เผยแพร่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562
แถลงการณ์คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนกรณีนาย ฮาคีม อาลี โมฮัมหมัด อาลี อัล อาไรบี
ขอให้อัยการสูงสุดมีดุลพินิจสั่งถอนคดีเพื่อเดินทางกลับไปประเทศออสเตรเลียทันที
ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ทางการไทยได้จับกุมตัวนายฮาคีม อาลี โมฮัมหมัด อาลี อัล อาไรบี (Mr. Hakeem Ali Mohamed Ali Alaraibi) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ระหว่างที่เขากำลังเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยวกับภรรยา เจ้าหน้าที่ไทยได้จับกุมนายฮาคีมโดยอ้างว่าเป็นการจับตามหมายแดงของตำรวจสากล แม้ว่าหมายจับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว นายฮาคีมยังคงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ไทยโดยอ้างว่า เพื่อรอคำขอจากรัฐบาลบาห์เรน ให้ส่งนายฮาคีมเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปประเทศบาห์เรน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลอาญารัชดาเบิกตัวนายฮาคีมมาสอบถามความยินยอมให้ส่งตัวไปประเทศบาห์เรนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดพิเศษฝ่ายคดีต่างประเทศ ตามคำขอจากรัฐบาลบาห์เรนหรือไม่ ซึ่งนายฮาคีมได้คัดค้านคำร้องดังกล่าว
นายฮาคีมได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวโดยทนายความจากสำนักงานกฎหมายเอ็นเอสพี และได้ยื่นคำร้องขอยื่นคำคัดค้านออกไป 60 วันถึงวันที่ 5 เมษายน 2562 และนัดตรวจพยานหลักฐานนัดแรกในวันที่ 22 เมษายน 2562 เวลา 9.00 น. ในการเบิกตัวเขามาศาล ปรากฏว่าเขาได้ถูกพันธนาการด้วยการตีตรวนหรือกุญแจเท้า ซึ่งเข้าข่ายเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่เขามิได้เป็นอาชญากรร้ายแรง ทั้งได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศออสเตรเลียแล้ว และไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ ในประเทศไทยเลย ปัจจุบันนายฮาคีมฯ ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาแล้วเป็นเวลา 71 วันแล้วและอาจต้องถูกควบคุมต่ออีกเป็นระยะเวลานานจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ติดตามการดำเนินการทางกฎหมายต่อกรณีนายฮาคีมมีความเห็นว่า “การถอนฟ้องหรือการถอนคดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยอำนาจอัยการสูงสุด (อสส.)ซึ้งสามารถทำได้ตามกฎหมาย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆในโลก ไม่ใช่แต่เพียงประเทศต้นทางคือประเทศบาห์เรนและประเทศออสเตรเลียที่เป็นประเทศที่นายฮาคีมได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยแล้วโดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงกว่า 3 ปี”
“การใช้ดุลพินิจถอนคดีของอัยการสูงสุดจะลดกระแสกดดันในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศ และเป็นการแสดงถึงการคุ้มครองปกป้องผู้ลี้ภัยให้ปลอดพ้นจากภัยประหัตประหารหรือเหตุที่นำไปสู่การทรมานหรืออาจไม่ได้รับการเป็นธรรม และกลับไปสู่ประเทศที่ปลอดภัย ขณะนี้กระแสดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์และอาจส่งผลเสียต่อผลประโยชน์แห่งชาติได้ หากรอจนกว่าคดีจะสิ้นสุดการพิจารณาในชั้นศาลคงใช้เวลานาน ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศไทย” นายสุรพงษ์ กองจันทึกกล่าวเพิ่มเติม
โดยตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แม้ว่าคดีขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของนายฮาคีมจะได้ส่งฟ้องต่อศาลแล้ว โดยหากพนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้หรือถอนฟ้องได้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงเรียกร้องให้อัยการสูงสุดใช้ดุลยพินิจเพื่อพิจารณาถอนฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยภายใต้มาตรฐานสากล
ติดต่อข้อมูล นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม Tel. 081-6424006