[:th]CrCF Logo[:]

ศาลปราจีนบุรี นัดสืบพยาน ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อตำรวจซ้อมทรมาน ถูก ตร. ฟ้องกลับ 9-11 กค. 2562

Share

ใบแจ้งข่าว 9-11 ก.ค. 2562 ศาลจังหวัดปราจีนบุรีนัดสืบพยาน กรณีนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อคดีทรมานฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่กลับกลายเป็นจำเลย เพราะถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องกลับ 

ในวันที่ 9, 10 และ 11 กรกฎาคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดปราจีนบุรีนัดสืบพยานคดีหมายเลขดำที่ อ.1285/2561 ซึ่ง ฝ่ายโจทก์ (ดาบตำรวจฯ) ประสงค์จะสืบพยาน 2 ปาก กล่าวคือ ตัวโจทก์และเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งที่ร่วมกับโจทก์นำตัวจำเลย (ฤทธิรงค์) ไปค้นของกลางในวันเกิดเหตุ (28 มกราคม 2552) ส่วนฝ่ายจำเลยประสงค์จะสืบพยาน 2 ปาก กล่าวคือ ตัวจำเลย (นายฤทธิรงค์) และ นายสมศักดิ์ บิดานายฤทธิรงค์

ที่มาของคดี เนื่องจากเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจยศดาบตำรวจที่ถูกนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ฟ้องว่าได้ร่วมทำร้ายร่างกายตน เป็นจำเลยที่ 7 ในคดีที่นายฤทธิรงค์ฯฟ้องว่า เมื่อปี 2552 ตำรวจชุดสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีซ้อมทรมานตนระหว่างสอบสวน และคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายตำรวจยศพันโทที่ซ้อมทรมานนายฤทธิรงค์ฯไปแล้ว และคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยมีกำหนดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.00 น.

แต่เนื่องจากในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้องดาบตำรวจนายนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 7 เพราะศาลตัดสินว่าขาดอายุความเนื่องจากการทำร้ายร่างกายนายฤทธิรงค์ฯเพียงเล็กน้อยโดยดาบตำรวจนายนี้จึงมีอายุความฟ้องคดีเพียง 1 ปี เป็นเหตุให้ดาบตำรวจคนดังกล่าวจึงได้ฟ้องกลับนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ในข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1285/2561 ที่สร้างภาระให้กับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นอย่างมาก จากผู้เสียหายจากการทรมานตกเป็นจำเลยที่ตำรวจฟ้องกลับ และอาจเป็นการฟ้องกลั่นแกล้งให้ผู้เสียหายจากการทรมานมีภาระและความกังวลใจในการเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยคดีที่ตำรวจกลุ่มนี้ทำร้ายร่างกายนายฤทธิรงค์ฯ เมื่อปี 2552 นั้นนอกจากจะฟ้องคดีอาญาขณะนี้ นายฤทธิรงค์ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อปี 2560 โดยคดีแพ่งนี้นายฤทธิรงค์ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดในคดีเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 20,800,000 บาท อันเป็นค่าความเสียหายต่อร่างกายจากการถูกทำร้ายร่างกาย ค่าเสียหายจากชื่อเสียงเกียรติยศและ ค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพในร่างกาย พร้อมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติลบล้างหรือถอนประวัติอาชญากรรมของนายฤทธิรงค์ฯ ดูรายละเอียดที่ https://bit.ly/2LHdY9C คดีแพ่งนี้มีนัดหมายครั้งต่อไปในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00น. ณ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้

ทั้งนี้คดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญและถือเป็นคดีฟ้องเพื่อปิดปากเหยื่อซ้อมทรมาน ถูกตำรวจฟ้องกลับ ซึ่งมีหน่วยงาน และองค์กรต่างๆให้ความสนใจและเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีเป็นอย่างมาก

สำหรับสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถติดตามเรื่องราวเหตุการณ์ความเป็นมาของคดีนี้และคดีอื่นๆของนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ได้ที่ https://crcfthailand.org/?s=ฤทธิรงค์

ข้อมูลเพิ่มเติม

เหตุที่ดาบตำรวจดังกล่าวได้ยื่นฟ้องนายฤทธิรงค์ฯ เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1285/2561 นั้น เนื่องมาจากเมื่อวันที่10 มิถุนายน 2558 นายฤทธิรงค์ฯ ได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี ในคดีหมายเลขดำที่ อ.925/2558 กล่าวหาว่าตนขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมทำร้ายร่างกายนายฤทธิรงค์ฯ โดยใช้มือตบศีรษะนายฤทธิรงค์ฯอย่างแรงเป็นเหตุให้นายฤทธิรงค์ฯได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ นั้นไม่เป็นความจริง และกล่าวหาอีกว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 นายฤทธิรงค์ฯได้เบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีในคดีอาญาที่นายฤทธิรงค์ฟ้องตำรวจชุดจับกุมและชุดสอบสวนว่าซ้อมทรมาน ในฐานะโจทก์และพยานว่าดาบตำรวจนายนี้ได้ใช้มือตบศีรษะของนายฤทธิรงค์ฯ

ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2562 ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวและมีคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

นายสมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของนายฤทธิรงค์ฯกล่าวว่า ลูกชายของตนซึ่งเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมาตั้งแต่ปี 2552 แม้จะมีความรู้สึกว่ายากล าบากมากในการแสวงหาความยุติธรรมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับโทษตามที่กระท าความผิด และคดีนี้เสมือนเหยื่อซึ่งถูกเจ้าหน้าที่กระทำต้องถูกกระทำซ้ำอีกโดยตกเป็นจำเลยในคดีนี้ก็ตาม แต่ลูกชายของตนก็พร้อมที่จะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยจะนำเรื่องที่ถูกดาบตำรวจคนนี้ตบทำาร้ายจริงในวันเกิดเหตุมาแสดงต่อศาล ยืนยันความจริงตามที่เคยให้การมาแล้วต่อพนักงานสอบสวนเมื่อปี 2552 และต่อ ป.ป.ท. เมื่อปี 2556

นายสมศักดิ์ฯ กล่าวอีกว่า ตนยังมีข้อสงสัยเป็นอย่างมาก ว่าเหตุใดดาบตำรวจคนนี้ไม่ยอมรับความจริง แต่กลับมาฟ้องคดีว่าไม่มีการตบทำร้ายลูกชายของตน เพราะในคดีที่ลูกชายตนเป็นโจทก์ฟ้องตำรวจหลายนาย ซึ่งดาบตำรวจคนนี้เป็นจำเลยที่ 7 นั้น ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ทั้งคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า ที่ยกฟ้องตำรวจคนนี้เป็นเพราะคดีขาดอายุความ มิใช่ไม่มีการทำร้ายลูกของตน โดยศาลมีคำวินิจฉัยได้ความว่า คดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 7 คงมีมูลเฉพาะความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น (ทำร้ายนายฤทธิรงค์ โจทก์) โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานดังกล่าวจึงมีอายุความหนึ่งปีเมื่อโจทกนำคดีนี้มาฟ้องเกินกว่าหนึ่งปี คดีความผิดฐานนี้จึงเป็นอันขาดอายุความ

อนึ่งจากการศึกษาของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่า เหยื่อของการทรมานหลายราย หลังจากเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ตนถูกทรมาน แสวงหาความเป็นธรรมโดยการร้องเรียน แจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดแล้ว กลับถูกเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทแจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ หรือเบิกความเท็จ ซึ่งถือเป็น “คดีปิดปาก” ไม่ให้เหยื่อของการทรมานเข้าถึงความยุติธรรม หรือไม่กล้าร้องเรียนการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ อันจะมีผลทำให้ปัญหาการซ้อมทรมานไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีมาตรการอย่างจริงจัง ในการคุ้มครองเหยื่อหรือพยานของการซ้อมทรมาน เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร 089-6222474