วันที่ 16 กันยายน 2562 นายวุฒิ บุญเลิศ ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมในผืนป่าแก่งกระจาน ได้ยื่น “ข้อเสนอของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมในผืนป่าแก่งกระจานต่อการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก” ต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ปรึกษาคณะทำงานรัฐมนตรีฯ
มีข้อเรียกร้องสามข้อคือ
1. รัฐควรจะทบทวนปรับปรุง และจัดทำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกโดยจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิมซึ่งอาศัย และบำรุงรักษาผืนป่าแก่งกระจานมาโดยตลอด
2. ขอให้ชุมชนดั้งเดิมทุกกลุ่มได้รับความรู้เรื่องมรดกโลกอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการศึกษา สำรวจ วางแผนการบริหารจัดการ โดยมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ
3. ขอให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติของหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ยังคงมีทัศนคติ และแนวทางปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเช่น การเผาทำลายที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน กรณีการบังคับให้สูญหายของนายพอละจี รักจงเจริญ การบังคับให้ชุมชนกะเหรี่ยงต่างๆ ออกจากผืนป่าอีกหลายชุมชน การสร้างมาตรการจำกัดการใช้ประโยชน์ในการเก็บของป่าเพื่อหาเลี้ยงชีพ การจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เป็นมรดกโลก
โดยเน้นย้ำว่า
“พวกเราจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐยุติการดำเนินการที่จะทำให้การดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติพันธุ์ต้องกระทบกระเทือน ซึ่งพวกเราให้ทางรัฐบาลจัดกระบวนการเพื่อเตรียมทำข้อเสนอของการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก โดยปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวทางทั้ง 3 ข้อข้างต้น ซึ่งพวกเราเชื่อว่าหากได้ดำเนินการตามแนวทางเช่นนี้แล้ว จะสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมรดกโลก และยังสอดคล้องกับแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีด้วย”


