“ตอนที่ชาวบ้านไปชุมนุมกันหน้าสถานีตำรวจ แบ (พี่ชาย ในภาษามลายู) กำลังละหมาดอยู่ในศาลาแถวนั้น พอละหมาดเสร็จ ก็เห็นสถานการณ์เริ่มแย่ เจ้าหน้าที่เริ่มเข้ามาสลายการชุมนุม รู้ตัวอีกทีตอนถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หน้าเลย ช่วงนั้นชุลมุนวุ่นวาย คนบางส่วนหนีลงแม่น้ำ แต่แบบาดเจ็บเพราะโดนยิง เลยหนีลงน้ำไม่ทัน ตอนนั้นทำอะไรไม่ถูกเลยแกล้งนอนนิ่งๆเหมือนตายแล้ว เลยแอบได้ยินเจ้าหน้าที่คุยกัน เขาหาว่าแบเป็นแกนนำจากเหตุการณ์ปะทะที่กรือเซะ จากนั้นเขาก็เข้ามายึดกระเป๋ากับบัตรประชาชนแบไป
ลูกกระสุนที่ถูกยิงเข้ามาที่หน้ามันไปถูกเส้นประสาทที่ตาซ้ายจนทำให้มองอะไรไม่ค่อยชัด ทุกวันนี้ เวลาทำงานหนัก น้ำตาก็จะไหลไม่หยุด นิ้วมือสามนิ้วที่โดนกระสุนขยับได้ไม่ปกติ กำมือไม่ได้อีกแล้ว จากที่เคยกรีดยางด้วยมือขวาที่ถนัด ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้มือซ้าย เลยทำงานได้ช้ากว่าสมัยก่อน ใช้เวลารักษาตัวรวมๆแล้วก็น่าจะเกิน 5 ปีได้ บางทีเจ้าหน้าที่ก็ยังกลับมาวนเวียน ติดตามที่บ้านบ่อยๆ บางครั้งก็มาข่มขู่หรือดูถูก เยาะเย้ยว่าเราเคยเป็นพวกผู้ก่อความไม่สงบ”
“ถ้าเลือกได้ แบอยากจำหรืออยากลืมสิ่งที่เกิดขึ้น” (ผู้สัมภาษณ์)
“ถ้าเลือกได้ก็คงจำ เพราะเริ่มทำใจได้แล้ว แต่ยังไงทุกวันนี้ก็ยังนึกถึงเหตุการณ์ทุกวัน ยังรู้สึกเจ็บใจ แบว่าแบไม่ผิด สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำกับประชาชนมันไม่ยุติธรรม พอมีรายชื่อเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บก็ได้รับเงินเยียวยามาบางส่วน แต่กระบวนการให้เงินเยียวยาก็ช้าและไม่เพียงพอ ถึงได้เงินแล้วก็ยังไม่ได้พอใจ ยังมีคำถามติดในใจว่า ชีวิตของเรามันแลกด้วยเงินได้ด้วยหรอ? แบว่าเงินมันแลกกับความรู้สึกไม่ได้ แบไม่เคยลืม เราไม่ผิด”
——————————————
“เปาซี” เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมตากใบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 โดยเริ่มจากการชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 6 คนซึ่งตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปล้นปืนลูกซองยาวของราชการ ต่อมา เจ้าหน้าที่รัฐตัดสินใจสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ประท้วงกว่า 1,370 คนเพื่อนำขนส่งไปควบคุมตัวยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยมีผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม 7 คน เสียชีวิตระหว่างการเดินทางเป็นจำนวน 78 คน สูญหาย 7 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก
#15ปีตากใบ #15ปีตากใบจำอยู่ในใจไม่เคยลืม #15thAnniversaryTakBaiMassacre #NeverForget
Read more: บทสัมภาษณ์ “เปาซี” หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมตากใบ