[:th]CrCF Logo[:]

เชิญสื่อ และผู้สนใจเข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” พร้อมงานเสวนาวิชาการ

Share

ในเดือนพฤษภาคม 2554 เกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภายใต้การปฏิบัติการ “ยุทธการตะนาวศรี” ได้ใช้กำลังบังคับให้ปู่คออี้ และชาวกะเหรี่ยงที่เกิดและอาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินในผืนป่าแก่งกระจานมาแต่ดั้งเดิม ให้ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่บางคนได้รื้อ ทำลาย เผาบ้านที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงเกือบร้อยหลัง ทรัพย์สินในบ้าน ยุ้งฉาง อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน รวมถึงเมล็ดพันธุ์พืช ได้รับความเสียหาย และถูกบังคับอพยพ โยกย้าย มาอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยล่าง ในปัจจุบัน ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ทางราชการชดใช้ความเสียหายให้แก่ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนแล้ว

การถูกบังคับโยกย้าย มีผลทำให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวประสบปัญหาด้านการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิต และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ขาดที่ดินทำกิน และปัจจัยในการดำรงชีวิต บางส่วนพยายามกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่เดิม แต่ต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกแผ้วถางอุทยานแห่งชาติ หลายคนต้องกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดินกำลังจะสูญเสียอัตลักษณ์ ความเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม วิถีชีวิต วัฒนธรรมในการดำรงชีวิตของตนที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ส่วนนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนกะเหรียง ได้ถูกบังคับให้สูญหายไป ยังไม่ทราบชะตากรรมจนบัดนี้ กว่า 5 ปีแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยยังไม่ยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ และสิทธิชุมชน รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

หนังสือ “ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” ซึ่งเรียบเรียงมาจากเอกสารและคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมา สะท้อนเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่ต้องประสบกับชะตากรรมอันขมขื่น จากการกระทำของอำนาจที่มาจากภายนอกชุมชม

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง บริเวณนี้เป็นเขตนิเวศสำคัญที่เชื่อมต่อกับผืนป่าอื่นๆ บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี ความโดดเด่นนี้ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกทางธรรมชาติ (World Heritage Tentative List) ในปี พ.ศ. 2554 หรือปี ค.ศ. 2011 เอกลักษณ์ของผืนป่าผืนนี้ มิได้มีเพียงพืชพันธุ์ สัตว์ป่า ภูมิประเทศและอากาศของผืนป่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวกะเหรี่ยงหลายชุมชน รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงบ้านบาวกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่ได้อยู่อาศัยเป็นเนื้อเดียวกับผืนป่าแห่งนี้ในฐานะมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับมนุษย์กลุ่มอื่นมาหลายชั่วอายุคน การดำรงอยู่ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา ไม่อาจแบ่งแยกหรือพรากไปจากผืนป่าแก่งกระจานผืนนี้ได้ เพราะมันเป็นแผ่นดินกลางใจของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

การเสนอขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกของรัฐไทย โดยไม่คำนึงถึงการมีอยู่ของมนุษย์กลุ่มนี้ กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกต้องและยุติธรรมหรือไม่ เป็นคำถามที่รัฐไทยต้องควรมีคำตอบที่ชัดเจนต่อพวกเขาและสังคมโลก

ในโอกาสที่คณะกรรมการมรดกโลก สหประชาชาติ กำลังพิจารณาคำขอของรัฐบาลไทยเพื่อขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร” องค์การมหาชนที่ทำงานด้านวิชาการ ฐานข้อมูลและการขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ และ “สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์-มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการที่ทำงานเรื่องชนพื้นเมืองและทางเลือกการพัฒนา จึงได้ร่วมมือกันดำเนินการจัดกิจกรรม”งานเปิดตัวหนังสือ : ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และงานเสวนาวิชาการ: ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนแก่งกระจานเป็นมรดกโลกเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนี้ และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงพันธกรณีและหน้าที่ของรัฐไทยมีอยู่ในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยใช้กรณีของชาวกะเหรียงในกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นสาระในการนำเสนอและพูดคุยในครั้งนี้

กำหนดการ
เปิดตัวหนังสือ: ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ดำเนินรายการโดย คุณสมศรี หาญอนันทสุข รองประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
– เวลา 12.30 – 13.00 น. ลงทะเบียน
– เวลา 13.00 – 13.15 น. ชมการแสดงดนตรีพื้นบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน พร้อมรับฟัง“เสียงจากชาวบ้านใจแผ่นดิน”
– เวลา 13.15 – 13.30 น. กล่าวเปิด โดยคุณสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– เวลา 13.30 – 13.40 น.  “เสียงจากชาวบ้านกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน” และ มึนอ พิณนภา พฤกษาพรรณ
– เวลา 13.40 – 14.00 น. ผู้เขียน/เรียบเรียงหนังสือ โดย คุณทิพย์วิมล ศิรินพงศ์ และคุณพรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์
– เวลา 14.00 – 15.20 น. ข้อเสนอแนะ นักวิชาการ ชาวบ้าน

  1. อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
  2. ดร.นฤมล อรุโณทัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เสวนาวิชาการ : ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ดำเนินรายการโดย คุณสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม

  • เวลา 15.20 – 16.40 น. สถานการณ์ ความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก โดยนักวิชาการ ชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ และNGO
  1. อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
  2. คุณเตือนใจ ดีเทศน์ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  3. ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  4. อาจารย์สุนี ไชยรส มหาวิทยาลัยรังสิต
  • เวลา 16.40 – 17.00 น. คุณสมชาย หอมลออ สรุปประเด็นการพูดคุย/เปิดให้ถามตอบ

หมายเหตุ กำหนดการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

แผนที่การเดินทาง

Map_Thai

จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ เข้าร่วมรับฟังงานเปิดตัวหนังสือ และงานเสวนาวิชาการ ตามวันเวลาที่กล่าวมาข้างต้น ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ที่แนบมานี้ https://www.facebook.com/CrCF.Thailand/posts/2249311951782745

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่ม นางสาวพรพิมล มุกขุนทด 096-7569169[:]