[:th]CrCF Logo[:]

แถลงการณ์ CrCF: ขอให้กสทช. ตรวจสอบและชี้แจง เรื่องการตรวจสอบใบหน้าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในจังหวัดชายแดนใต้

Share

51143410_2014117391968870_4456048957809754112_n

แถลงการณ์ ขอให้กสทช. ตรวจสอบและชี้แจง

เรื่องการตรวจสอบใบหน้าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในจังหวัดชายแดนใต้

 

เผยแพร่วันที่ 25 มิถุนายน 2562

 

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562  ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) ได้รับข้อความทางโทรศัพท์มือถือว่า ให้ทุกคนที่ต้องการใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่ดังกล่าว ไปลงทะเบียนซิมการ์ดโดยวีธีการตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ ของตน ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือของตนได้ โดยข้อความดังต่อไปนี้:

“กอ.รมน.ภาค4 ขอให้ผู้ใช้บริการใน 3จว.ชายแดนใต้+4 อำเภอสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า/อัตลักษณ์ ภายใน 31ต.ค.62 เช็กสถานะซิม กด*165*5*เลขบัตรปชช.# โทรออก หากไม่ดำเนินการในวันที่กำหนด จะไม่สามารถใช้บริการได้ฟังข้อมูลเพิ่มเติมกด*915653 ภาษายาวีกด*915654”

ทั้งนี้ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมาชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการบังคับใช้ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 9 เม.ย 2562 โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการขโมยตัวตนบุคคลอื่นไปทำธุรกรรมทางการเงินหรือก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่า:

  1. ประกาศดังกล่าวของกสทช.เรื่อง “การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” มิได้ระบุไว้แต่อย่างใดว่า ผู้ใช้บริการที่ลงทะเบียนจำเป็นต้องถ่ายภาพใบหน้าเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ตนเอง หมวด 3 ข้อ 9 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีของบุคคลธรรมดา ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องให้ข้อมูลเพียงแค่เลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง ชื่อและสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ วันที่เปิดใช้บริการ และชื่อและสถานที่ตั้งของจุดให้บริการ เท่านั้น
  2. ประกาศดังกล่าวของ กสทช. ไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่แล้วจะต้องลงทะเบียนผู้ใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลใหม่ แต่อย่างใด เป็นการกำหนดให้โดยระบบดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่เท่านั้น แต่ในการนำประกาศดังกล่าวไปใช้ในสาม จังหวัดชายแดนใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลากลับบังคับให้ทุกคนทั้งผู้ลงทะเบียนใช้บริการเก่าและใหม่ ต้องนำซิมการ์ดไปลงทะเบียนใหม่โดยการตรวจสอบใบหน้า (Face Recognition) เท่านั้น มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้
  3. ข้อ 13 ของประกาศระบุว่า หากมีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบอื่นใด ผู้ให้บริการต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารของผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือใดออกมาชี้แจงมาตรการดังกล่าวอย่างชัดเจน
  4. ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยังขาดความโปร่งใสในการแจ้งผู้ใช้โทรศัพท์ในพื้นที่ว่า ระเบียบที่ออกใหม่นี้จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลแบบใดในโทรศัพท์ส่วนบุคคลบ้าง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ที่ไหน โดยใคร มีใครสามารถเข้าถึงได้บ้าง และผู้ใช้บริการสามารถขอลบข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่ อีกทั้งข้อความที่ส่งมาโดยใช้ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทดังกล่าวปรากฎว่า เป็นคำขอจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอรมน.) ในการจดทะเบียนซิมใหม่ด้วยระบบการใช้รูปถ่ายใบหน้า ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความสงสัยว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รับนโยบายในการลงทะเบียนซิมการ์ดโดยการตรวจสอบใบหน้ามาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือไม่

ข้อเสนอแนะ

  1. ขอให้กสทช. ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามประกาศดังกล่าวของกสทช.เรื่อง “การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” หรือไม่ หรือครอบงำและบงการโดยหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการปฏิบัติของผู้ให้บริการ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าเพื่อพิสูจน์และรับรองบุคคลนั้นหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของประชาชนหรือไม่?
  2. ขอให้ กสทช. ออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร และการเลือกปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น และรับรอง และทำให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียนใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับการเก็บรักษา หรือทำลาย โดยทำให้มั่นใจว่าที่ผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
  3. ขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ทบทวนการใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในการพิสูจน์และรับรองบุคคลเพื่ออนุญาตให้ใช้ซิมโทรศัพท์ แม้เทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์หลายประการ แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง ในปัจจุบัน เทคโนโลยีนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการและมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การนำมาใช้ในการหาข้อมูลหรือเก็บหลักฐานประกอบปฏิบัติการข่าวกรองมักนำไปสู่การคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางเชื้อชาติ (Racial Profiling) หากไม่ใช้อย่างระมัดระวัง อาจทำให้เกิดการจับและลงโทษคนผิด นอกจากจะนับเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติยังสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนขาดความไว้วางใจต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก

 

รายละเอียดติดต่อ

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร. 062-286-8688

TAG

RELATED ARTICLES