หมายเหตุ: วันที่ 20ธค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 167 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 45 วัน ทั้งนี้ กำหนดนัดประชุมคณะกรรมาธิการฯ ครั้งแรก ในวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2561 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
คำถาม:เห็นด้วยกับร่าง พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานที่กระทรวงยุติธรรมจะเข้าสนช.วันที่20ธค.นี้หรือไม่ ไม่เห็นด้วยประเด็นไหน ผิดไปจากเดิม ที่เคยตอนรับฟังความคิดเห็นหรือไม่และประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง และได้รับความยุติธรรมมากขึ้นเมื่อร่างนี้ผ่าน หรือไม่ และจะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่
พรเพ็ญ ตอบ: ร่างกฎหมายนี้เป็นผลจากการทำงานของหลายภาคส่วนและมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมมาหลายปี ตั้งแต่2007 ร่างนี้เริ่มร่างตั้งแต่ปี2013 มีการปรับแก้ไขหลายรอบ ปรับดีขึ้น แล้วแก้ไขลบออก และฉบับนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความพยายามของกระทรวงยุติธรรมและนักกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังว่าต้องการทำให้การทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญาจริงๆ เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปราม
ร่างฉบับนี้ยึดหลักเกณฑ์สากลสำคัญจากอนุสัญญาทั้งสองฉบับคืออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (ลงนาม ให้สัตยาบันและส่งรายงานฉบับแรกไปแล้วปี2013และอนุสัญญาป้องกันการอุ้มหาย (ลงนามแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน) มีประเด็นที่ทันสมัยและถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกในโลกที่รวมเอาการทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญา มีบทลงโทษที่หนักขึ้น และมีมาตรการป้องกัน รวมทั้งมาตรการเยียวยา
แม้จะมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากลเช่น ในกฎหมายร่างฉบับนี้การรับผิดของผู้บังคับบัญชาซึ่งต้องเป็นการรับผิดที่เกิดขึ้นจากการสั่งงานหรือรู้เห็นโดยตรงเท่านั้น แต่ในทางสากลในระดับที่สมควรที่จะรู้ก็ต้องรับผิดเป็นต้น และยังไม่มีการกำหนดความผิดฐานการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังไม่มีการห้ามการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมาน (ผู้ร่างอ้างว่ามีในกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา)
ฉบับแก้ไขนี้ปรับแก้ข้อความสำคัญกลับมาคือ ห้ามไม่ให้ส่งกลับบุคคลที่อาจจะต้องเผชิญกับการทรมานและการอุ้มหาย เช่น นักโทษทางการเมือง ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งดีมาก และมีมาตราที่ระบุว่า การห้ามทรมานและอุ้มหายนั้นเด็ดขาดไม่ว่าสถานการณ์ใดใด (แต่เกรงว่าจะไม่ผ่านสนช)
ดูจากคำแปลอย่างไม่เป็นทางการ
Article 11 No emergency, war, political instability or any special exceptional circumstance may be invoked as a justification to breach this Act.
Article 12 The statute of limitation for an offence as per this Act shall be twenty years.
The statute of limitation as per the first paragraph shall be counted from the time the offence as per this Act has ceased and the victim of torture or enforced disappearance is able to or has the opportunity to file the complaint. State agency or authority shall not deport any person if there are reasonable grounds to believe that a person will be subjected to torture or enforced disappearance.
จากประสบการณ์ที่ทำงานในการตรวจสอบสถานการณ์การอุ้มหายและการทรมานเราน่าจะสนับสนุนร่างนี้ได้ด้วยเหตุผลที่ว่ามีกฎหมายดีกว่าไม่มี แต่คิดว่าถ้ามีผลบังคับใช้แล้วเราต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนรวมจากภาคประชาชนมากขึ้นเช่นจากผู้เสียหายหรือญาติ เพื่อสะท้อนปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งในระดับการรับเรื่องร้องเรียน การสืบสวนสอบสวน การเยียวยา และมาตราการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับในชั่วโมงแรกๆ เพราะเป็นการป้องกันการทรมานและการอุ้มหายที่สำคัญ
การออกกฎหมายคือการแสดงจุดยืนของประเทศว่าการทรมานและอุ้มหายเป็นสิ่งต้องห้ามผิดกฎหมายมีฺโทษหนักขึ้น โดยเฉพาะในรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลทหาร รัฐข้าราชการ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องพูดให้ชัดว่าไม่สนับสนุนการทรมานและอุ้มหายในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ แม้บางส่วนอาจเห็นว่าควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาพิจารณากฎหมายที่สำคัญนี้ (ถ้าผ่านในห้วงสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งไปได้ฉบับนี้เป็นกฎหมายหนึ่งในกว่าสามร้อยฉบับที่ออกโดยคสช)
ถ้ากฎหมายผ่านออกไปแต่ไม่มีการรณรงค์ต่อเนื่องก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำไม่ดีอยู่นั้นเอง เสียของถ้าไม่รณรงค์จนทำให้เจ้าหน้าที่ยับยั้งช่างใจไม่ทำความผิดอาญาทั้งสองข้อหานี้เสียเอง ผู้บังคับบัญชาก็ต้องกำกับดูแลลูกน้อง และประกาศเป็นนโยบายหลักและสั่งห้ามโดยเด็ดขาดเราก็หวังว่าเหตุการณ์น่าจะลดลง
มีเรื่องศาลที่เป็นศาลทุจริตคอรับชั่น และมีเรื่องดีเอสไอที่คิดว่าเราคงวิจารณ์ได้ยากว่าดีหรือไม่ดีในชั้นนี้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อไม่มีกฎหมายระบุเป็นความผิดอาญาเขาไม่ทำงานและไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นคะ ถ้ามีกฎหมายนี้เราจะต้องผลักดันให้เขาทำงานทั้งศาลและดีเอสไอตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้คะ กฎหมายฉบับนี้ให้ดีเอสไอเป็นพนักงานสอบสวนในคดีทรมานและอุ้มหาย แต่ถ้าดีเอสไอตกเป็นหน่วยงานที่ต้องสงสัยเองเช่นมีจนท.ดีเอสไอเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาทรมานหรืออุ้มหาย ต้องจัดให้มีพนักงานสอบสวนจากหน่วยงานอื่น อีกทั้งจะเป็นการพิจารณาในศาลทุจริตที่เป็นศาลใหม่ที่เราไม่แน่ใจว่าเป็นศาลที่มีความเข้าใจเรื่องข้อหาอาญาพิเศษทั้งสองข้อหานี้หรือไม่ แม้จะเป็นระบบไต่สวน จะส่งผลถึงการนำคนผิดมาลงโทษได้จริงไหม และจะเยียวยาผู้เสียหายได้จริงหรือไม่
ภาพประกอบ: CrCF