[:th]CrCF Logo[:]

ภรรยา-ญาตินายอับดุลเลาะ จะไปพบ กมธ. กฎหมาย สภาผู้แทนฯ และ DSI กรณีการเสียชีวิตของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ

Share

ใบแจ้งข่าว 20-21 พ.ย. 62 ภรรยา และญาตินายอับดุลเลาะ จะไปพบ กมธ. การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนฯ และ DSI กรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ  อีซอมูซอ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ และกรมสอบสวนคดีพิเศษให้รับคดีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เป็นคดีพิเศษ เพื่อสอบสวนต่อไป จากกรณีนายอับดุลเลาะฯถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ แล้วต่อมาเสียชีวิตนั้น 

ล่าสุดคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรเชิญบุคคลและหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ  อีซอมูซอ ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10.30 นาฬิกา เป็นต้นไป ณ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยภรรยาและญาติ
ของนายอับดุลเลาะฯ พร้อมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จะเดินทางไปให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการฯ ด้วย 

หลังจากนั้น ในวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.30 นาฬิกา ภรรยาและญาตินายอับดุลเลาะฯพร้อมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จะเดินทางไปพบคณะพนักงานสืบสวน กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของ DSI และจะได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะพนักงานสืบสวนดังกล่าว ตามที่ภรรยานายอับดุลเลาะฯ ได้ร้องทุกข์ต่อ DSI ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2562 และ DSI รับเป็นเรื่องสืบสวนที่ 221/2562 ไว้แล้ว

นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ชาวอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ได้ถูกควบคุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44  ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา ของวันที่ 21 กรกฎาคม  2562 พบว่าหมดสติอยู่ในหน่วยซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหารดังกล่าว นายอับดุลเลาะฯ ได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นได้ส่งไปรักษาตัวต่อ ณ อาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) โรงพยาบาลปัตตานี  ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ถูกส่งตัวไปรักษาต่อ ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์ระบุว่าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ  ผลเอ็กซเรย์สมองพบว่าสมองบวม มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 
มีสภาวะไตวายเฉียบพลันและจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤติทางอายุรกรรม และต่อมาได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม  2562

          กรณีของนายอับดุลเลาะฯ ดังกล่าว เป็นกรณีที่ประชาชนและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นกรณีที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน. ภาค 4 เป็นอย่างมาก เนื่องจากนายอับดุลเลาะ ฯ ได้หมดสติไปโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนภายในระยะเวลาเพียงประมาณ 13ชั่วโมงหลังจากถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดี และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มักมีการร้องเรียนว่าผู้ถูกควบคุมตัวในสถานที่เดียวกันถูกซ้อมทรมาน และถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีหลายราย ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก โดยไม่มีการป้องกันและแก้ไข  ดังนั้นการตรวจสอบกรณีของนายอับดุลเลาะฯ จึงไม่ควรเพียงเพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อค้นหาความจริงเท่านั้น แต่ต้องดำเนินการตรวจสอบ เพื่อหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดด้วย โดยหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หรือกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้นายอับดุลเลาะฯ เสียชีวิต จะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางวินัยและทางอาญาเพื่อลงโทษด้วยโดยต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ทำให้ความจริงปรากฏแก่สังคม และหน่วยงาน
ที่ควบคุมตัวต้องไม่ทำให้กรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

 อนึ่ง กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะกฎอัยการศึก และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีการซ้อมทรมาน อุ้มฆ่า อุ้มหาย โดยปราศจากการป้องกันและตรวจสอบอย่างเข้มงวดในการใช้อำนาจ ขาดความโปร่งใสในการบังคับใช้ เป็นผลเสียหายต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่ ทั้งยังได้เรียกร้องว่า เมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หน่วยงานฯ ควรสร้างมาตรฐานของสถานที่ควบคุมตัวให้เป็นไปตามหลักสากล สามารถเข้าตรวจสอบได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ล่าช้า ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และต้องคำนึงเสมอว่า รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกศาสนา อย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ

ขอเชิญสื่อมวลชน ร่วมนำเสนอข่าวกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เพื่อเป็นกรณีสุดท้ายของการเสียชีวิต
ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายและเกิดสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม    โทร 081 8987408              

นายปรีดา นาคผิว  ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม                                     โทร 089 6222474