เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 เวลา 20:55 น. เกิดเหตุบุกโจมตีจุดตรวจร่วมสามฝ่าย ฐานที่ทำการชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ที่ บ. กอแลปิเละ ต. ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนกอแลปิเละโดยผู้ก่อเหตุได้ปฏิบัติการเข้าโอบล้อมจุดตรวจดังกล่าว ก่อนขว้างระเบิด 4 ลูก และยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารและอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ พร้อมขโมยอาวุธปืนจำนวน 5 กระบอก ก่อนจะหลบหนีไป จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 รายได้แก่ นายอุสมาน ยาซารี ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) นายอับดุลฟาต๊ะ เสนเหรม ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จ.ส.อ.ชูธวัช มาศศรี อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และ อุสมาน ตาสาเมาะ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.)และได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลปัตตานีจำนวน 2 ราย ได้แก่ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) อามีน มะสาแม และนายไพศาล มูซอดี โดยผู้ก่อเหตุได้เผาร่างของผู้เสียชีวิตสองคนในที่เกิดเหตุ
นับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2562 รายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นระหว่างคู่ขัดแย้ง คือเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มติดอาวุธรวม 20,342 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 13,644 คน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรในท้ายแถลงการณ์ขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น และขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
- การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน จชต. ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ประการใด เกิดจากหรือกระทำต่อฝ่ายใดย่อม ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลกระทบระยะยาวต่อครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด ทั้งในแง่ของผลกระทบต่อจิตใจ ความมั่นใจในความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม จึงขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงและการกระทำที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกัน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายใดๆ ในบริเวณพื้นที่สาธารณะ โรงเรียน ตลาด วัดหรือมัสยิด ชุมชน สถานที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยหรือ สัญจรไปมา
- ในการสอบสวนการกระทำผิด ขอให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม (Fair Trial) โปร่งใส ตามหลักสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยกระบวนการดังกล่าวต้องเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมอย่างเคร่งครัด กำหนดมาตรการที่ชัดเจนและจัดตั้งกลไกป้องกันการซ้อมทรมานและการกระทำใดๆที่อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่ารัฐทำหน้าที่ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ขอให้พิจารณายุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย เนื่องจากการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษเพื่อปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัย ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลโดยฝ่ายตุลาการตามหลักนิติธรรม ทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการซ้อมทรมานในระหว่างการค้น จับ และควบคุมตัว
- ขอให้จัดมาตรการชดเชย เยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวของผู้สูญเสียหรือเสียหายเนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างพอเพียงและเหมาะสม ทั้งทางด้านค่าชดเชยและการเยียวยา ฟื้นฟูสภาพจิตใจของครอบครัวและชุมชนใกล้เคียง อีกทั้งสร้างมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนของคนในพื้นที่ให้เกิดความมั่นใจในการดำรงชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ควรช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อของความรุนแรง โดยการรับบุตรหลานหรือบุคคลในครอบครัวเป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง
- ขอให้ทุกฝ่ายแสวงหาทางออกของความขัดแย้งด้วยกระบวนการสันติวิธี ยุติการแก้แค้น ทดแทน ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดความรุนแรงไม่จบสิ้น เจรจาหาเพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย และนำไปสู่ข้อยุติความขัดแย้งโดยวิถีทางการเมือง สร้างความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยรัฐต้องสร้างความไว้วางใจจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อร่วมกันยุติการใช้ความรุนแรงและสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
องค์กรร่วมลงนาม
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- กลุ่มด้วยใจ