[:th]CrCF Logo[:]

บทสัมภาษณ์ “มะรีกี ดอเลาะ” หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมตากใบ

Share

“วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ผมนั่งรถตั้งใจจะไปซื้อเสื้อผ้าที่ตลาดตาบาเตรียมฉลองวันรายอ พอขับไปถึงแถวๆสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ ก็ได้ยินเสียงคนยิงปืนขึ้นฟ้า ตอนนั้นมีตำรวจเดินมาบอกให้ลงจากรถและไปอยู่รวมกับผู้ชุมนุมที่ริมแม่น้ำตากใบ เมื่อสถานการณ์แย่ลง เจ้าหน้าที่เริ่มสลายการชุมนุม ผมโดนปาหินใส่ที่คิ้วข้างซ้ายและโดนแก๊สน้ำตายิงใส่ เลยรีบวิ่งไปลงแม่น้ำไปล้างตา มีคนตะโกนขึ้นมาว่า ‘พี่ๆก้มๆ เดี๋ยวโดนกระสุน’ หันไปอีกทีก็เห็นคนโดนยิงเข้าที่แก้ม ตอนนั้นผมคงจะถูกยิงเข้าที่ขา แต่ผมไม่รู้ตัวเลย

จากนั้น เจ้าหน้าที่เรียกให้ทุกคนในแม่น้ำถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง นอนลงกับพื้นและคลานไปบนฟุตบาท จนถึงหน้ารถบรรทุกสิบล้อ แล้วถีบพวกเราให้นอนทับๆกันประมาณ 5 ชั้น ส่วนผมอยู่ชั้น 2 ตอนนั้นคนที่ถูกจับขึ้นรถตะโกนร้องด้วยความเจ็บปวด ทหารเลยเดินมาเหยียบและใช้ด้ามปืนตีหัวคนที่ร้อง พร้อมบอกว่าถ้าไม่หยุดร้อง ก็จะไม่ออกรถ ให้ทนถูกทับแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าเขาจะพาเราไปที่ไหน รู้แค่ว่ามันนานมาก นานเสียจนร้องไห้จนน้ำตาหมด เลือดไหลจนแผลแห้งก็ยังไม่ถึงซักที ทำได้แต่อยู่นิ่งๆแล้วนึกถึงอัลเลาะห์อย่างเดียว คนที่อยู่ด้านล่างก็ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ คงจะเจ็บมาก แต่เราช่วยอะไรไม่ได้ ผมได้ยินลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเขาด้วย แล้วผมก็หมดสติไป มารู้ตัวอีกทีตอนอยู่ห้อง ICU ที่มอ.หาดใหญ่ พอตื่นขึ้นมา รู้สึกแค่ว่าหิวมาก พอเห็นสภาพตัวเองก็รีบหันไปถามแม่ว่า ทำไมผมไม่มีขาแล้ว ทำไมมือผมเป็นแบบนี้ กว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาลก็ประมาณ 3 เดือนได้ ช่วงที่ออกมาแรกๆผมฝันร้ายทุกคืนเลย

สมัยก่อน ผมจะออกไปช่วยแม่กรีดยางเป็นประจำ เดี๋ยวนี้มือแทบจะจับอะไรไม่ได้ มือขวาที่เคยถนัดก็ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนมากรีดยางมือซ้าย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว ตอนเด็กๆผมชอบเล่นฟุตบอล ชอบวิ่ง เคยเป็นนักวิ่งกรีฑา 100 เมตร ว่างๆก็ชอบวิ่งแข่งกับรถมอเตอร์ไซค์ ทุกวันนี้เวลาเห็นคนวิ่งผ่านหน้าบ้านไป แทบไม่อยากมองเลย…

ประมาณ 2 ปีก่อน มีทหารชุดดำมาปิดล้อมบ้านผม เขาหาว่าเห็นผมไปยิงทหารที่เจาะไอร้องจากภาพกล้องวงจรปิด เลยบอกให้ผมไปเอาขาเทียม 2 อันมาให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่าพิการจริง เขาไม่ยอมเชื่อว่าผมพิการ เอามือไปจับดูอยู่นานและมีท่าทางไม่เชื่อผมเลย ดูมือผมซะก่อน จะไปหยิบปืนได้ยังไง หยิบของธรรมดาๆยังหล่นเลย

“ยังรู้สึกโกรธอยู่ไหม” (ผู้สัมภาษณ์)

“เจ้าหน้าที่ทหารเคยมาถามผมเหมือนกัน ผมก็ได้แต่ยิ้ม ไม่ได้ตอบอะไรไป มันก็พูดยากนะ ถ้าตอนนั้นเราผิดจริง เขาก็คงมีสิทธิจับเราได้ แต่นี่มันทำกันเกินไป ทำอย่างกับเราไม่ใช่คน (เงียบ) แผลในใจเรามันลืมไม่ได้ เป็นเหมือนแผลเป็นที่อยู่กับเราตลอดไป”

———————————————————————————–
นายมะรีกี ดอเลาะเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมตากใบ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 โดยเริ่มจากการชุมนุมประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน 6 คนซึ่งตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปล้นปืนลูกซองยาวของราชการ ต่อมา เจ้าหน้าที่รัฐตัดสินใจสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ประท้วงกว่า 1,370 คนเพื่อนำขนส่งไปควบคุมตัวยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยมีผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม 7 คน เสียชีวิตระหว่างการเดินทางเป็นจำนวน 78 คน สูญหาย 7 คน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบอีกจำนวนมากที่ต้องทนอยู่กับบาดแผล และเผชิญหน้ากับความไม่ยุติธรรมเช่นเดียวกับมะรีกี การก้าวข้ามพ้นเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอย่างโศกนาฏกรรมตากใบ จะต้องอาศัยหลักการสำคัญเรื่องความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ (1.) การค้นหาความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น (2.) การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจ (3.) การนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และ (4.) การปฏิรูปสถาบันเพื่อรับรองว่าการละเมิดจะไม่เกิดขึ้นซ้ำ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต

#15ปีตากใบ #TransitionalJustice #15thAnniversaryTakBaiMassacre