มองดูปัญหาจากกระบวนการยุติธรรม การทรมาน และอคติทางเชื้อชาติผ่าน NetFlix เรื่อง When they see us โดย ภัทร คะชะนา

Share

มองดูปัญหาจากกระบวนการยุติธรรม การทรมาน และอคติทางเชื้อชาติผ่าน WHEN THEY SEE US

“ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือ ความอยุติธรรม” คงเป็นประโยคที่เราเคยได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง ประโยคดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาจากกระบวนการยุติธรรมในสังคมที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนมากมาย ตัวอย่างของเรื่องราวเหล่านี้ ได้ถูกบอกเล่าผ่านซีรี่ย์ของ Netflix เรื่อง “When They See Us” (2019)

When They See Us เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ Central Park Five ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในเมือง New York วันที่ 19 เมษายน 1989 เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่มีนักวิ่งหญิงผิวขาวชื่อว่า ทรีช่า เมย์ลีย์(Trisha Meili) ถูกลอบทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ตามมาด้วยการถูกกระทำทารุณทางเพศ และปล่อยทิ้งไว้กลางป่าด้วยอาการปางตาย

ช่วงเวลาเดียวกันในสวนสาธารณะใจกลางเมือง มีกลุ่มเด็กวัยรุ่นแอฟริกัน-อเมริกันและละตินอเมริการวมตัวกันตามสถานที่ต่าง ๆ และลงเอยด้วยการก่อความวุ่นวายไปทั่วบริเวณโดยรอบ แต่เด็ก ๆ ที่มารวมกลุ่มหลายคน มาเพียงเพราะความอยากรู้อยากเห็นและอยากสนุกสนานไปกับเพื่อน ๆ เท่านั้น

เมื่อเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้น พวกเขาได้ถูกควบคุมตัวมายังสถานีตำรวจและถูกสอบสวน ทำให้พวกเขาเปลี่ยนสถานะจากเด็กนักเรียน มาเป็นผู้ก่ออาชญากรรมทางเพศเพียงชั่วข้ามคืน กลายเป็นข่าวดังใหญ่โตไปทั่วทั้งสังคมอเมริกา จนถึงขนาดที่โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมาก ได้ซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์และให้สัมภาษณ์ทางทีวีเพื่อเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตผู้ต้องหาทั้ง 5 คน

แล้วกลุ่มเด็ก ๆ ทั้ง 5 คน ได้แก่ แอนทรอย แมคเครย์ (Antron McCray) เควิน ริชาร์ดสัน (Kevin Richardson) ยูเซฟ ซาลาม (Yusef Salaam) เรย์มอนด์ ซานทาน่า (Raymond Santana) และโครีย์ ไวซ์ (Korey Wise) ก็ได้ตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

การสอบปากคำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำไปเพื่อบีบให้กลุ่มเด็ก ๆ พูดความจริงออกมา ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้กระทำความผิด หากแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับใช้วิธีการทรมานต่าง ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ยอมรับสารภาพ จากความเหนื่อยล้าและความหวังว่าจะได้กลับบ้าน สุดท้ายกลุ่มเด็ก ๆ จึงจำต้องยอมรับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และถูกบันทึกวีดิโอยอมรับสารภาพเอาไว้สำหรับใช้เป็นหลักฐานสำคัญในชั้นศาล

แม้ว่าหลักฐานและข้อเท็จจริงของคดีนี้จะขัดแย้งกันอยู่หลายจุด เช่น การที่พวกเขาไม่สามารถชี้จุดที่เมย์ลีย์ถูกทำร้ายได้ชัดเจน หรือบอกเวลาก่อเหตุผิด และดีเอ็นเอของพวกเขาก็ไม่มีของคนใดเลยที่ตรงกับดีเอ็นเอที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ ถึงกระนั้นพวกเขากลับถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่า ข่มขู่ ทารุณกรรมทางเพศ และก่อความวุ่นวาย โดยทั้งหมดถูกตัดสินจำคุก 5-10 ปี เด็ก ๆ ทั้ง 4 คน ถูกส่งตัวเข้าไปยังสถานพินิจ มีเพียงโครีย์ ไวซ์ เพียงคนเดียวที่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ เนื่องจากมีอายุเกิน 15 ปี และคดี Central Park Five ก็ค่อย ๆ ลบเลือนหายไปจากสังคมอเมริกัน

ซีรี่ย์เรื่องนี้เป็นซีรี่ยที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม การทรมาน และอคติทางเชื้อชาติ ระหว่างที่รับชมหรือรับรู้เรื่องราวความจริงของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ ได้ทำให้ความอึดอัดเกิดขึ้นมาภายในใจ หรือรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะถึงแม้จะรู้ความจริงของกลุ่มเด็ก ๆ แต่สังคมที่รายล้อมภายในซีรี่ย์เรื่องนี้ กลับไม่อาจรู้ความจริงเหล่านั้นได้ และรับรู้เพียงว่าเด็ก ๆ กลุ่มนี้เป็นผู้ก่ออาชญากรรมทางเพศร้ายแรง

สิงที่เกิดขึ้นต่อเด็ก ๆ เหล่านี้ มีตั้งแต่การทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ฉากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำลงไปสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น การไม่ให้กินอาหาร ไม่อนุญาตให้นอนพัก และสอบปากคำเป็นระยะเวลายาวนานหลายต่อหลายชั่วโมง โดยไม่มีทั้งทนายความ และผู้ปกครองได้ถูกแยกตัวออกไป เด็กคนหนึ่งถึงขั้นถูกตบหน้า กดเข้ากับกำแพง รวมถึงมีการเสนอว่า หากพวกเขารับสารภาพจะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน อีกทั้งยังมีการกดดันครอบครัวให้กดดันตัวเด็ก

การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตลอดทั้งกระบวนการ โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีความรู้สึกผิดใด ๆ ต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ และมองว่าเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ต้องหาได้สารภาพความจริงออกมาในที่สุด และสุดท้ายการกระทำเหล่านี้จึงได้ทำให้เด็ก ๆ จำต้องยอมรับสารภาพออกมาในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้กระทำลงไป

ประเด็นต่อมา เป็นปัญหาของโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เกื้อกูลกันและสนับสนุนให้เกิดการละเมิดขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้ กลายเป็นผู้กระทำความผิดในสายตาของกฎหมายในที่สุด จะเห็นได้จากกรณีของวิดิโอบันทึกคำยอมรับสารภาพที่ถูกใช้เป็นหลักฐานมัดตัวกลุ่มเด็ก ๆ แม้ว่าหลักฐานชิ้นอื่น ๆ จะมีปัญหาและถูกโต้แย้งอย่างมากในฉากหน้าบัลลังก์ แต่วิดิโอที่ถูกบันทึกไว้ก็ยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญกว่าหลักฐานอื่น ๆ การใช้วิดิโอนี้เกิดขึ้นจากการปรึกษากันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ไปจนถึงผู้พิพากษา และเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรม

อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญได้แก่ ความมีอคติทางเชื้อชาติของสังคมชาวอเมริกันที่มีต่อกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนผิวขาว ที่มักจะถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็นกลุ่มคนที่มักจะก่อเหตุอาชญากรรม ทั้งยังมีสื่อมวลชนที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางความคิดของคนในสังคม เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เพิ่มพูนอคติทางเชื้อชาติให้มากขึ้น ฉากของโดนัลด์ ทรัมป์ ในซีรี่ย์ที่เผยแพร่ในปี 2019 เป็นคำกล่าวของเขาที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 30 ปีก่อน สะท้อนว่าอคติทางเชื้อชาติเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอย่างมากในสังคมอเมริกัน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานหลายสิบปี แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่เคยหายไปไหน 

กลุ่ม Central Park Five อาจไม่ใช่เหยื่อห้าคนสุดท้ายจากปัญหาของกระบวนการยุติธรรม การทรมาน หรืออคติทางเชื้อชาติ ทั่วทั้งโลกยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้ รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ความยุติธรรมอาจไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ แต่เป็นการสร้างขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย ที่จะต้องต่อสู้และบอกเล่าความจริงของยุคสมัยหนึ่ง ๆ และกำหนดว่าอะไรคือ ความยุติธรรม

ฉากสุดท้ายของเรื่องราวในซีรี่ย์เรื่องนี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงประโยคข้างต้นที่กล่าวว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือ ความอยุติธรรม” วันเวลาวัยเยาว์ที่พวกเขาถูกพรากไป ไม่อาจหวนคืนกลับมา แม้ว่าพวกเขาจะได้รับอิสรภาพในที่สุด แต่วันเวลาที่หายไปเหล่านั้น ได้กลายเป็นบาดแผลและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นต่อชีวิตของพวกเขาทั้งสิ้น

When They See Us ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ของกระบวนการยุติธรรม การทรมาน รวมถึงอคติทางเชื้อชาติ ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และทำให้เราจะต้องหันกลับมาทบทวนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร และเราจะสามารถหาทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขมันได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกันกับกลุ่ม Central Five Park หรือเกิดขึ้นต่อผู้คนมากมายในสังคมได้อีก

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading