[:th]CrCF Logo[:]

ห้าปีการหายไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ บทพิสูจน์ความล้มเหลวของรัฐไทยในการสอบสวนคดี และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

Share

แถลงการณ์: ห้าปีการหายไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ บทพิสูจน์ความล้มเหลวของรัฐไทยในการสอบสวนคดีและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

วันนี้ (17 เมษายน 2562) เป็นวันครบรอบห้าปีของการที่นายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่เชื่อได้ว่าถูกเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งบังคับให้สูญหายไป ห้าปีที่ผ่านไปเป็นห้าปีของความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของกระบวนการยุติธรรมและรัฐไทยในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษและในการให้ความคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

ความล้มเหลวดังกล่าวเกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่การบังคับบุคคลให้สูญหายถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คดีนี้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้รับการแจ้งความถึงการหายตัวไปของบิลลี่ตั้งแต่วันแรกๆ และเป็นคดีที่ได้รับความสนใจของสาธารณะชน ทั้งในประเทศและประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าบิลลี่หายตัวไปหลังจากถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อพิพาทกับชุมชนกะเหรี่ยงของบิลลี่เกี่ยวกับพื้นที่หมู่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่บรรพบุรุษของชาวกะเหรียงและบิลลี่ได้อยู่อาศัยดำรงชีวิตอย่างสันติสุข เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมาหลายชั่วอายุคน ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรเผาบ้านเรือนและยุ้งฉางข้าว แล้วใช้กำลังบังคับให้โยกย้ายออกไปในปี 2553-2554 โดยอ้างว่าเป็นชนกลุ่มน้อยจากนอกประเทศเข้ามาบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แก่งกระจาน จะได้ใช้อำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีการหายไปของบิลลี่อย่างจริงจังนับแต่วันที่ที่ญาติของบิลลี่ได้แจ้งความในวันที่ 18 เมษายน 2557 โดยรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำผิด ไม่ปล่อยให้เสียหายหรือสูญหาย รวมทั้งสอบพยานบุคคลที่จับกุมหรือพบเห็นบิลลี่ครั้งสุดท้าย ตรวจสอบพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการตรวจคราบเลือด (มนุษย์) ในรถยนต์ที่เกี่ยวข้องทุกคันของเจ้าหน้าที่อุทธยานแห่งชาติแก่งกระจานกลุ่มดังกล่าวโดยมิชักช้าแล้ว ก็น่าจะสามารถคลี่คลายคดีการหายไปของบิลลี่ได้ ทำให้แม้ต่อมาจะมีการตรวจพยานหลักฐานดังกล่าวโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และพบว่ามีคราบเลือดมนุษย์ในรถยนต์คันหนึ่งของเจ้าหน้าที่ แต่เนื่องจากความล้าช้า ทำให้พยานหลักฐานเสียหาย จนไม่สามารถนำผลการตรวจมาใช้ในการสอบสวนได้เพียงพอที่จะตั้งข้อหาในความผิดทางอาญาต่อบุคคลใดๆได้

ต่อมา หลังจากที่กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนและญาติพี่น้องของบิลลี่ ได้เรียกร้องความยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 กรมสอบสวนคดีคดีพิเศษได้รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นที่สนใจของสาธารณะชนและประชาคมระหว่างประเทศ แต่จนบัดนี้ ก็ไม่ปรากฎว่ามีความคืบหน้าในการคลี่คลายคดีการหายตัวไปของบิลลี่โดยกรมสอบสวนคดิพิเศษแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีคดีที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่เมื่อต้นปี 2558 ถูกกล่าวหาและสอบสวนโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีที่นายชัยวัฒน์อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่ไป โดยตำรวจพบว่าไม่มีการปล่อยตัว แทนที่จะนำส่งตัวในฐานะผู้ต้องหาคดีลักลอบค้าขายน้ำผึ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ คดีนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าแม้เวลาผ่านมาแล้วหลายปีแล้วก็ตาม ญาติพี่น้องของบิลลี่และสังคมก็ยังไม่ทราบผลการสอบสวนของ ปปท.ว่าได้มีการชี้มูลความผิดนายชัยวัฒน์หรือไม่อย่างไร

ความล่าช้าและไม่คืบหน้า ทั้งคดีการถูกบังคับให้สูญหายไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมสำสวนคดีพิเศษ และการสอบสวนดำเนินคดีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร โดย ปปท. นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวและ “ความไม่เต็มใจ ( Unwilling)” ของรัฐไทยในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีทั้งสองดังกล่าว เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมในสังคมไทยที่ผู้มีอิทธิพล ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดต่อประชาชนสามารถลอยนวลพ้นผิด (Impunity) และสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความอ่อนแอของนิติธรรม/นิติรัฐในประเทศไทยอีกด้วย

นอกจากความล้มเหลวและไม่เต็มใจดังกล่าวของรัฐไทยแล้ว รัฐไทยยังล้มเหลวและไม่เต็มใจในการชดใช้เยียวยาแก่ครอบครัวของบิลลีตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐพึงกระทำด้วย ครอบครัวของบิลลี่มีภรรยาและบุตรชายหญิงจำนวนรวม 5 คนมีมารดาที่เป็นผู้ชรา ทั้งหมดเป็นชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่รัฐไทยไม่เพียงแต่ไม่ชดเชยเยียวยาพวกเขาในฐานะเหยื่อของอาชญากรรมที่ก่อโดยเจ้าหน้าที่บางคนของรัฐแล้ว พวกเขายังตกอยู่ภายใต้การถูกคุกคามโดยรัฐ ในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าและถูกละเมิดสิทธิอันพึงมีของชนเผ่าพื้นเมืองตลอดเวลาอีกด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้อง ในวาระครบรอบห้าปีของการถูกบังคับให้หายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ต่อหน่วยงานและรัฐบาลไทย ดังนี้

  1. ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งรัดสืบสวนสอบสวนคดีการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะการสอบและรวบรวมพยานหลักฐานจากพยานบุคคลที่พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะหายตัวไป รวมทั้งจากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรผู้ซึ่งอ้างว่าพบบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนที่บิลลี่จะหายตัวไป โดยขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งความคืบหน้าของคดีให้แก่ญาติของบิลลี่และสังคมทราบเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องด้วย
  2. ขอให้ป.ป.ท. เร่งรัดการสอบสวนและชี้มูลคดีที่มีการกล่าวหาว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทธยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และแจ้งความคืบหน้าของคดีให้แก่สังคมทราบด้วยเช่นกัน
  3. ขอให้รัฐบาลเร่งออกพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ. ….. เพื่อกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาร้ายแรงประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิผล และเพื่อให้รัฐไทยมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบังคับให้สูญหาย ไม่ให้เกิดกรณีอย่างบิลลี่ขึ้นอีก โดยรัฐบาลไทยวจะต้องไม่ตัดทอน บิดเบือน เจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
  4. ขอให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องชดใช้เยียวยาให้แก่ครอบครัวของบิลลี่ที่ต้องสูญเสียหัวหน้าครอบครัวไป โดยสาเหตุที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ให้สูญหายไป โดยควรชดใช้เยียวยาอย่างเหมาะสมเพียงพอในทุกช่วงวัยของบุตรชายและหญิงทั้งห้าคน
  5. ขอให้รัฐบาลแก้ไขเยียวยาปัญหาให้แก่ชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกลุ่มหนี่ง แย่งยึดที่ดินอยู่อาศัยและทำกิน เผาทำลาย บ้านเรือน ยุ้งฉาง เรือกสวนไร่นา บังคับโยกย้ายขับไล่พวกเขาของจากหมู่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยรัฐบาลต้องเคารพนับถือสิทธิชุมชนและสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองของพวกเขา ให้พวกเขาเขาสามารถกลับเข้าไปตั้งถิ่นฐานและใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินได้ดังเดิม โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐจักต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง วันที่ 3 สิงหาคม 2553 รวมทั้งรัฐบาลไทยต้องทำให้แน่ใจว่าการเสนอให้องค์การสหประชาชาติประกาศให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว

วันที่ 17 เมษายน 2562
กรุงเทพมหานคร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
– สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร 081 642 4006

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [331.05 KB]