ภาพบรรยากาศงาน Women of the Deep south เมื่อวันที่19 ธันวาคม 2561 และบันทึกจากผู้ร่วมกิจกรรม

Share

 

 

ภาพบรรยากาศงาน Women of the Deep south เมื่อวันที่19 ธันวาคม 2561 และบันทึกจากผู้ร่วมกิจกรรม

ห้อง SEA-Junction Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แน่นจริงๆแน่นทั้งคนแน่นทั้งประเด็น

ขออนุญาตนำบันทึกหนึ่งของฟารีดา ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่ง มาเผยแพร่โดยได้รับอนุญาตแล้ว เห็นว่าสะท้อนบรรยาการการฉายหนังและการสนทนาได้ดี ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ที่มาร่วมงานและบันทึกที่มีคุณค่า

“การพูดความจริงไม่สามารถช่วยอะไรได้ในกระบวนการยุติธรรม”

เสียงของ “เม๊าะซู” ฮานีละ ดือลามะ หนึ่งในบรรดาแม่ของผู้ต้องสงสัยคดีบูดู สะท้อนอะไรบ้างในกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย?

คนหนุ่ม 14 คนที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกักตัวไว้ไต่สวนคดีซึ่งมี ‘บูดู’ เป็นของกลางในฐานะวัตถุต้องสงสัยใช้ประกอบระเบิด เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจผ่านกระบวนการยุติธรรมจองจำอิสรภาพของพวกเขามานานถึง 2 ปี จนบัดนี้คดียังไม่แล้วเสร็จ

ทุกเดือนครอบครัวของทั้ง 14 คนจะเดินทางจากจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมาฟังการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งนอกจากค่าเดินทางแล้วยังจำเป็นต้องมีค่าที่พักและค่าอาหารด้วย ไม่มีอะไรฟรี

“หมดแล้วทุกอย่าง”

คำพูดของเม๊าะซูช่างบาดลึก ไม่ใช่แค่หมดเงินหมดทอง การเดินทางเข้ากรุงแต่ละครั้งคนต่างจังหวัดในฐานะญาติผู้ต้องสงสัยต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง?

แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปี พวกเขาส่วนใหญ่ก็ยังเดินทางมาพบหน้าทั้ง 14 คนทุกเดือน

.
.
.

เป็นเรื่องขำขื่นที่ขำไม่ออกว่า ‘บูดู’ จะเป็นสารตั้งต้นประกอบระเบิดไปได้อย่างไร

“ไม่ใช่เรื่องตลก” แม่พูดเมื่อฉันเล่าเรื่องนี้ให้แม่ฟัง

“ถ้า 14 คนนี้ไม่ผิด รัฐจะจ่ายเงินชดเชยที่กักขังอิสรภาพของพวกเขาเหล่านี้มั้ย?”

ประโยคคำถามของแม่แทงใจและชวนใจหายในเวลาเดียวกัน

ถ้าให้เม๊าะซูตอบ เธอคงจะพูดว่าสำหรับเธอแล้วเงินชดเชยใดใดอาจไม่สำคัญเท่าอิสรภาพของลูกชาย ขอเพียงลูกได้กลับบ้านและใช้ชีวิตปกติ

นึกไปถึงประโยคแรกๆ ของการเสวนา เธอพูดว่า…

“ถ้ามีใครสักคนเป็นคนผิด แม่คือคนผิดที่บังคับให้เขามาทำงานที่กรุงเทพฯ”

แม่ก็คือแม่ ยิ่งใหญ่ด้วยหัวใจของแม่เสมอ

.
.
.

ในงานฉายสารคดีสั้น 2 เรื่อง

เรื่องแรกฉายภาพครอบครัวมุสลิม แม่ที่รอลูกชายกลับบ้าน ความรู้สึกของคนในบ้านเมื่อลูกชาย 2 คนถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

แม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะระบุสาเหตุในการจับกุมและควบคุมตัวผู้คนเสมอ แต่สาเหตุเหล่านั้นมักจะไม่ใช่สาเหตุที่แจ่มแจ้งและสมเหตุสมผลสำหรับคนในครอบครัว

อีกเรื่องฉายภาพเด็กสาวไทยพุทธที่สูญเสียคนในครอบครัวจากเหตุความรุนแรงในชายแดนใต้ ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อขาดเสาหลัก การปรับตัวและเรียนรู้วิถีมุสลิมจากเพื่อนในพื้นที่ปตานี และความหวังจะเห็นสังคมสงบสุข

.
.
.

บนเก้าอี้ข้างๆ เม๊าะซู

อาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร พูดสั้นๆ แต่สรุปภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ไว้อย่างน่าสนใจว่า..

“หญิงมุสลิมในสารคดีเรื่องแรกเรียกร้องความยุติธรรม

เด็กสาวไทยพุทธในเรื่องที่สองเรียกร้องความสงบสุข ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกับภาครัฐ

แต่ความสงบสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่พูดถึงความยุติธรรม”

.
.
.

ใช่… พอถึงวันหนึ่งเราอาจจะไม่ได้อยากพูดว่าใครผิดใครถูก เราแค่อยากได้ความยุติธรรมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

19 ธันวา, กรุงเทพฯ 2561

TAG

RELATED ARTICLES

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading