[:th]CrCF Logo[:]

ปปท. พร้อมชี้มูลประเด็นปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของหัวหน้าแก่งกระจานในวันบิลลี่หายตัวไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่คดีเผาบ้านปู่คออี้ไม่คืบหน้า

Share

ป.ป.ท. พร้อมชี้มูลประเด็นการปฏิบัติติหน้าที่ไม่ชอบของหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานในวันที่บิลลี่ หายตัวไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่เผาบ้านปู่คออี้ไม่คืบหน้า

ป.ป.ท. เตรียมประชุมในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ชี้มูลประเด็นการปฏิบัติติหน้าที่ไม่ชอบของหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานในวันที่บิลลี่ นายพอละจี รักจงเจริญหายตัวไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว  ส่วนเรื่องการวางเพลิงเผาบ้านนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ยังอยู่แค่คณะอนุกรรมการไต่สวน

วันที่ 21 สิงหาคม 2562 เวลา 09.30 น. ณ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน สภาทนายความ พร้อมด้วยนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ ภรรยาของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ และทนายความเข้าพบพันตำรวจโทสิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ๒ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการชี้มูลประเด็นการปฏิบัติติหน้าที่ไม่ชอบของหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานในวันที่บิลลี่ หายตัวไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วและความคืบหน้าคดีการวางเพลิงเผาบ้านนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้

จากกรณีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 นางสาวพิณนภาได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อให้มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้นนำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในกรณีที่จับกุมนายพอละจีเนื่องจากมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง แต่ไม่ส่งตัวนายพอละจีให้พนักงานสอบสวน แต่กลับปล่อยตัวไป ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นนายพอละจีอีกเลย ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรในวันที่นายพอละจีหายตัวไป ซึ่งนางสาวพิณนภาได้ติดตามความคืบหน้าของการสอบสวนดังกล่าวมาโดยตลอด ทราบว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการสอบคำให้การเพิ่มเติมกับทั้ง 3 ปาก โดยครบถ้วนแล้ว แต่ยังไม่มีการแจ้งความคืบหน้าแต่อย่างใด

นายสุรพงษ์ กองจันทึก เปิดเผยว่า ได้รับการชี้แจงจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่าได้ดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานของทั้งผู้ร้อง และผู้ถูกร้องเสร็จสิ้นแล้ว โดยทางคณะอนุกรรมการไต่สวนจะส่งสำนวนพร้อมสรุปความเห็นเสนอให้คณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาลงมติชี้มูลว่ามีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือไม่ ในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 นี้ และจะแจ้งมติการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบโดยเร็ว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า กรณีนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพร้อมพวก วางเพลิงเผาทรัพย์บ้านเรือนที่พักอาศัยตั้งแต่ปี 2554 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 และสำนวนได้ถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ภาค 7 และคณะกรรมการบริหารพิจารณา และมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนรับผิดชอบคดีดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าจากคณะอนุกรรมการ ทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาชัดเจนตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2561 ว่า หมู่บ้านใจแผ่นดิน และบางกลอยบนที่ปู้คออี้อยู่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่มาเนิ่นนานแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์ของปู่คออี้จริง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้กรมอุทยานแห่งชาติฯชดใช้ค่าเสียหายให้กับนายคออี้และพวก

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ว่า ขอให้ทาง ป.ป.ท. เร่งรัดการดำเนินการทั้งสองคดี ซึ่งล่าช้ามามากแล้ว อีกทั้ง ป.ป.ท. มีอำนาจชี้มูลเพียงการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 157ประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น ในส่วนของการกักขัง หน่วงเหนี่ยว การควบคุมตัว การฆ่าผู้อื่น วางเพลิงเผาทรัพย์ และความผิดอื่นๆ ต้องถูกส่งไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการต่อไป ซึ่งปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษมีมติรับเรื่องนี้ไว้ดำเนินการแล้ว

ด้านนางสาวพิณนภากล่าวว่า รอมากว่า 5 ปีแล้ว คดีล่าช้ามาก จนถึงตอนนี้ยังไม่มีมติที่ประชุมออกมาให้ทราบเลย ทั้งที่ติดตามความคืบหน้าตลอด ขอความเป็นธรรมให้กับบิลลี่และครอบครัวด้วย

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมที่ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 081 642 4006

หมายเหตุฯ กรณีการหายตัวไปของบิลลี่ ยังไม่สามารถตั้งเป็นข้อหาความผิดทางอาญาได้เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอาญาในข้อหาความผิดเรื่องการบังคับให้สูญหาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการเพื่อประกันว่า เนื้อหาสาระของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ จะนำมากำหนดไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …….. โดยครบถ้วน เพื่อให้ประเทศไทยในฐานะภาคีของอนุสัญญาทั้งสองฉบับ สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาทั้งสองฉบับอย่างสมบูรณ์