รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงเรื่องความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ ซึ่งศาลต้องมีความเป็นกลาง เป็นธรรม และมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากภายนอกทั้งปวง จะเป็นหลักประกันให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายได้รับความเป็นธรรม และได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในตามพระธรรมนูญศาลได้ให้อำนาจที่เป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามมีระเบียบฉบับหนึ่งคือ “ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฯ พ.ศ. 2562 ที่ท่านคณากรได้กล่าวถึงไว้ ถึงการตรวจร่างคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค โดยเฉพาะข้อ 12, 13 และ 14 เพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้นระเบียบดังกล่าวจึงเป็นประเด็น จากเหตุการณ์ผู้พิพากษาท่านหนึ่งยิงตัวเองที่ศาลจังหวัดยะลา ซึ่งระเบียบดังกล่าว เห็นว่าขัดต่อหลักการสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง UN Basic Principles on the Independence of the Judiciary 1985 ในประเด็น Independence of Judiciary
รศ.ดร.ปกป้องฯมีข้อเสนอแก้ระเบียบดังกล่าว 2 ประการ
- ถ้ายกเลิกการส่งร่างคำพิพากษาไปให้อธิบดีภาคตรวจและพิจารณา ปัญหาดังกล่าวจะจบลง ผู้พิพากษาจะสามารถทำคำพิพากษาได้อย่างอิสระและเต็มที่
- แต่ถ้าคงไว้ ซึ่งการให้ส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีภาคตรวจ ต้องปรับเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของระเบียบดังกล่าวดังนี้
- อธิบดีควรให้คำแนะนำเฉพาะข้อกฎหมายเท่านั้น ในส่วนของข้อเท็จจริงผู้พิพากษาที่ทำนั่งพิจารณาสืบพยานจะทราบข้อเท็จจริงดีกว่าเพราะเห็นสายตาเห็นปฏิกิริยาของพยานว่าพูดจริงหรือพูดเท็จดังนั้น จึงควรให้อำนาจผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเพราะรู้ดีที่สุด
- ควรมีข้อยืนยัน ระบุให้ชัดเจนในระเบียบว่า ผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสำนวนยังคงมีอิสระในการทำคำพิพากษา แม้หากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำก็ไม่มี่ผลต่อผู้พิพากษาแต่อย่างใด
- อาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย เห็นว่า เหตุการณ์ที่คุณคณากรยิงตัวเองในศาลจังหวัดยะลาที่เกิดขึ้น ตนเห็นว่ามันเป็นความเงียบที่ประหลาด ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้พิพากษาคนใดออกมาพูดเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ตนเห็นว่าไม่มีเลย ดังนั้นการยิงตัวเองของคุณคุณากรทำให้เห็นว่าความอิสระกับอำนาจนิยมในระบอบราชการข้างในมีปัญหาอะไรเหมือนกันซึ่งคนนอกไม่รู้ หลังจากนั้นก็มีการแสดงออกโดยการยิงตัวเองดังกรณีคุณคุณากร จึงถูกตั้งคำถามว่าข้างไหนรักใครกลมเกลียวกันดีหรือที่จริงแล้วถูกคุมจนไม่สามารถส่งเสียงออกมาให้คนนอกรับรู้ ตนก็ไม่ทราบเช่นเดียวกันปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรกันแน่ จึงต้องมีการคิดกันต่อไป
- นอกจากนี้ ศาลยุติธรรม ยังไม่ยึดโยงกับอำนาจอีกสองสาขา คืออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร
คุณสมชาย หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน เห็นว่ากรณีผู้พิพากษายิงตัวเองในศาลจังหวัดยะลาถือเป็นสัญญาณเตือนวงการตุลาการหรือกฎหมาย รวมไปถึงเตือนสังคมไทยอีกด้วย ว่ามีปัญหาที่ควรตรวจสอบระบบของศาล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหากมองในแง่ดีเราจะเห็นโอกาสที่จะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ปฎิกิริยาต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนถึงปัญหามโนสำนึกของคนในสังคม โดยเฉพาะสื่อและคอลัมนิสต์บางคน ตามหลักการสิทธิมนุษยชนนั้นสิทธิในชีวิตคือสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องเคารพนับถือเพื่อที่จะไม่ให้ผู้กระทำละเมิดต่อตนเองหรือกระทำละเมิดต่อผู้อื่น การที่คนยิงตัวพยายามฆ่าตัวตาย ควรได้รับความเห็นใจและเข้าใจ มิใช่เยาะเย้ยถากถาง ซ้ำเติม ซึ่งเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ดังนั้นเราควรต้องกระตุ้นมโนสำนึกในสังคมไทยให้ตระหนักแก้ไขในส่วนนี้
คุณสมชายฯ ได้เสนอคราวๆว่า การแก้ปัญหาควรปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ฝ่ายตุลาการเท่านั้น ได้แก่การหันเหคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก การปฏิรูปตำรวจ การให้พนักงานอัยการควบคุมดูแลการสอบสวน สำหรับในชั้นศาลนั้น ศาลยุติธรรมนั้น ผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษาจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี เพื่อให้มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์และคุณธรรมเหมาะสม โยก่อนบรรจุเป็นผู้พิพากษา จะต้องเปิดเผยชื่อและประวัติต่อสาธารณะเพื่อให้ตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติ โดยเฉพาะคุณธรรมที่จะเป็นผู้พิพากษาหรือไม่
คุณอธึกกิต แสวงสุข หรือ “ใบตองแห้ง” (สื่อมวลชน) เห็นว่า ตนไม่ใช้คนที่เรียนจบกฎหมายแต่อย่างใด เรียนรู้กฎหมายจากการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ จึงเป็นการมองจากบุคคลภายนอก ปัญหาเกิดจากการแก้กฎหมายในปี 40 และ 49 ในเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาโดยให้อธิบดีสามารถทำความเห็นแย้งได้
รศ.ดร.ปกป้องฯ สรุปปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้ เกิดจากการประทะกัน 2 แนวคิด
- แนวคิดแรก ของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ก็ย่อมเห็นว่า ไม่อยากให้บุคคลใดเข้ามาแทรกแซง จะทำให้คำพิพากษามีอิสระมากขึ้นในการใช้แนวคิดของตนเอง
- แนวคิดของอีกฝั่ง มองว่า อาจเห็นว่า ผู้พิพากษาใหม่ๆ ขาดประสบการณ์ ทำให้คำพิพากษาไม่มีประสิทธิภาพ ผู้พิพากษาผู้ใหญ่จึงขอลงไปดูหน่อย เพื่อให้มีแนวทางคำพิพากษาไปในแนวทางเดียวกัน
อาจารย์เข็มทองฯ เห็นว่า หากเปิดให้มีการถามคำถาม คำตอบ และความโปร่งใสก็จะตามมา
คุณสมชายฯ เสนอว่า ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่อง หลีกและแนวคิดของศาลต่อการดำเนินคดีอาญาตามหลักการดำเนินคดีโดยรัฐ ในขณะที่ฝ่ายรัฐมีตำรวจ พนักงานสอบสวน อัยการที่มีอำนาจ ความรู้ความสามารถ เครื่องมือต่างๆพร้อม แต่จำเลย โดยเฉพาะคนยากจน กลุ่มเปราะบางหรือคนชายขอบ ไม่มี ไม่สามารถจ้างทนายความที่มีความรู้ความสามารถใรการต่อสู้คดี ศาลจึงควรมีบทบาทในการค้นหาความจริงด้วย และบทบาทที่สำคัญคือตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ และพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ และพิพากษาคดีไปตามหลัก Presumption of Innocence โดยหากอัยการไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลย จนปราศจากข้อสงสัยอันสมควรได้ ก็ไม่ควรลงโทษ เช่น ในคดีที่จำเลยอ้างว่าถูกตำรวจซ้อมทรมาน ศาลมักอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ต้องหามาก่อนจึงไม่น่าจะทำ หรือการรับฟังบันทึกคำรับสารภาพหรือคำพยานที่ได้จากผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งไม่มีสิทธิพบกับทนายความ ญาติเยี่ยมไม่ได้ โดยอ้างว่าเป็นคำให้ถ้อยคำทันทีทันใด ไม่ได้เตรียมหรือซักซ้อม น่าจะเป็นความจริงเชื่อถือได้ โดยไม่ได้พิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะจำยอมถฺอถูกบังคับขู่เข็นหรือทรมาน นอกจากนั้นศาลอุทธรณ์ ควรเป็นศาลพิจารณา ในกรณีที่เห็นข้อเท็จจริงต่างจากศาลชั้นต้นหรือไม่ชัดเจน ต้องนั่งพิจารณาสืบพยานด้วยตนเอง
หมายเหตุ
บทความฉบับนี้เป็นเพียงบันทึกบางส่วนจากงานเสวนา
เขียนและเรียบเรียงโดย พรพิมล มุกขุนทด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม