ประเทศไทยได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยในวันรำลึกของชนเผ่าพื้นเมืองสากลด้วยทุกปี สำหรับปีนี้มีการจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 8-10 สิงหาคม 2562 เนื่องในโอกาสนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ร่วมกันจัดทำเป็น Infographic เป็นสื่อรณรงค์เพื่อร่วมกันรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ชาวกะเหรี่ยง อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้หวงแหนดูแลไว้เพื่อไม่ให้มีการทำเหมืองแร่ถ่านหินที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าว
ที่มาของการประกาศปีทศวรรษสากลชนเผ่าพื้นเมืองนั้น เกิดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียนแดงในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย และชาวเมารีในนิวซีแลนด์ โดยชนเผ่าเหล่านั้นได้ร่วมกันออกมาต่อสู้เรียกร้องกลุ่มประเทศต่างๆเหล่านี้ ว่าเป็นผู้บุกรุกดินแดนของตนและละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนและแสดงจุดยืนว่า ผืนแผ่นดินเป็นของตนและถูกคนภายนอกเข้ารุกราน ดังนั้น สิทธิดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองและคุ้มครอง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มอินเดียนแดงจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำประเด็นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าอินเดียนแดงกับรัฐบาลสหรัฐเข้าไปสู่เวทีการพูดคุยของสันนิบาตแห่งชาติ (The League of Nation) ในปี 1920ที่ประชุมมีข้อถกเถียงมากมายเพื่อให้ได้ข้อยุติตามที่ชนเผ่าอินเดียนแดงเรียกร้อง ซึ่งทำให้ประชาคมโลกรับรู้และสนใจประเด็นชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น
ในปี 1970 สหประชาชาติโดยผู้แทนพิเศษ นายโจเซ มาร์ติเนส โคโบ ทำการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาประชากรชนเผ่าพื้นเมือง ผลการศึกษาทำให้มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ชนเผ่าพื้นเมืองและได้เรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติทำงานจริงจังมากขึ้น จนทำให้นำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยประชากรชนเผ่าพื้นเมือง (Working Group on Indigenous Population -WGIP) ในปี 1992 คณะทำงานชุดนี้ได้ดำเนินกิจกรรมในการสนับสนุนและปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ด้วยการประทศวรรษสากลของชนเผ่าพื้นเมืองในปี 1995 -2004 โดยมีชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศต่างๆ 13 กลุ่มได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์
ในปี 1993 องค์การสหประชาชาติ(UN) ได้ประกาศเป็นปีแห่งชนเผ่าพื้นเมืองสากลและมีการประกาศว่าจัดตั้งเวทีถาวรเรื่องชนเผ่าพื้นเมือง (Permanent Forum on Indigenous Issues) สำหรับการทำงานชนเผ่าโดยตรงในระบบงานขององค์การสหประชาชาติ และในปี 2000 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN-ECOSOC) ได้มีการจัดประชุมเพื่อจัดตั้งเวทีถาวรชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งส่งผลทำให้มีเวทีที่เท่าเทียมกับตัวแทนของรัฐในหน่วยงานถาวรหน่วยงานหนึ่งในระบบ UN ชนเผ่าพื้นเมืองได้อาศัยกลไกเวทีถาวรชนเผ่าพื้นเมืองในรณรงค์ผลักดันประเด็นปัญหาของชนเผ่าพื้นเมืองในเวทีสหประชาชาติ ส่งผลให้เกิดการจัดทำร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ขณะนี้อนุสัญญาฉบับนี้ได้ผ่านคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human right Council) แล้ว ได้รับฉันทามติจากสมัชชาสหประชาชาติให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศภายในเดือนกันยายน 2007
ที่มา: https://prachatai.com/journal/2007/08/13757














