การลั่นไกของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ไม่ใช่จุดจบหรือผลลัพธ์แห่งความจำนนทนต่อความไม่โปร่งใสแห่งกระบวนการยุติธรรมประเทศไทย หากแต่คือจุดเริ่มต้นต่อสังคมไทยให้เริ่มตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่เป็นธรรม เพื่อนำพาสังคมออกจากความมืดบอด ลบล้างโทษฐานที่ตาไม่บอด และโทษทัณฑ์แห่งการมองเห็น
อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจลั่นไกปืนของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ในศาลจังหวัดยะลา อะไรนำพาให้ความตายกลายมาเป็นจุดหยัดยืนและตัวเลือกสุดท้ายของบุคลากรภายใต้องคาพยพของสถาบันภายใต้กระบวนการยุติธรรมของประเทศ และเหตุใดโทษทัณฑ์แห่งการมองเห็นจึงเกือบต้องถูกแลกมาด้วยชีวิต
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมชวนอ่านวรรณกรรมประวัติศาสตร์เรื่อง “ดินแดนคนตาบอด” ผลงานนวนิยายจากนักเขียนเดียวกับหนังสือเสียดสีการเมืองระดับตำนาน เช่น”1984″ และ”Aninal Farm” หนังสือเล่มที่โปรดที่ปรานของพล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา เพื่อมองย้อนกลับมาที่เหตุการณ์กรณีการทำร้ายตนเองด้วยอาวุธปืนของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะและกระบวนการยุติธรรมอันไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการใช้กฏหมายพิเศษอย่างพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
“ดินแดนคนตาบอด” เล่าถึง ชายคนหนึ่งที่ชื่อ นูเนส(Nuñez) ซึ่งเดินทางไปยังเทือกเขาอันดิสในอเมริกาใต้ เพื่อพิชิตยอดเขาสูง แต่ได้ผลัดตกลงไปในหุบเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกตัดขาดจากดินแดนส่วนอื่นของโลกอย่างสิ้นเชิง ในดินแดนคนตาบอดประชาชนทั้งหมดตาบอดทั้งสองข้างและสืบทอดความตาบอดมารุ่นสู่รุ่น จนไม่มีใครทราบถึงประสบการณ์ของการมองเห็นว่ามีลักษณะอย่างไร ผู้คนไม่เข้าใจแม้กระทั่งความหมายของคำว่า “มองเห็น” และแม้กระทั่งความหมายของคำว่า “ตาบอด” เพราะเมื่อการมองไม่เห็นเป็นสิ่งปกติทางสังคม คำว่าตาบอดจึงปราศจากความหมาย เมื่อนูเนซมาถึงดินแดนนี้ เขาจึงกลายเป็นคนเดียวที่มองเห็นและมีประสบการณ์โลกภายนอก นูเนซพยายามจะเล่าเรื่องโลกภายนอกที่กว้างใหญ่ ท้องฟ้า ดวงดาว ภูเขา เล่าถึงเมืองใหญ่ภายนอก แต่คนในหุบเขาเชื่อว่า โลกของเขาอยู่ภายใต้หลังคาหินครอบ จึงไม่มีใครเข้าใจหรือเชื่อในสิ่งที่นูเนซเล่า พวกเขาคิดว่า นูเนซเกิดมาจากก้อนหินและมีสมองยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ด้วยความที่นูเนซนึกถึงวลีเก่าแก่ที่ว่า “ในดินแดนคนตาบอดคนตาเดียวก็อาจเป็นพระราชา” นูเนซจึงทึกทักเอาเองว่าจะอาศัยประสบการณ์จากการมองเห็นในการสร้างอำนาจ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประสบการณ์ของนูเนซกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ในดินแดนนี้ ในที่สุด นูเนซก็กลายเป็นพลเมืองของดินแดนคนตาบอด ตกหลุมรักกับเมดินา-ชาโรตแต่ด้วยความที่ชาวหุบเขาเห็นว่านูเนซเป็นพวกปัญญาทึบผิดปกติ ต้องทำการรักษาก่อน ถึงจะแต่งงานได้ ผู้เฒ่าหมอจึงวินิจฉัยอาการสมองเพี้ยนของนูเนซว่ามาจากของพิลึกกึกกือที่เรียกว่า “นัยน์ตา” ถ้าจะทำให้นูเนซหายขาดจากอาการสติไม่ดี ต้องจัดการเอานัยน์ตาออกเสีย เพราะการมีนัยน์ตาและมองเห็นจึงกลายเป็นโทษทัณฑ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ นูเนซจึงตัดสินใจหนีออกจากดินแดนคนตาบอด ยืนยันกับตนเองว่าท้องฟ้าไพศาลอันไม่รู้จบและโลกกว้างที่เขาเห็น…นั้นเป็นความจริง (ประชาไท, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ:ดินแดนคนตาบอด, 13 สิงหาคม 2559)
หากเราจะมองกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะผ่านหนังสือเล่มดังกล่าว คงเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น กับการตัดสินใจครั้งต่างๆของ ตัวละคร “นูเนซ” นั้นซ้อนทับกับกรณีของผู้พิพากษาคณากรในหลายมิติ
ทางเข้าไปยังดินแดนคนตาบอดนั้นถูกปิดกั้นออกจากคนภายนอกโดยสิ้นเชิง เนื่องจากยอดเชิงอะรัวกาพังถล่มลงมาทั้งแถบ ทำให้คนในดินแดนคนตาบอดนี้ไม่สามารถรับรู้หรือติดต่อใครจากพื้นที่ภายนอกได้เลย แม้ว่าชีวิตประจำวันของผู้คนในดินแดนคนตาบอดจะดูอยู่ในปกติวิสัย มีกินมีใช้ออกลูกออกหลาน แต่เรื่องหนึ่งเรื่องเดียวที่ทำลายความสุขสงบของผู้คนในหุบเขาได้อย่างร้ายกาจ นั่นคือโรคประหลาดที่แพร่ระบาดในหุบเขา ที่ทำให้คนทุกคนในดินแดนแห่งนี้ตาบอด แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไป และความเคยชิน สมาชิกดินแดนคนตาบอดก็เลิกตั้งคำถาม ไม่มีใครสังเกตอาการตาบอดใสของตัวเองอีกต่อไป ยกเว้นก็เพียงแต่ “นูเนซ” คนตาดีที่ตกหน้าผาไปพบดินแดนคนตาบอดโดยบังเอิญ ถึงแม้นูเนซจะพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะอธิบายถึง “โลกที่กว้างใหญ่” ก่อนที่เขาจะพลัดตกลงมา แต่ไม่มีใครสักคนยอมเชื่อและเข้าใจในสิ่งที่เขาบอก เรื่องเล่าเกี่ยวกับความเป็นจริงที่นูเนซมองเห็นด้วยตา กลับถูกมองเป็นเพียงนิทานสำหับเด็ก ชาวบ้านเริ่มมองว่านูเนซเป็นเพียงชายสติฟั่นเฟือนคนหนึ่งเท่านั้น
การเดินทางมาถึงดินแดนคนตาบอดพร้อมชุดความคิดที่ว่านูเนซ ซึ่งเป็นคนตาดี นั้นจะกลายเป็นผู้มากความสามารถที่คอยบอกเล่าความเป็นจริงให้กับผู้ตาบอด กลับตาลปัตรอย่างน่าตกใจ คนตาดีที่มองเห็นความจริง เป็นเพียงคนสติไม่ดี ที่ไม่มีปากมีเสียงอะไรในดินแดนแห่งนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้พิพากษาคณากรก็เช่นกัน หากสถานการณ์ไม่ได้นำมาสู่การตัดสินใจพยายามกระทำการอัตนิวิบากกรรมหรือความจงใจพยายามทำร้ายตัวเองเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมจนเกิดเป็นความตื่นตระหนกในสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ “อาจ” ไม่เป็นธรรม (ในที่นี้ ผู้เขียนใช้คำว่า “อาจ” เนื่องจากไม่มีกลไกที่โปร่งใสมากพอ ที่จะพูดได้ว่าอะไรคือข้อชี้วัดความโปร่งใสแห่งความกระบวนการยุติธรรม) คำบอกเล่าเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการยุติธรรมคงเป็นเพียงคำพูดลมๆแล้งๆที่ไม่ชัดแจ้ง และความสนใจในการแสวงหาความจริงระหว่างห้วงเวลานับแต่การควบคุมตัวจนถึงห้องพิพากษาคดีก็ถูกบิดเบือนออกไปด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งที่ตามหลักการระหว่างประเทศแล้ว ผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระจากทั้งผู้บังคับบัญชาและเพื่อนผู้พิพากษาด้วยกัน เพื่อประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ไม่ให้มีการกระทำหรือทัศนคติของผู้พิพากษาท่านอื่นที่จะส่งผลต่อการพิจารณา แนวทางการพิพากษาคดี หรือทำให้หวาดกลัวต่อสถานะผู้พิพากษา
หากสถานการณ์ไม่ได้นำมาสู่การตัดสินใจพยายามกระทำการอัตนิวิบากกรรมหรือความจงใจพยายามทำร้ายตัวเองเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม จนเกิดเป็นความตื่นตระหนกในสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ “อาจ” ไม่เป็นธรรม และคำบอกเล่าเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการยุติธรรมคงเป็นเพียงคำพูดลมๆแล้งๆที่ไม่ชัดแจ้ง
และความสนใจในการแสวงหาความจริงระหว่างห้วงเวลานับแต่การควบคุมตัวจนถึงห้องพิพากษาคดีก็ถูกบิดเบือนออกไปด้วยปัจจัยต่างๆ
คำบอกเล่าของอับดุลเลาะ หะยีอาบู ทนายความในคดีที่ผู้พิพากษากล่าวถึงในแถลงการณ์ก็แสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ ความไม่โปร่งใส และข้อสงสัยมากมาย นับตั้งแต่ที่จำเลยถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเคยนำตัวจำเลยไปแถลงข่าว และมีบุคคลอื่นถูกควบคุมตัวจากเหตุการณ์เดียวกันแล้วไม่ถูกดำเนินคดี แต่ถูกกันตัวไว้เป็นพยานในชั้นศาล พยานเหล่านี้ขอสืบพยานโดยไม่เผชิญหน้ากับจำเลย เพื่อยืนยันคำให้การรับสารภาพในชั้นควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษซึ่งซัดทอดมาถึงจำเลย พยานที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษให้การมีพิรุธ วกไปวนมา ใช้เวลาครุ่นคิด นิ่งเฉยสักพัก ไม่มั่นใจในการตอบคำถาม พฤติการณ์เหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในคำเบิกความพยานโดยผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และถูกยกมาเป็นเหตุผลในการเขียนคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ตามที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ 25 หน้า ( The Momentum, หรือผู้พิพากษาของเราไม่มีคุณภาพ: ถอดประเด็นกรณีคณากร เพียรชนะ, 13 ตุลาคม 2562)
โชคดีแค่ไหนที่นูเนซไม่ได้เดินเลี้ยวไปที่ทุ่งดอกนาร์ซิสซัสเพื่อทำการควักลูกตาออก แปลงร่างให้เข้ากับสำนวนประมาณที่ว่า “เข้าเมืองตาบอด ต้องตาบอดตาม” แต่เดินมุ่งหน้าต่อจนผ่านกำแพงวงกลมออกไปจนถึงทุ่งหิน แล้วนอนมองท้องฟ้ากว้างไพศาลมิรู้จบ ท้องฟ้ากว้างเดียวกันกับที่คนตาบอดเข้าใจว่าเป็นอาการเพ้อพกชกลมของชายสติไม่ดี
โชคดีแค่ไหนที่แถลงการณ์ 25 หน้าหลังเสียงปืนหนึ่งนัดที่ก้องดังข้างบัลลังก์พิพากษา นำพาคนตาดีในประเทศไทย ตื่นตัวกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการยุติธรรม ที่วาทะกรรม “ยุติธรรม” ครอบงำ บดบังความจริง
คนตาดีทั้งหลาย
อย่าได้ปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้พิพากษาคณากร
ถูกลืมลบไป
อย่าลืมว่ามันไม่มีอะไรน่าแปลกใจ
ถ้าดินแดนแห่งคนตาบอดจะไม่เข้าใจคอนเซปต์
คำว่า “แสงสว่าง” “การมองเห็น” และ “ตาบอด”
เพราะในดินแดนแห่งความไม่เสมอภาค
การพูดความจริงอาจถูกจัดเป็นความวิปริตและภัยคุกคามความมั่นคง
ที่เมื่อถูกพิพากษาเป็น “เชื้อร้าย” เสียแล้ว
ก็ต้องย่อมถูกกำจัดอย่างถอนรากถอนโคน (สำนักพิมพ์สมมติ, บทกล่าวตาม โทษฐานที่ตาไม่บอด โทษทัณฑ์ของการมองเห็น โดย มุกหอม วงษ์เทศ, 2558)
เขียนและเรียบเรียงโดย คุณัญญาพร จิระสมรรรถกิจ เจ้าหน้าที่รณรงค์และนโยบาย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม