วันนี้ได้รับเชิญไปร่วมเวทีเนื่องในโอกาสวันยุติโทษประหารชีวิตยุโรปและสากล สหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้เชิญให้เข้าร่วมงานเสวนา “กระแสสังคมโลกกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต: นัยที่มีต่อประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ฯพณฯ ท่าน เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ฯพณฯ ท่าน เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย คุณคาเทียร์ คริริซี่ รองผู้แทนระดับภูมิภาคสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) รศ. ดร. โคทม อารียา ประธานมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม งานเสวนานี้จัดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2561 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ
เนื่องจากเวลาจำกัดไม่ได้พูดทั้งหมดที่เตรียมไว้นำมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี่
เราเห็นด้วยกับการนำคนผิดมาลงโทษ และการนำผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นคดีอาชญกรรม ธรรมดาหรืออาชญกรรมที่มีลักษณะทางการเมือง การประหารชีวิตเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นบาป และเป็นการใช้ความรุนแรง เราเห็นว่ามีการลงโทษทางอาญารูปแบบอื่นที่น่าจะส่งผลให้เกิดการยับยั้งชั่งใจในการกระทำผิด และการลงโทษทางอาญารูปแบบอื่น อาจสามารถนำคนคนนั้นกลับมาทำดีและตอบสนองต่อสิ่งที่เขาทำผิดพลาดไปได้ดีกว่า เช่น ระบบราชทัณฑ์ที่ดี ทำให้คนดีคืนสู่สังคมได้ เป็นต้น
โทษประหารชีวิตเป็นวงจรความรุนแรง ที่สร้างผลกระทบต่อบุคคลอื่นอย่างน้อย สามกลุ่ม 1.เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ต้องทำการประหาร มีหลายประเทศที่กำหนดวิธีการประหารไว้เพื่อไม่ให้รู้ว่าใครเป็นผู้ลงมือสังหารตัวจริง เพื่อรักษาสภาพจิตใจของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง แสดงว่าไม่มีใครอยากมีส่วนร่วมในการสังหารหรือการฆ่าคน 2. ครอบครัวโดยเฉพาะเด็ก ลูก ภรรยาหรือสามี หรือพ่อแม่ของผู้ถูกประหารชีวิต หลายๆกรณีพบว่าครอบครัวของผู้ตกเป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตเป็นครอบครัวที่ยากจนและไม่เข้าใจกระบวนการยุติธรรม มีความสับสน ไม่มีคำตอบในคำถามเรื่องทำไมคนที่เขารักจึงตกเป็นผู้ต้องโทษประหาร กระบวนการยุติธรรมที่ซับซ้อนและสร้างภาระให้กับคนในครอบครัวนับแต่วันที่ถูกจับวันแรกจนถึงวันที่ต้องเดินเข้าแดนประหารสร้างสภาวะจิตใจที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข บางกรณีทราบวันเวลาก่อนการสังหารเพียงไม่ถึงสามชั่วโมงเป็นต้น หรือมาทราบภายหลังว่ามีการประหารไปแล้วในบางประเทศ 3. สำหรับสังคมโดยรวม เกิดความหวาดกลัว (แม้บางส่วนอาจคิดไปเองว่าสังคมปลอดภัยมากขึ้นเมื่อฆาตกร หรือนักค้ายา ถูกประหารชีวิต) แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าสังคมปลอดภัยคิด ภัยหรืออาชญกรรมลักษณะเดียวกันนั้นไม่ได้ถูกจำกัดไปด้วยการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น บางครั้งเป็นความยากจน บางครั้งเป็นเพราะประวัติการถูกใช้ความรุนแรงมาก่อน บางครั้งเป็นเพราะสภาวะทางจิตใจ หรือเหตุผลทางการเมือง เป็นต้น
ระบบยุติธรรมทางเลือก หรือที่เรียกว่ายุติธรรมสมานฉันท์ ยุติธรรมชุมชน ควรได้รับการส่งเสริมและจะช่วยลดภาวะคนล้นคุกและสร้างสันติภาพที่ยั้งยืนในครอบครัว ในชุมชนหรือในประเทศชาติ รวมทั้งการลดข้อหาที่มีโทษประหารชีวิตในข้อหาที่ไม่ใช่อาชญกรรมร้ายแรง เช่น คอรับชั่น ทุจริตในราชการ ตุลาการ ฯลฯ หรือ การบริหารจัดการยาเสพติด นโยบายยาเสพติดในรูปแบบใหม่ รวมทั้งการกำหนดโทษผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อย และผู้ค้ารายใหญ่ให้คำนึงถึงพฤติกรรม สภาพทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
ทำไมจึงต้องยุติการประหารชีวิต
เนื่องจากเราไม่มีความเชื่อมั่นว่ากระบวนการนำคนผิดมาลงโทษของไทยนั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมได้อย่างเที่ยงธรรมในทุกกรณี ระบบกล่าวหาของไทยมักประกอบกับข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางคดีที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือทางคดีที่มีประสิทธิภาพดีพอ แขนที่ยาวไม่เท่ากัน ทำให้การพิจารณาคดีอาญาที่มีโทษประหารชีวิตนั้นหลายคดี อาจทำให้มีผู้บริสุทธิติดหลงเข้าไปหรือได้รับโทษหนักกว่าที่ตนกระทำได้ ผู้ต้องโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องโทษคดียาเสพติด
ทนายที่ให้ความช่วยเหลือคดีโทษประหารชีวิต จำนวนมากเป็นทนายอาสาที่ศาลจัดให้อาจไม่มีประสบการณ์ที่มากพอ เพราะคดีที่มีโทษประหารชีวิตมีความซับซ้อนและต้องอาศัยความรู้ความสามารถในการแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วย และในคดีบางประเภทมีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหา การบังคับให้สารภาพ การควบคุมตัวลับ การซ้อมทรมาน การซัดทอด หรือการใช้สปาย สายลับในการนำหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าสู่สำนวน โดยมีลักษณะเป็นคดีนโยบายที่ทำให้มีการรับฟังพยานบอกเล่า พยานหลักฐานจากจนท. ที่ไม่ได้คุ้มครองสิทธิของผุ้ต้องสงสัย พนักงานสอบสวนอาจบกพร่องต่อหน้าที่โดยเฉพาะหน้าที่ในการสืบหาพยานหลักฐานทั้งที่พิสูจน์ความผิด และพิสูจน์ความบริสุทธ์ของผู้ต้องหา เป็นต้น
คดีบางประเภท เช่นคดียาเสพติด คดีก่อการร้าย มีขั้นตอนตามกฎหมายพิเศษที่เอื้อให้มีการละเมิดสิทธิและการสร้างพยานหลักฐานในการดำเนินคดี หวังผลทางนโยบายทำให้มีผู้ต้องขังโทษประหารจำนวนหนึ่งอาจไม่ใช่ผู้ก่อเหตุจริง หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีจริง เช่นผู้ขนยาเสพติด ฯ มักเป็นเพียงผู้รับจ้างขนแต่ถูกข้อหา ครอบครองเพื่อจำหน่ายเกินจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด ให้สันนิษฐานว่าเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นต้น กฎหมายปราบปรามยาเสพติดมีกำหนดให้ควบคุมตัว3วันในเซฟฮาวส์ได้
คดีอาญาที่เป็นที่สนใจของประชาชน เช่นคดีข่มขืน คดีอุกอาจ ที่สร้างความสะเทือนขวัญให้สาธารณะคดีทำร้ายหรือฆ่านักท่องเที่ยว มักมีการจับกุมบุคคลโดยรวดเร็ว มีการแถลงข่าวการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในทางการข่าวและทางการเมือง โดยมักมีการจัดให้มีการชี้ภาพการนำชี้ที่เกิดเหตุระหว่างการสอบสวน หรือการให้สัมภาษณ์ที่อัดวีดีโอไว้ในชั้นสอบสวน และดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเร็ว
หรือในคดีก่อการร้าย ที่มีกฎหมายพิเศษหลายฉบับควบคุมตัวบุคคลก่อนการนำตัวเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาปกติ ทำให้มีการสร้างหรือนำพยานหลักฐานจากการบังคับให้สารภาพ การทรมานเข้าสู่สำนวนการพิจารณาคดี คดีนโยบายลักษณะนี้ศาลเริ่มที่จะรับฟังพยานบอกเล่าและคำสารภาพของจำเลยในชั้นกฎหมายพิเศษ เชื่อภาพการนำขี้ที่เกิดเหตุระหว่างการสอบสวน หรือการให้สัมภาษณ์ที่อัดวีดีโอไว้ในชั้นสอบสวน ขัดหลักการพิจารณาคดีอาญาปกติ ทำให้ผลของคดีมีจำเลยถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตจำนวนมากขึ้น
เมื่อกระบวนการยุติธรรมของเรายังไม่ใสกิ๊ก ความอิสระของผู้พิพากษายังมีการตั้งคำถามได้ เราน่าจะต้องยุติการประหารชีวิตไว้ก่อน และทำการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เมื่อการซ้อมทรมานและการอุ้มหายยังไม่เป็นความผิดทางอาญาและยังเป็นเครื่องมือของจนท.บางกลุ่มในการทำคดี หรือปิดคดี และผู้กระทำผิดในข้อหาเหล่านี้ยังลอยนวลพ้นผิด เราน่าจะต้องยุติการประหารชีวิตไว้ก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายที่ยัดยา ยัดข้อหาประชาชนตามข่าวรายวันยังคงไม่ได้รับการลงโทษ ลอยนวลพ้นผิด เราน่าจะต้องยุติการประหารชีวิตไว้ก่อน การส่งเสริมให้มีการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมต้นทางในชั้นตำรวจมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การเข้าถึงทนายความ การนำตัวไปปรากฏต่อหน้าศาลโดยทันทีเป็นกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกละเลยอาจเป็นเพราะทรัพยากรและบุคคลากรที่เป็นทนายความอาสาไม่ได้รรับค่าตอบแทนที่เพียงพอ ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมชั้นต้นมีปัญหากว่าจะมีการช่วยเหลือคดีในชั้นต่อต่อมาก็ไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานได้อีก จึงเป็นปัญหาที่ทำให้เราสรุปว่าถ้ายังไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำได้ การประหารชีวิตน่าจะต้องยุติไว้ก่อน
ทำไมจึงต้องยุติโทษประหารชีวิต
แม้ว่าในเบื้องต้นผู้เสียหายเช่นเหยื่ออาชญกรรมต้องการแก้แค้น เอาคืน แต่ตามความเป็นจริงสิ่งที่เหยื่อต้องการคือการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก ขอให้เคสนี้เป็นเคสสุดท้าย และที่สำคัญความเป็นธรรมสำหรับเหยื่อคือการกลับคืนสู่สถานะเดิม ตราบที่กลไกยุติธรรมของไทยยังไม่อาจเยียวยาเหยื่อได้ด้วยความเป็นธรรมรูปแบบอื่นที่เหมาะสมและมีอารยะกว่าการประหารชีวิต สังคมส่วนใหญ่ยังคงมีทัศนะของการแก้แค้นเอาคืน ขั้นตอนก่อนการยุติโทษประหารชีวิตคือการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม การเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญาให้เหมาะสมเพียงพอโดยไม่เลือกปฏิบัติ การเยียวยาที่เหมาะสม เพียงพอ และทำให้เขาได้ศักดิ์ศรี คำขอโทษ หรือการให้อภัยต่อผู้กระทำผิด เมื่อนั้นโทษประหารชีวิตก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
ข่าวเผยแพร่