วันนี้ (25 ก.ย. 2561) ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 561/2560 ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย 14 คน เป็นชายชาวจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี อายุระหว่าง 19-32 ปี ในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการวางแผน และเตรียมก่อเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ เหตุเกิดช่วงเดือนตุลาคม 2559
โดยศาลพิพากษาว่าจำเลย 9 คน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (เป็นอั้งยี่) และมาตรา 210 (เป็นซ่องโจร) ลงโทษจำคุกความผิดละ 3 ปี รวมเป็น 6 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้เหลือความผิดละ 2 ปี รวมเป็น 4 ปี ได้แก่
จำเลยที่ 1 นายตาลมีซี โต๊ะตาหยง
จำเลยที่ 2 นายอับดุลบาซิร สือกะจิ
จำเลยที่ 3 นายมูบาห์รี กะนา
จำเลยที่ 4 นายอุสมาน กาเด็งหะยี
จำเลยที่ 9 นายนิเฮง มะยี
จำเลยที่ 10 นายอัมรี หะ
จำเลยที่ 11นายนุรมัน อาบู
จำเลยที่ 12 นายมูฟตาดิน สาและ
จำเลยที่ 13 นายต่วนฮาฟิต ดือมุงกาป๊ะ
แต่สำหรับจำเลยที่ 3 ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจพบสารระเบิด PETN ที่มือ จึงลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือ 2 ปี รวมกับโทษจำคุกในฐานความผิดอั้งยี่และซ่องโจรอีก 4 ปี รวมจำคุก 6 ปี
ส่วนจำเลยอีก 5 คน ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนัก จึงให้ยกฟ้อง โดยไม่ได้สั่งให้ควบคุมตัวระหว่างอุทธรณ์ จำเลยทั้ง 5 คน จึงจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เวลาประมาณ 19.00 วันนี้ ได้แก่
จำเลยที่ 5 นายมีซี เจ๊ะหะ
จำเลยที่ 6 นายปฐมพร มิหิแอ
จำเลยที่ 7 อัมรัน มะยี
จำเลยที่ 8 นายวิรัติ หะมิ
จำเลยที่ 14 นายมูฮัมหมัดซาการียา ดามุง
ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลาประมาณ 10.30 น. โดยมีญาติของจำเลย นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังเต็มห้องพิจารณาคดี ศาลเริ่มด้วยการสรุปคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยทั้ง 14 คนฟ้อง พร้อมทั้งอธิบายให้ญาติและจำเลยเข้าใจว่าคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด และศาลเชื่อว่าจะต้องต่อสู้กันถึงชั้นศาลฎีกาแน่นอน นอกจากนี้ ศาลยังได้ถามจำเลยทั้ง 14 คนอีกครั้งว่า ในคดีนี้ ทุกคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา มีใครจะเปลี่ยนคำให้การหรือไม่ จำเลยทั้งหมดยืนยันคำให้การเดิม
ประเด็นที่น่าสนใจในคำพิพากษา
– คำพิพากษาของศาลที่อ่านวันนี้ ได้ระบุถึงการก่อตั้งขบวนการกู้ชาติปาตานีเพื่อแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี 2503 และกล่าวถึงเหตุก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ศรีสาคร และ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยส่วนใหญ่ในคดีนี้ อีกทั้งได้กล่าวถึงเหตุระเบิดที่มีนายอุสมาน เจ๊ะเงาะ ซึ่งเป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นผู้บงการการเตรียมก่อเหตุระเบิดในย่านรามคำแหง และสมุทรปราการ ซึ่งนำมาสู่การจับกุมจำเลยทั้ง 14 คนในคดีนี้ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังจับกุมตัวในอุสมานไม่ได้
– ศาลให้น้ำหนักกับบันทึกการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอ้างอิงจากบันทึกการซักถามผู้ต้องสงสัยระหว่างการควบคุมตัวของทหาร และการที่จำเลยสมัครใจไปชี้ที่เกิดเหตุ เช่น ห้องพัก จุดทิ้งอุปกรณ์ประกอบระเบิด เป็นต้น ส่วนคำเบิกความของจำเลยอย่างน้อย 7 คน ที่อ้างว่าถูกข่มขู่ ซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวเพื่อให้รับสารภาพนั้น ศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักพอเนื่องจากไม่มีร่องรอยตามร่างกาย และจำเลยไม่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกทำร้าย
– คำพิพากษาที่อ่านวันนี้ระบุว่า โดยธรรมชาติของคดีก่อการร้ายอย่างเช่นในคดีนี้ ผู้ก่อเหตุมักจะมีการวางแผนอย่างดี และปิดเป็นความลับ ทำให้เป็นการยากที่โจทก์จะหาหลักฐานหรือประจักษ์พยานมายืนยัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีน้ำหนัก
ทั้งนี้ทีมทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งให้ความช่วยเหลือจำเลยในคดีนี้ อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกับจำเลยและญาติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ภายหลังที่ได้รับการคัดถ่ายคำพิพากษาฉบับเต็มซึ่งบางครั้งใช้เวลาสองหรือสามอาทิตย์หลังจากการอ่านคำพิพากษา