาะ” โดยใช้แหล่งข่าวหลักเป็นนายทหารระดับสูงสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 เล่าถึงพฤติกรรมการก่อเหตุร้ายครั้งต่าง ๆ ของนายมะรอโซ จนทำให้มีหมายจับตามล่าตัวเป็นจำนวนมาก พร้อมกล่าวอีกว่า “พื้นที่นี้ถ้าสิ้นนายมะรอโซรับรองว่าสันติสุขแน่”
แตกต่างจากสื่อทางเลือกอย่างเว็บไซต์ปาตานีฟอรั่ม ที่เลือกนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับประเด็นนี้ในชื่อ “มะรอโซ จันทราวดี : จากเหยื่อสู่แกนนำ RKK” โดยลงพื้นที่ไปพูดคุยกับครอบครัวของมะรอโซ ทั้งมารดาและภรรยา เพื่อสะท้อนภูมิหลังและต้นตอของการก่อเหตุครั้งต่าง ๆ แม้รายงานพิเศษชิ้นนี้จะถูกวิจารณ์ว่ายกยอแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบให้เป็นวีรบุรุษ แต่ก็ถือเป็นความพิเศษของสื่อทางเลือกที่สามารถเปิดตัวแหล่งข่าวใหม่ ๆ จากพื้นที่ และลดการผูกขาดความจริงของฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้ให้นิยามหลักไปได้ หากคนนอกพื้นที่ได้เข้ามาอ่านก็น่าจะเข้าใจแง่มุมความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่รัฐเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” มากขึ้น
* การเลือกใช้ถ้อยคำและภาพ
ในด้านการเลือกใช้ถ้อยคำและภาพ จะพบว่าสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกมีเกณฑ์การคัดเลือกถ้อยคำและภาพที่นำมาประกอบเนื้อหาแตกต่างกัน สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากการขายโฆษณาเชิงพาณิชย์ (ยกเว้นสื่อสาธารณะ เช่น ไทยพีบีเอส) สื่อเหล่านี้จึงมักมองผู้รับสื่อในฐานะผู้บริโภค (Consumer) และผลิตผลงานต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก ทำให้ข่าวส่วนใหญ่ที่เลือกมานำเสนอมีลักษณะกระตุ้นความสนใจของมนุษย์ เช่น เล่นกับประเด็นความขัดแย้ง ความรุนแรงและเร้าอารมณ์ รวมถึงใช้ถ้อยคำและภาพประกอบข่าวที่หวือหวา ฉูดฉาด ชี้ชวนให้ผู้รับสื่อเข้ามาติดตาม
ในการรายงานข่าวความไม่สงบชายแดนใต้ สื่อกระแสหลักมักหยิบยกแง่มุมความรุนแรงและความโหดเหี้ยมมาเชื่อมโยงกับสัญลักษณ์ความเป็นมุสลิม เช่น เลือกภาพที่สะท้อนถึงความเสียหายและการสูญเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบครั้งต่าง ๆ พร้อมกับลงภาพผู้ต้องสงสัยที่มักเป็นผู้ชายไว้หนวดเครา สวมหมวกกะปิเยาะห์หรือเลือกใช้ถ้อยคำที่ส่อความหมายในแง่ลบ เช่น “โจรใต้” “โจรมุสลิมอำมหิตฆ่าพระ” “จับโต๊ะอิหม่ามให้ข่าวสับสน” “เย้ยอำนาจรัฐ” “ยิงผู้บริสุทธิ์” จนกลายเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมเดิม ๆ ที่สร้างภาพเหมารวม (Stereotype) ให้ชาวมุสลิมในภาคใต้เป็นผู้ร้าย และโหมกระแสเกลียดกลัวอิสลามในสังคมให้รุนแรงมากขึ้น
ผลกระทบจากการเลือกใช้ถ้อยคำและภาพเช่นนี้สะท้อนถึงทฤษฎีการวางกรอบข่าว (News Framing) ที่มองว่าการเลือกใช้คำและภาพในข่าวส่งผลต่อทัศนคติและความรู้สึกของผู้รับสื่อ เพราะมนุษย์มักจะสร้างเครือข่ายในสมอง เชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันรวมไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน เมื่อเห็นคำ ๆ หนึ่งปรากฏขึ้นมาก็จะนึกถึงคำอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงไว้ในหมวดหมู่เดียวกันด้วย เช่น หากสื่อวางกรอบข่าวโดยเลือกใช้ถ้อยคำหรือภาพที่แสดงถึงความรุนแรงควบคู่กับสัญลักษณ์ความเป็นมุสลิมบ่อยครั้ง ผู้คนก็จะเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน ต่อมาเมื่อพบเห็นคำว่า “มุสลิม” หรือพบเจอกับชาวมุสลิม ภาพความรุนแรงก็จะปรากฏขึ้นในความทรงจำแบบทันทีทันใด ความเกลียดกลัวหรือความหวาดระแวงก็จะปะทุขึ้นทันที
แต่หากพิจารณาในบริบทของสื่อทางเลือกจะพบว่า มีเกณฑ์การเลือกใช้ถ้อยคำและภาพที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลักเป็นอย่างมาก เพราะสื่อทางเลือกมักมองผู้รับสื่อในฐานะพลเมือง (Citizen) ที่มีพลังอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสังคม ประเด็นข่าวที่เลือกมานำเสนอจึงมีลักษณะเป็นผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) ซึ่งกระตุ้นให้คนในสังคมลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อีกทั้งการดำเนินงานของสื่อทางเลือกมักไม่ได้เน้นผลกำไรสูงสุดเชิงพาณิชย์ จึงไม่จำเป็นต้องดึงดูดผู้รับสื่อด้วยถ้อยคำหรือภาพอันหวือหวาเหมือนสื่อกระแสหลัก และสามารถนำเสนอเนื้อหาในแนวทางที่เหมาะสมได้โดยไม่ต้องสนว่าจะตรงเป้าของตลาดโฆษณาหรือไม่
กรณีศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับผลกระทบของการเลือกใช้ถ้อยคำในข่าว คือการกำหนดนิยามของกลุ่มมาราปาตานี (Mara Patani) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รวมตัวกันเพื่อเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักหลายสำนักเลือกใช้คำว่า “ตัวแทน 4 กลุ่มของขบวนการแบ่งแยกดินแดน” หรือ “กลุ่มก้อนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งเป็นคำที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกด้านลบของคนไทย และช่วยเสริมสร้างมายาคติที่ว่า ชาวมุสลิมในชายแดนใต้ต้องการจะแบ่งแยกประเทศได้เป็นอย่างดี
ต่างจากสื่อทางเลือกส่วนใหญ่ เช่น สำนักข่าวอิศรา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) หรือเว็บไซต์ฟาตอนีออนไลน์ ที่เลือกใช้คำว่า “องค์กรของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” ซึ่งถือเป็นคำที่ให้ความหมายกลาง ๆ และสะท้อนถึงความเห็นต่างที่อาจมีเหตุผลให้พอเจรจากันได้ กลายเป็นการวางกรอบข่าวด้วยถ้อยคำที่ให้นัยแฝงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่สะท้อนถึงการวางกรอบข่าวผ่านการเลือกภาพ คือข่าวการจับกุมผู้ต้องหาสองคนสุดท้ายจากเหตุวางระเบิดโรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 5 และ 13 กุมภาพันธ์ 2556 สื่อกระแสหลักหลายสำนักเลือกนำเสนอภาพผู้ต้องหาในลักษณะที่ต้องใช้ความรุนแรงและเด็ดขาดในการจับกุม เช่น ถูกสั่งให้ยกมือขึ้นและนั่งย่อตัวลงกับพื้น หรือใส่กุญแจมือ อีกทั้งบางสำนักยังสอดแทรกสัญลักษณ์ความเป็นมุสลิมของผู้ต้องหาเอาไว้ในภาพ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่น การสวมหมวกกะปิเยาะห์ หรือนุ่งเสื้อผ้าแบบชาวมุสลิม กลายเป็นการเสริมย้ำภาพเหมารวมว่ามุสลิมเป็นบุคคลอันตราย จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังปราบปรามอย่างเด็ดขาด
ต่างจากสื่อทางเลือกหลายสำนักที่นำเสนอภาพซึ่งให้ความหมายกลาง ๆ มากกว่า โดยฉายให้เห็นสภาพบ้านของผู้ต้องหา และการจับกุมของเจ้าหน้าที่ที่ดูไม่รุนแรงและเด็ดขาดเท่ากับสื่อกระแสหลัก จึงเป็นการวางกรอบข่าวด้วยภาพที่ให้ความหมายแตกต่างกันอย่างชัดเจน และส่งผลต่อทัศนคติของผู้รับสื่อที่แตกต่างกันไปโดยปริยาย
*ก้าวเดินสู่สันติภาพ
การผลิตเนื้อหาที่ดีของสื่อทางเลือกอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอในการแก้ปัญหา เพราะข้อจำกัดสำคัญของสื่อทางเลือกคือยังคงเข้าถึงผู้รับสื่อได้แบบเฉพาะกลุ่ม ไม่กว้างไกลเหมือนเช่นสื่อกระแสหลัก จึงอาจทำให้การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ และยากจะสัมฤทธิ์ผลในระดับประเทศได้ ดังนั้น การประสานพลังร่วมกับสื่อกระแสหลักจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สื่อทางเลือกในพื้นที่ต้องเร่งดำเนินการ
ปัจจุบันมีสื่อกระแสหลักอย่างไทยพีบีเอสที่เปิดโอกาสให้สื่อทางเลือกและคนทั่วไปเข้ามาแชร์พื้นที่เพื่อสื่อสารเรื่องราวในชายแดนใต้ เช่น รายการแลต๊ะแลใต้ รายการทีวีชุมชน และรายการนักข่าวพลเมือง รวมถึงมีสื่อกระแสหลักอีกหลายสำนักเริ่มเข้าไปทำข่าวงานเสวนาครั้งต่าง ๆ ที่สื่อทางเลือกชายแดนใต้ร่วมมือกันจัดขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และควรประสานพลังให้เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป
ที่สำคัญกว่านั้น การสื่อสารเรื่องราวจากคนในพื้นที่ความขัดแย้งอาจไม่จำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นโครงสร้างสื่อทางเลือกที่เป็นจริงเป็นจังอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้โทรศัพท์มือถือในมือของ “ทุกคน” สามารถแปลงรูปเป็นสื่อทางเลือกขนาดย่อม ๆ ได้ การสื่อสารในรูปแบบสื่อผสม (Multimedia) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์จึงกระทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำมากขึ้น ความหวังที่ทุกคนจะผันตัวมาเป็น “นักข่าวพลเมือง” และร่วมกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโลกมุสลิมก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
สุดท้ายนี้ การลดทอนกระแสเกลียดกลัวอิสลามคงไม่ใช่พันธกิจเฉพาะของสื่อทางเลือกหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในสังคม แต่เป็นสิ่งที่ “ทุกคน” ควรร่วมมือกัน หากสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนแนวทางเป็น “วารสารศาสตร์สันติภาพ” (Peace Journalism) โดยไม่วางกรอบข่าวหรือสร้างภาพเหมารวมให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผนวกกับทุกคนในสังคมมีสติรู้เท่าทันสื่อ เปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และปล่อยวางอคติในใจให้หมดสิ้น กระแสเกลียดกลัวอิสลามก็จะมลายหายไปจากสังคมได้ไม่ยาก และจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการนำ “สันติภาพ” กลับมาสู่พื้นที่ชายแดนใต้และสังคมไทยในภาพรวม
หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความนี้เป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนร่วมผลิตกับนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างที่ผู้เขียนรับผิดชอบสอนวิชา “ตะวันออกกลางกับวารสารสนเทศ” เทอมปลายของปีการศึกษา 2559 ปัจจุบันผู้เขียนก็ยังสอนวิชานี้อยู่และร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนกับนิสิตอยู่ตลอดเวลา หากสื่อไหนเห็นว่าบทความนี้เหมาะสมที่จะนำไปเผยแพร่ตีพิมพ์ออนไลน์ก็สามารถคัดลอกไปได้เลยครับ
[:]