[:th]CrCF Logo[:]
มะสุกรี สาและ (Masukri Salae)

แถลงการณ์ ขอให้ตรวจสอบกรณีผู้ต้องสงสัยได้รับบาดเจ็บสาหัส ยุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัย

Share

แถลงการณ์ ขอให้ตรวจสอบกรณีผู้ต้องสงสัยได้รับบาดเจ็บสาหัส ยุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัย

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562 มีการรายงานข่าวว่า นายมะสุกรี สาและ ผู้ต้องสงสัยซึ่งถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกในค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำ ของหน่วยซักถามภายในค่าย หลังจากเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวนาย มะสุกรี ไปรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาล ค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นแพทย์ประจำค่าย ได้ส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลปัตตานี ต่อมาร้อยโทต่อตระกูล ปั้นสำรอง หัวหน้าหน่วยซักถามประจำค่าย อิงคยุทธบริหารได้ เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.อ.วสุรัตต์ เจริญสินโจนธร รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธร หนองจิกเกี่ยวกับ เหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเดินทางไปเยี่ยม นายมะสุกรี ณ โรงพยาบาลปัตตานีและยืนยันกับสื่อมวลชน ว่าเขาลื่นล้ม ภายในห้องน้ำจริง จึงได้ลงบันทึกประจำวัน ไว้เป็นหลักฐาน

จากการตรวจสอบเบื้องต้นโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กร เครือข่าย นายมะสุกรีถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจพิเศษตาม กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2562 หลังจากเจ้าหน้าที่ กรมทหารพรานที่ 43 ได้เข้าปิดล้อมตรวจค้น บ้านเลขที่ 31/2 บ้านค่าย ม.7 ต.ปุโละปูโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และถูกนำตัว ไปซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร
พร้อมกับผู้ต้องสงสัยอีก 3 คนที่อยู่ในบ้านเดียวกัน ในเวลาดังกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับข้อร้องเรียนที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ บางคนไม่ได้ปฏิบัติ ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยกล่าวอ้างว่า ในขณะที่นายมะสุกรี ถูกควบคุมตัว เขาถูกบังคับให้ ยืนตลอดทั้งวันเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนและได้มีโอกาส นั่งเฉพาะเวลา ละหมาดและรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ยังถูกเตะที่ขาและตี ที่ศีรษะด้วยไม้หุ้มผ้าหลายครั้ง ประกอบกับทั้งจากการไม่ได้นอนทำให้ เขามีอาการมึนศีรษะ เมื่อไปเข้าห้องน้ำ จึงลื่นล้มและสลบไป นอกจากนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังได้รับรายงานที่กล่าวอ้างว่า นายมะสุกรีถูกบังคับ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อรับรองเอกสาร บางอย่างในระหว่างที่ตนอ่อนเพลีย และมึนศีรษะอย่างหนักจนไม่สามารถอ่านหรือเซ็นเอกสารดังกล่าวได้ ซึ่งข่าวลักษณะดังกล่าวยังได้แพร่หลายอยู่ในสังคม และชุมชนต่างๆ จนอาจเป็นผลเสียต่อสันติสุขในพื้นที่ได้

นายมะสุกรีเป็นเพียงหนึ่งในคนจำนวนกว่า 6,000 คนที่ถูกควบคุมตัว ภายใต้กฎหมายพิเศษในตลอดระยะเวลา15 ปีที่ผ่านมาซึ่งรวมไปถึง การควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถค้น จับ โดยไม่ต้องมีหมายศาล และคุมขังผู้ต้องสงสัยเพื่อการซักถามข้อมูลได้ เป็นเวลาถึง 37 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อหา

การซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามกติกา ระหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มักได้รับข้อร้องเรียนในลักษณะที่คล้ายคลึงกับกรณี ของนายมะสุกรี
จากญาติหรือผู้ถูกควบคุมตัวเอง และมูลนิธิฯ ได้เรียกร้องและเสนอ ให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐ ทั้งในระดับท้องที่ ในระดับชาติและรัฐบาล ให้สร้างมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสมอมา แต่ก็ไม่ได้รับ การแก้ไขเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลขาดเจตจำนงทางการเมือง นโยบาย และระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน และยังขาดกลไก ตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงต่อ ผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้ กฎหมายพิเศษ นอกจากนี้ ยังไม่มีการดำเนินการ สืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อร้องเรียน ว่าด้วยการซ้อมทรมาน
หรือการบังคับขู่เข็ญให้ผู้ถูกกักตัวรับสารภาพอย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ว่าการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายใต้กฎหมายพิเศษ
จะยังเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ต่อผู้ถูกควบคุมตัวได้

มูลนิธิฯ จึงขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ผู้อำนวยการ กองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาคที่ 4 ส่วนหน้าและผู้กำกับการ ตำรวจประจำจังหวัดปัตตานี และรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้

1. ขอให้ตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่านายมะสุกรีถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน ในขณะที่ ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก โดยจัดตั้งคณะทำงานอิสระ ซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้นำชุมชนและศาสนาและตัวแทน ภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ความจริง ที่สามารถชี้แจงต่อสังคมได้

2. หากพบว่ามีการกระทำอันใดที่ละเมิดต่อชีวิตร่างกายของ นายมะสุกรีจริง ทางการจะต้องชดใช้ เยียวยาผู้เสียหายให้ สภาพร่างกายและจิตใจกลับมา สู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียง
สภาพเดิมที่สุดเท่าที่สามารถทำได้พร้อมทั้งลงโทษ เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ทั้งในทางวินัยและอาญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ของสังคมต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาล

3. ขอให้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนและจัดตั้ง กลไกป้องกัน การซ้อมทรมานและ การกระทำใดๆที่อาจเข้าข่าย เป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดย เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งขอให้ยอมรับนับถือสิทธิต่างๆ ของผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามาตรฐานสากล เช่น การอนุญาตให้ญาติสามารถเข้าเยี่ยม ผู้ถูกควบคุมตัวได้ เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที พบและปรึกษาทนายความ เป็นการเฉพาะ การเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระจากภายนอก โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและ หน่วยงานภาคประชาสังคม ในพื้นที่ สามารถเข้าร่วมตรวจสอบ สถานที่ควบคุมตัวอย่างสม่ำเสมอและ สัมภาษณ์ผู้ถูกควบคุมตัว ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รวมถึงการสร้างกลไก ตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับข้อร้องเรียนเรื่อง การซ้อมทรมานโดยมีหน่วยงานทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น

4. ขอให้รัฐบาลไทยเร่งรัดในการตรากฎหมายเกี่ยวกับ การป้องกันและ ต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคล ให้สูญหายซึ่งเป็นกฎหมาย อนุวัติการและไม่ได้รับการพิจารณา
โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการป้องกัน และปราบปรามการทรมานอย่างเคร่งครัด ได้ผล โดยเร็ว

5. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเน้นย้ำว่า การใช้อำนาจตาม กฎหมายพิเศษ ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเพื่อปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัย ว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ที่มักขาดการตรวจสอบ ถ่วงดุลตามหลักนิติธรรมทำให้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยเฉพาะการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว
ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้ง ในพื้นที่เลวร้ายยิ่งขึ้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงเรียกร้องให้หน่วยงานด้านความมั่นคง ยุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุม และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยขอให้ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติแทน