แถลงการณ์ร่วม ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ทั้งทางแพ่งทางอาญา หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้รัฐจ่ายเงินชดเชย กรณีเจ้าหน้าที่เผาบ้านปู่คออี้และชุมชนกะเหรี่ยง
เมื่อวันที่ 25-31 ตุลาคม 2561 มีสื่อมวลชนบางสำนักได้เผยแพร่ข่าวอย่างต่อเนื่องในทำนองว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจฯ กรมอุทยานฯ เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้สืบสวน สอบสวน ดำเนินคดีกับชาวกะเหรี่ยง คือทายาทของนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้กับพวกรวม 6 คน ในข้อหายึดถือหรือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ คือบริเวณบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งถูกประกาศทับโดยเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
เรื่องนี้นี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่ในปี 2555 ปู่คออี้ และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน รวม 6 คน ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส. 58/2555 ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม สิทธิชุมชนและสิทธิของชนพื้นเมืองที่ ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนในช่วงเกือบ 10 ปีมานี้ โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน กล่าวหาว่า เมื่อปี 2554 ในการปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกลุ่มหนึ่ง ได้ใช้กำลังบังคับให้พวกตนต้องโยกย้ายออกจากที่ดินและชุมชนบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน อันเป็นถิ่นกำเนิด ที่ทำกินและอยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน ทั้งได้เผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง เรือกสวนไร่นาของพวกตนและประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคนอื่นๆอีกหลายสิบคนจนเสียหาย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในท้ายที่สุดหลังจากต่อสู้คดีมาเกือบ 10 ปี ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุด เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อส. 4/2561 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ว่า บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน แม้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็ถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่โดยการรื้อถอน เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยง และไม่ปฏิบัติตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดทางปกครอง จึงต้องเยียวยาปู่คออี้และผู้ฟ้องคดีอีก 5 คน เป็นเงินเฉลี่ยแล้วคนละประมาณ 50,000 บาท (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่นี่ https://bit.ly/2BVT01U) [1]อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ครั้งนั้น มีบ้านที่ถูกเผาทำลายเกือบ 100 หลังที่ชาวกะเหรี่ยงเจ้าของบ้านยังไม่ได้ฟ้องหน่วยราชการเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับผิดชอบ
หลังจากมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แทนที่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ จะดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูเยียวยาและให้ความคุ้มครองแก่ชาวกะเหรียงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งการฟื้นฟูเยียวยานั้น ควรรวมถึงการให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวได้รับสิทธิคืนมา โดยสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินได้ดังเดิม เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตตามขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ตามหลักสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน แต่กลับปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ บางคนได้อ้างคำสั่งอธิบดีฯ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ. แก่งกระจาน ให้สืบสวนสอบสวน ว่าปู่คออี้และผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 นั้น ได้กระทำผิดฐานบุกรุกครอบครองพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่เจ้าหน้าที่จะบังคับโยกย้ายปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และเผาทำลายเผาบ้านเรือนของพวกเขาในปี 2554
การที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่ากลุ่มชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม นั่นก็หมายความว่าชุมชนจะได้รับความคุ้มครองว่ามีสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และยังได้รับความคุ้มครองตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงฯ และยังพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ได้เผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง เรือกสวน ไร่นาของชาวกะเหรี่ยงในโครงการขยายผลการอพยพผลักดันหรือจับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตามแนวชายแดนไทย – สหภาพเมียนมาร์ บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอยและใจแผ่นดิน ในปี 2554 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั่นแสดงว่า การอยู่และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินโดยปู่โคอี้และลูกหลานชาวกะเหรี่ยงเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 จึงไม่ได้เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จะนำมาฟ้องคดีทั้งในทางแพ่งและอาญาต่อปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงได้ เพราะชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวโดยชอบธรรมตามสิทธิที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ
เรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นอีก เมื่อนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ซึ่งมีฐานะเป็นหลานของปู่คออี้ และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2NoXyjd)[2]
ความพยายามของเจ้าหน้าที่บางคนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่พยายามผลักดันให้กรมอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดีปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงผู้ฟ้องคดีศาลปกครองอีก 5 คน ข้างต้น โดยอ้างเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อนมากล่าวหาอีกนั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนเห็นว่า นอกจากแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าว ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว ยังอาจมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้ง ข่มขู่ คุกคาม ไม่ให้ชาวกะเหรี่ยงอีกหลายสิบคนที่บ้านเรือนของตนถูกเผาทำลายโดยเจ้าหน้าที่ในคราวเดียวกันนั้น ออกมาเรียกร้องสิทธิและขอความเป็นธรรมเช่นเดียวกับปู่คออี้ ซึ่งถือว่าเป็นการขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนอีกด้วย
องค์กรสิทธิมนุษยชน จึงขอตั้งคำถามถึงความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าว เนื่องจากชุมชนกะเหรี่ยงดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญของไทย และตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ที่ให้ความสำคัญเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมในพื้นที่ป่าและได้เรียกร้องให้รัฐไทยทบทวนกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกันให้มีการเคารพต่อสิทธิในวิถีชีวิต การดำรงชีพ และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์[3]
จากกรณีและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์กรสิทธิมนุษยชน จึงข้อเรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
- ขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดอย่างเคร่งครัด
- ขอให้ทางราชการยุติความพยายามในการดำเนินคดีต่อปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงผู้ฟ้องคดีศาลปกครองอีก 5 คน และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนขใจแผ่นดินคนอื่นๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาโดยทันที
- ขอให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินที่บ้านเรือนยุ้งฉาง เรือกสวน ไร่นา ถูกเผาทำลายในยุทธการตะนาวศรีเมื่อสิบปีก่อน ตามแนวของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีปกครองหมายเลขแดงที่ อส. 4/2561 ดังกล่าวข้างต้นด้วย
- ขอให้รัฐบาลและกรมอุทยานฯ ให้ความคุ้มครองและฟื้นฟูเยียวยาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ด้วยการคืนสิทธิชุมชน ให้พวกเขาสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อใช้ชีวิตตามวิถีของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมได้ดังเดิมต่อไป โดยปฏิบัติตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงฯ โดยเคร่งครัด
- ขอให้กรมอุทยานฯ เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาล ยกเลิกกฎ ระเบียบ มาตการ และการกระทำอันเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และกลุ่มชาติพันธุ์ชนพื้นเมืองอื่นๆ ตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบและหลักการสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด
รายชื่อองค์กร
- มูลนิธิเพื่อการประสานความร่วมมือของชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย
- เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)
- ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
- ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา กปอพช
- ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)
- มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
- มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
- สมาพันธุ์เพื่อช่วยเหลือชาวมอญ
- สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (ศพช.)
- มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
- เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี
- กลุ่มรักษ์บ้านเกิด ตำบลน้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
- สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
- ศูนย์ข้อมูลชุมชน
- คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) Campaign Committee for Hunan Rights (CCHR)
- เครือนักวิชาการเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์และการพัฒนาข้ามพรมแดน
รายชื่อบุคคล
- งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
- มาลี สิทธิเกรียงไกร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
- ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช มหาวิทยาลัยบูรพา
- ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี มหาวิทยาลัยพายัพ
- พรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
- ดำรงค์ สุขทวี นักวิจัยอิสระ
- สมพงษ์ หนึ่งแสน นักวิจัยอิสระ
- สุลักกษณ์ ปุ๊คแค นักวิจัยอิสระ
- ชาญคณิต อาวรณ์ นักวิจัยอิสระ
- ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่
- ภัทรมน สุวพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม
- ผศ.ดร.ชาญชัย จิตรเหล่าอาภรณ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา
- ผศ.ดร.รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา
- กุศล พยัคฆสัก สังกัด เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ลำพูน
- Wora Suk, Earthrights International USA
- ชนาง อำภารักษ์ เครือนักวิชาการเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์และการพัฒนาข้ามพรมแดน
- ธรธรร การมั่งมี เครือนักวิชาการเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์และการพัฒนาข้ามพรมแดน
- พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์
- วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา นักเขียน
- ณัฐปคัลภ์ เข็มขาว
- อ.สมภพ ดอนดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต
- อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต
- เพ็ญพิศ ชงักรัมย์ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ธีรพันธ์ สาตราคม ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- นครินทร์ มานะบุญ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- วิศรุต แสนคำ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อาทิตย์ แผ่บุญ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- นันท์นภัส เมืองวงษ์ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รินทกานต์ สจี ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ภาวิณี หงส์เผือก ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- วิจิตรา จันทวงศ์ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อำภา วูซือ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อุกฤษฏ์ จอมยิ้ม ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ปิชญา ตะนอย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ปี จองอู ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศิราพร แป๊ะเส็ง ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ดรุณี สิงห์พงไพร ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อะมีมะ แซ่จู ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รัตนา ด้วยดี ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ธนวัฒน์ ปาลี ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ชลาลัย นาสวนสุวรรณ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สมคิด แสงจันทร์ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- กนกวรรณ มีพรหม ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ซูลอัซรี มะสะพันธ์ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อ.สุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต
- อ.สมภพ ดอนดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต
- พฤ โอโดเชา นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง
[1] ข้อมูลจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
[2] ข้อมูลจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
[3] ข้อ 16 ในเอกสาร CERD/C/THA/CO/1-3 ข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ เผยแพร่วันที่ 31 สิงหาคม 2555