สืบเนื่องจากนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เป็นโจทก์ ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนสังกัดกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีพร้อมพวก เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.925/2558 จากเหตุการณ์ที่โจทก์ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 จำเลยได้ร่วมกันซ้อมทรมานโจทก์ เหตุเกิดที่ห้องสืบสวนกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดปราจีนบุรีได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาจำเลยซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง กล่าวคือ
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้พันตำรวจโทวชิรพันธ์ โพธิราช มีความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง, 295, 296, 309, 310 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงลงโทษฐาน “เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา กระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ” ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โดยศาลลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่ศาลลดโทษให้โดยเห็นว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท เมื่อคำนึงถึงประวัติ อาชีพ และสภาพความผิดแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว กล่าวคือรอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี
ส่วนพันตำรวจโทปัญญา เรือนดี จำเลยอีกคนหนึ่ง ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าได้ทำร้ายโจทก์ ยังเป็นเหตุให้มีข้อสงสัย ศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จึงยกฟ้องสำหรับจำเลยดังกล่าว
ทั้งนายฤทธิรงค์ฯ โจทก์ และพันตำรวจโทวชิพันธ์ฯ จำเลยที่ศาลพิพากษาลงโทษ ต่างยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยโจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษพันตำรวจโทวชิรพันธ์ฯเบาเกินไป เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม แต่กลับก่ออาชญากรรมระหว่างปฏิบัติหน้าที่เสียเอง โดยซ้อมทรมานโจทก์ พฤติการณ์กระทำความผิดร้ายแรงและเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม จึงอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยนี้สถานหนัก ไม่ควรได้รับการลดโทษ และไม่ควรรอการลงโทษ และที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องพันตำรวจโทปัญญาฯ นั้นโจทก์ก็เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบนั้นย่อมรับฟังได้ว่าพันตำรวจโทปัญญาฯ มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ส่วนพันตำรวจโทวชิรพันธ์ จำเลย อุทธรณ์ว่าตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา
นายสมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของนายฤทธิรงค์ฯ กล่าวว่า ลูกชายของตนเป็นเหยื่อการกระทำทรมาน กว่าจะได้มาซึ่งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการซ้อมทรมานลูกชายตนนั้น ใช้เวลานานนับ 10 ปี และต้องเป็นการนำคดีมาฟ้องเองด้วย ทั้ง ๆ ที่เคยร้องเรียนต่อหน่วยงานของรัฐมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป.ป.ท. ซึ่งประชาชนคาดหวังว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีประสิทธิภาพ แต่ที่สุดแล้ว ป.ป.ท. ก็สรุปว่ากรณีลูกชายของตนคดีไม่มีมูล จึงไม่ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ซ้อมทรมานลูกชายตน จนตนและลูกชายต้องร้องขอความช่วยเหลือต่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเพื่อจัดหาทนายความมาช่วยเหลือในการดำเนินคดี กระทั่งลูกชายของตนนำคดีมาฟ้องต่อศาลเองเพื่อพิสูจน์ว่าการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐดังที่ลูกชายตนประสบมานั้นเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย คดีนี้ก็ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุดต่อไป
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า การซ้อมทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากกรณีนายฤทธิรงค์ฯแล้ว ยังมีกรณีอื่น ๆ อีกมากมายที่มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน ปัจจุบันภาคประชาชนได้พยายามเรียกร้องผลักดันรัฐไทยให้มีการตรากฎหมายภายในประเทศให้การทรมานและอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT)
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิจารณาคดีเสร็จแล้ว และได้ส่งคำพิพากษามายังศาลจังหวัดปราจีนบุรี ดังนั้นศาลจังหวัดปราจีนบุรีจึงได้กำหนดวันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรี
ขอเชิญชวนสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจ สามารถร่วมฟังคำพิพากษาได้ตามวันเวลาดังกล่าว และติดตามเรื่องราวเหตุการณ์ความเป็นมาของคดีนี้และคดีอื่นๆ ของนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ได้ที่ https://crcfthailand.org/?s=ฤทธิรงค์
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม : นายปรีดา นาคผิว 089-6222474
