Download เอกสารได้ที่ 2019_02_28_HR law policy 2019 to political parties (Thai version)
PDF: 2019_02_28_HR law policy 2019 to political parties (Thai version)
ข้อเสนอองค์กรสิทธิมนุษยชน ต่อนโยบาย กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อพรรคการเมือง
นำเสนอที่เวที “สันติภาพชายแดนใต้หลังเลือกตั้ง ุ62: ข้อเสนอจากประชาชนและนโยบายพรรคการเมือง”
จัดโดยเครือข่าย PEACE SURVEY 19องค์กร ร่วมกับศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม และศูนย์ข่าวสารสันติภาพ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562
ข้อเสนอองค์กรสิทธิมนุษยชน ต่อนโยบาย กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อพรรคการเมือง
จากการทำงานส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) มากว่า 10 ปี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากฎหมายพิเศษ พบว่า
- นับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ในปี 2547 เป็นต้นมา ประชาชนทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธจำนวนมาก ได้ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงตลอดมา ทั้งจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนและกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ โดยไม่เลือกอายุ เพศ ชาติพันธุ์ หรือศาสนา
- รัฐมีหน้าที่ในการยอมรับนับถือ เคารพ ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่ปรากฎว่ารัฐบาลที่ผ่านมาและกองทัพ ยังไม่เข้าใจบทบาทของตนในด้านสิทธิมนุษยชน กระทั่งในบางกรณีกลับมีนโยบายและการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง
- สันติภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ที่ใดไม่มีความเป็นธรรม มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่นั้นย่อมปราศจากสันติภาพ ที่ใดต้องการสันติภาพ ที่นั้นต้องมีความเป็นธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน
- เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรง มักเป็นประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือมุสลิม โดยเฉพาะหญิงและเด็ก ประชาชนกลุ่มนี้ ถูกกดทับโดยสถานทางสังคม วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อบางประการ และโครงสร้างหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มักตกเป็นเบี้ยล่างในสังคม จึงขาดศักยภาพในการปกป้องคุ้มครองตนเอง หรือเรียกร้องสิทธิและแสวงความเป็นธรรม
- การประกาศกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ภายใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขัง ผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบได้อย่างกว้างขวาง โดยขาดการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักนิติธรรมที่กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลไม่สามารถปกป้อง คุ้มครอง สิทธิมนุษยชนอย่างได้ผล หรือในบางกรณีองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง เช่น การซ้อมทรมาน ระหว่างการจับกุมและการควบคุมตัว การห้ามเยี่ยม ห้ามพบและปรึกษาทนายความ การใช้คำรับสารภาพที่ได้จากการซักถามผู้ที่ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ มาใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี การออกหมายจับหรือหมาย ฉฉ. โดยปราศจากพยานอันเพียงพอ การตั้งข้อหาหนักเกินกว่าพฤติกรรมของการกระทำผิด และการห้ามประกันตัวในระหว่างการพิจารณา ทั้งในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา การอายัดตัวซ้ำซาก และการเลือกปฏิบัติที่และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู รวมทั้งความล้มเหลวในการฟื้นฟูเยียวยาความผิดพลาดที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคน เป็นต้น ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนมุสลิมอย่างกว้างขวาง ทำให้บางส่วนขาดความไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เคียดแค้นและเอาใจออกห่างจากรัฐในที่สุด
(6) นอกจากนี้สิทธิมนุษยชนของชาวพุทธ ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ จชต. ยังไม่ได้รับการเคารพ ปกป้องอย่างได้ผล ทั้งสิทธิในการดำรงรักษาวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของกลุ่มตน สิทธิในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากมีการก่อความรุนแรงต่อกลุ่มชาวพุทธอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการโจมตีพลเรือนชาวพุทธโดยกองกำลังติดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยเหยื่อของความรุนแรงดังกล่าวยังไม่สามารถเข้าถึงการฟื้นฟูเยียวยาอย่างได้ผล และกระบวนการยุติธรรมล้มเหลวในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ความรุนแรงที่มีต่อชาวพุทธอย่างต่อเนื่องยืดเยื้อยาวนานโดยที่รัฐไม่สามารถแก้ไขอย่างได้ผล เป็นเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวพุทธและมุสลิม บางส่วนเกิดความามรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและต้องการที่จะแก้แค้นเอาคืน อันจะมีผลทำให้สถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจบานปลายเป็นความขัดแย้งหรือสงครามทางศาสนา ทำให้ควาพยายามในการสร้างสันติภาพจากการร่วมไม้ร่วมมือกันในกลุ่มประชากรต่างๆ ในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมายังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร
องค์กรสิทธิมนุษยชนฯยังยืนยันว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีบทบาทในการให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย มีตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างได้ผล เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ จึงได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอด้านนโยบาย กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้น เพื่อเสนอต่อพรรคการเมือง ซึ่งจะมีบทบาทต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงใน จชต. ไม่มากก็น้อย ดังนี้
- นำพา จชต. กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
โดยมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ นโยบายและมาตรการที่ชัดเจน รวมทั้ง
1.1 ใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ยกเลิกนโยบาย “ทหารนำการเมือง” ซึ่งสท้อนให้เห็นถึงการที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คชส. ภายหลังการรัฐประหาร ได้ใช้อำนาจรัฐประหารให้ กอ.รมน. ภาค 4 เป็นหน่วยงานนำ บังคับบัญชาและกำกับดูแลหน่วยงานราชการทุกแห่งใน จชต. รวมทั้ง ศอ.บต. ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติที่ตราโดยรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง หน่วยงานด้านการยุติธรรม พลเรือนต่างๆรวมทั้งหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยตรง การประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ การเน้นการใช้กำลังในการปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ มีผลทำให้เกิดช่องว่าง ความแปลกแยกห่างเหินระหว่างประชาชนกับหน่วยงานราชการ
การใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” จะนำไปสู่การปรับปรุงการใช้กฎหมาย โครงสร้างการบริหาราชการแผ่นดิน การปฏิบัติและมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” อย่างเป็นรูปธรรมและมีขั้นตอนที่ชัดเจน
- ทำให้ ศอบต. มีความเป็นอิสระ มีความเป็นประชาธิปไตยและยกระดับให้เป็นหน่วยงานที่มีผู้นำสูงสุดมาจากการเลือกตั้งทางตรงเพื่อกระจายอำนาจสู่พื้นที่ ยกเลิกการนำ ศอ.บต. ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน. 4 โดยให้ กอ.รมน. 4 กำกับดูแลเฉพาะหน่วยกำลัง เพื่อรักษาความสงบ และให้ กอ.รมน. ปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับจชต. ที่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ส่งผ่าน ศอ.บต. เท่านั้น
- ปรับปรุงคณะเจรจา โดยมีพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะ เปิดการเจรจาสันติภาพกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างจริงจังโดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระในการทำงานรวมทั้งชาวพุทธ และมุสลิมกลุ่มต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างแข็งขัน
- ยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเริ่มจากการจำกัดและตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเข้มข้น และดำเนินการตามขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็วในที่สุด
1.5 เคารพยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ศาสนา ที่เกิดกับชนทุกกลุ่ม เปิดพื้นที่สำหรับเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการ เพื่อให้ประชาชนที่มีข้อมูล ทัศนะ ความเชื่อ และมีข้อเสนอแนะต่างๆกัน สามารถแสดงออกได้อย่างสร้างสรรค์ โดยไม่สร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือยุยงให้เกิดความรุนแรง
- หน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องยุติการสร้างความแตกแตก โดยไม่เข้าไปมีส่วนร่วม สนับสนุน โฆษณา ชี้นำ ทั้งในทางตรงและทางอ้อมในความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวพุทธและชาวมุสลิม รวมทั้งการฝึกอาวุธให้ประชาชนและปฏิบัติการด้านการปล่อยข่าวเท็จ และการป้ายสี สร้างมลทิน (Information Operation -IO) ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่บางคน จากหน่วยงานด้านความมั่นคงบางแห่ง
- ยุติการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล นักวิชาการ หรือองค์การภาคประชาสังคมที่ติดตามสถานการณ์ สอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐและการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ
- ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม
2.1 เคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความยุติธรรมได้ ทั้งในทางแพ่ง อาญา และปกครอง ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหรือกฎหมายอื่นใด เช่น สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวในการที่จะได้รับการเยี่ยมเยียนจากญาติพี่น้อง ปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ไม่ถูกทรมาน บังคับขู่เข็ญ สิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกตรวจดีเอ็นเอ โดยไม่เต็มใจ หรือกระทำการด้วยประการใดใด ในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของความ
เป็นมนุษย์ ทั้งให้ศาลสามารถตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลตามหลักนิติธรรม
2.2 หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในขณะที่ยังไม่มีการยกเลิก ทั้งในเรื่องการตั้งด่าน ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ และยกเลิก การใช้ “กรรมวิธี” ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษเสี่ยงต่อการถูกทรมาน โดยประชาชนที่เป็นชาวมุสลิมมักตกเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติงานดังกล่าวของเจ้าหน้าที่
2.3 ยุติการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ต้องหา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม หรือ Fair Trial ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และมาตรฐานระหว่างประเทศเช่น ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ จับและคุมขังผู้ต้องสงสัยไว้ก่อน แล้วหาพยานหลักฐานทีหลัง ใช้คำซัดทอดของผู้ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ ใช้เป็นพยานหลักฐานในการตัดสินลงโทษจำเลย สืบพยานล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพื่อปรักปรำผู้ต้องหาและตัดโอกาสผู้ต้องหาในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ นำพยานหลักฐาน ทั้งพยานวัตถุและบันทึกถ้อยคำของบุคคล ที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากการปิดล้อม ตรวจค้น ยึด จับกุม คุมขัง หรือซักถาม ตาม “กรรมวิธี” คลิป ทั้งที่ตัดตอนและบันทึกหรือจัดทำขึ้นโดยไม่โปร่งใส ภายใต้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ มาใช้ในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) อันเป็นกระบวนการได้มา ส่งต่อ เก็บรักษา ตรวจสอบ และเสนอพยานหลักฐานต่อศาล ที่ไม่สอดคล้องกับหลักของการดำเนินคดีที่เป็นธรรม
2.3 ยกเลิกการออกหมายจับและหมายขังซ้ำซ้อน ทั้งการออกหมายจับและหมายขังตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ (หมาย ฉฉ.) ที่ศาลได้ออกให้แก่เจ้าหน้าที่ แม้บุคคลตามหมายต้องหมายจับตามป.วิอาญาอยู่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การเอาตัวผู้ต้องหาที่ต้องหมายจับตามป.วิอาญา ไปคุมขังไว้ตามหมาย ฉฉ. ทำให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นสิทธิในการพบและปรึกษาทนายความ สิทธิในการที่จะให้การหรือไม่ให้การอย่างใดก็ได้เป็นต้น หรือการออกหมายจับตาม ป.วิอาญาที่ศาลออกให้แก่เจ้าหน้าที่อีกคดีหนึ่ง แม้บุคคลตามหมายจับต้องหมายจับ ตาม ป.วิอาญาในคดีอื่นอยู่แล้ว ทำให้พนักงานสอบสวนสามารถอายัดตัวผู้ต้องหาหลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีหนึ่งแล้ว โดยอ้างว่ายังมีหมายจับอีกคดีหนึ่งเป็นการรอายัดตัวซ้ำซาก ทำให้ผู้ต้องหาถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีต่างๆต่อๆไปไม่มีสิ้นสุด
2.4 ให้ศาลปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ และคดีละเมิดทางปกครอง ก่อนที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะวินิจฉัยให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาคดีละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อพลเมืองใน จชต. ผู้เสียหายมีความรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยาจากศาลปกครองมากกว่า เนื่องจากแนวคิดและการไต่สวนในระบบการพิจารณาคดีของศาลปกครองสามารถตรวจสอบการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีกว่า ดังนั้นศาลปกครองควรจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีละเมิดทางปกครองเช่นเดิม และคดีที่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษด้วย
- นำหลักการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice – TJ) มาใช้
โดยให้นำมาใช้ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชังโดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restroative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการดังนี้
- การตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาวะวิสัย
(2) การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต.
(3) การนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย
(4) การปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
- การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยา
พัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพ
4.2 พัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล
4.3 การเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้ การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ
++++++++++++++++++++++++++