[:th]CrCF Logo[:]

นัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีระเบิดน้ำบูดู ศาลอาญารัชดา 25 กันยายน 2561 ห้อง 808 เวลา 9.00 น.

Share

“คดีระเบิดน้ำบูดู” คือชื่อเรียกเหตุการณ์ กวาดจับชายชาวมุสลิมจาก จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ที่ที่พักย่านรามคำแหง กว่า 40 คน เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2559  ส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่มที่ขึ้นมาหางานทำเป็นลูกจ้างรายวันที่กรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ เกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวหลังจากเสียค่าปรับในความผิดฐานเสพน้ำกระท่อม แต่มี 14 คน ที่ถูกควบคุมตัวต่อหรือถูกจับกุมเพิ่ม เนื่องจากเจ้าหน้าที่สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนเตรียมก่อเหตุระเบิดที่ย่านรามคำแหงและ จ.สมุทรปราการ

ต่อมาทั้ง 14 คน ถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย (คดีดำหมายเลข 561/2560) แต่จากการตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่พบเพียงกล่องลังที่ใส่น้ำบูดู และอุปกรณ์ทำข้าวยำเท่านั้น นักสิทธิมนุษยชนและผู้ติดตามคดีนี้จึงเรียกคดีนี้ว่า “คดีระเบิดน้ำบูดู”

ประเด็นสำคัญในการเบิกความในชั้นศาลของจำเลยที่ทั้งสิบสี่คนอยู่ที่การถูกซ้อมทรมานขณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2559 เพื่อให้ยอมรับสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนก่อเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ และการบังคับให้ชี้จุดเกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพทั้งที่จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน

โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างสาเหตุว่า มีการซ่องสุมและจะก่อเหตุระเบิด ‘คาร์บอม’ จนนำมาสู่การขยายผลจับกุมในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนราธิวาสด้วย พยานหลักฐานมีเพียงกล่องลังที่ใส่น้ำบูดูเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดได้จากห้องพัก และต่อมาได้เพิ่มหลักฐานคือสาร PETN ในมือของจำเลยที่ 3

นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของคดี และเลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในวันสอบพยานเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2561 โดย พ.อ. ชัชภณ สว่างโชติ รอง ผอ. ศูนย์สันติวิธี กอ. รมน. ภาค 4 สน ได้เบิกความถึงตอนที่เขาได้รับตัวจำเลยที่ 10-14 มาอยู่ที่ศูนย์สันติวิธีซึ่งมีนโยบายเสริมสร้างความเข้าใจแก่ผู้หลงผิดในมิติศาสนา ซึ่งพยานได้เบิกความที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 10-14 เนื่องจากพยานให้การว่าเชื่อว่าจำเลยทั้ง 5 คนไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีนี้ แต่ในทางคดีก็อยู่ที่พนักงานตำรวจว่ามีหลักฐานอะไรอีกนอกเหนือจากนี้   นอกจากนี้ พ.อ. ชัชภณ ซึ่งเป็นพยานปากนี้ได้ให้การว่า ทราบว่าจำเลยที่ 10-14 เคยถูกควบคุมตัวที่กรุงเทพฯ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัว จากนั้นพ่อแม่ของจำเลยที่ 10-14 ได้ส่งตัวจำเลยที่ 10-14 มาเข้าร่วมโครงการของศูนย์สันติวิธีที่พยานเป็นผู้ดูแลอยู่ ซึ่งตอนนั้นจำเลยที่ 10-14 ก็เชื่อว่าจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่พอจำเลยที่ 1-9 ถูกดำเนินคดีเป็นกลุ่มแรก จำเลยที่ 10-14 จึงถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันคืออั้งยี่, ซ่องโจร ครอบครองวัตถุระเบิด

รายละเอียดของคดี

จำเลย 14 คน
1. นายตาลมีซีฯ (จำเลยที่ 1) อายุ 33 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
2. นายอับดุลบาซิรฯ (จำเลยที่ 2) อายุ 22 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
3. นายมูบาห์รีฯ (จำเลยที่ 3) อายุ 25 ปี อาชีพกรีดยาง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
4. นายอุสมานฯ (จำเลยที่ 4) อายุ 24 ปี อาชีพรับจ้าง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
5. นายมีซีฯ (จำเลยที่ 5) อายุ 21 ปี ชาว อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ก่อนถูกจับทำงานเป็น รปภ. ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพ
6. นายปฐมพรฯ (จำเลยที่ 6) อายุ 21 ปี ชาวอ.จะแนะ จ.นราธิวาส ก่อนถูกจับทำงานเป็น รปภ. ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพ
7. นายอัมรันฯ (จำเลยที่ 7) อายุ 26 ปี  อาชีพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
8. นายวิรัติฯ  (จำเลยที่ 8) อายุ 26 ปี เป็นชาว อ.จะแนะ จ.นราธิวาส อาชีพรับจ้างทั่วไป
9. นายนิเฮงฯ (จำเลยที่ 9) อายุ 30 ปี อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส อาชีพกรีดยางและรับจ้างทั่วไป
10. นายอัมรีฯ (จำเลยที่ 10) อายุ 21 ปี อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส อาชีพรับจ้าง
11. นายนุรมันฯ (จำเลยที่ 11) อายุ 30 ปี อาชีพรับจ้าง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
12. นายมูฟตาดินฯ (จำเลยที่ 12) อายุ 20 ปี อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส อาชีพรับจ้าง
13. นายต่วนฮาฟิตฯ (จำเลยที่ 13) อายุ 24 ปี ก่อนถูกจับทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารฟาสฟู๊ดที่กรุงเทพ
14. นายมูฮัมหมัดซาการียาฯ (จำเลยที่ 14) อายุ 21 ปี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทำงานเป็น รปภ.ที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในกรุงเทพ

ลำดับเหตุการณ์การจับกุม และการควบคุมตัว

9 ตุลาคม 2559  มีนบุรี กทม.
– นายนิเฮง มะยี (จำเลย 9) ถูกตำรวจจับกุมขณะทำงานเป็น รปภ. ที่อพาร์ตเมนต์ย่านมีนบุรี และถูกนำตัวไปที่ สน. มีนบุรี โดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา ผ่านไปประมาณ 1 ชม. มีทหารมารับไปที่ มทบ.11

10 ตุลาคม 2559 รามคำแหง กทม.
– ตำรวจบุกตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาที่ห้องพักย่านรามคำแหงช่วงเช้าในข้อหาเสพน้ำกระท่อม หลังถูกจับกุม ถูกนำตัวไปที่ สน. หัวหมาก วันรุ่งขึ้น (11 ต.ค. 2559) ถูกนำตัวไปศาลอาญาเพื่อเสียค่าปรับคดีเสพน้ำกระท่อม เวลา 20.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารมารับตัวจาก สน.หัวหมาก ไปสอบสวนต่อที่ มทบ. 11 ถ.นครชัยศรี

1. ตาลมีซี (จำเลย 1) ถูกจับกุมที่ห้องพักของต่วนฮาฟิต (จำเลย 13) ใน ซ.รามคำแหง 53/1
2. อุสมาน (จำเลย 4) ถูกจับกุมที่ห้องพักของต่วนฮาฟิต (จำเลย 13) ใน ซ.รามคำแหง 53/1
3. อัมรี (จำเลย 10) ถูกจับกุมที่ห้องพักของต่วนฮาฟิต (จำเลย 13) ใน ซ.รามคำแหง 53/1
4. นุรมัน (จำเลย 11) ถูกจับกุมที่ห้องพักของต่วนฮาฟิต (จำเลย 13) ใน ซ.รามคำแหง 53/1
5. มูฟตาดิน (จำเลย 12) ถูกจับกุมที่ห้องพักของต่วนฮาฟิต (จำเลย 13) ใน ซ.รามคำแหง 53/1
6. วิรัติ (จำเลย 8) ถูกจับกุมที่ห้องพักใน ซ.รามคำแหง 49
7. มีซี (จำเลย 5) ถูกจับกุมที่ห้องพักของนายวิรัติ (จำเลย 8) ใน ซ.รามคำแหง 49
8. ปฐมพร (จำเลย 6) ถูกจับกุมที่ห้องพักของนายวิรัติ (จำเลย 8) ใน ซ.รามคำแหง 49
9. มูฮัมหมัดซาการียา (จำเลยที่ 14) ถูกจับกุมที่ห้องพักหมายเลข 108 ใน ซ.รามคำแหง 53/1
10. อัมรัน (จำเลย 7) ถูกจับกุมที่ห้องพักของมูฮัมหมัดซาการียา (จำเลย 14) ซ.รามคำแหง 53/1

17 ตุลาคม 2559 อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
– อับดุลบาซิร (จำเลยที่ 2) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ควบคุมจากบ้านพักใน อ.ศรีสาคร ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
– มูบาห์รี  (จำเลย 3) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ควบคุมตัวจากบ้านพักใน อ.ศรีสาคร ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี

พฤษภาคม 2560
ต่วนฮาฟิต (จำเลย 13) เข้ามอบตัวที่กองปราบปราม หลังจากถูกออกหมายจับ

มีนาคม 2561
– มูฮัมหมัดซาการียา (จำเลยที่ 14) ซึ่งเคยถูกจับกุมที่ห้องพักใน ซ.รามคำแหง 53/1 และถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวนที่ มทบ.11 แล้วครั้งหนึ่ง ถูกจับกุมอีกครั้งตามหมายจับที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ และถูกพามาแถลงข่าวที่กองปรามปราม

ลำดับเหตุการณ์หลังถูกจับกุม

ตุลาคม 2559
หลังจากถูกจับกุมในครั้งแรก จำเลยถูกนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายทหาร ได้แก่ มทบ. 11 (กรุงเทพฯ), ค่ายอิงคยุทธบริหาร (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 (อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส) ซึ่งจำเลยส่วนหนึ่งให้การว่าถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพในค่ายทหารเหล่านี้ จำเลยถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อสอบสวนในข้อหาเตรียมก่อเหตุระเบิด ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวระยะสั้นๆ ก่อนจะถูกออกหมายจับและถูกจับกุมอีกครั้ง ช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2559  ยกเว้นต่วนฮาฟิต (จำเลย 13) ที่เข้ามอบตัวพฤษภาคม 2560 และมูฮัมหมัดซาการียา (จำเลย 14) ที่ถูกจับกุมมีนาคม 2561 ทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นับแต่นั้นมา โดยไม่เคยได้รับการประกันตัว

22 กุมภาพันธ์ 2560
– พนักงานอัยการฟ้องตาลมีซี กับพวก รวม 9 คน

16 มิถุนายน 2560
– พนักงานอัยการฟ้องอัมรีย์ กับพวก รวม 4 คน

5 เมษายน 2561
– พนักงานอัยการฟ้อง มูฮัมหมัดซาการียา

พฤษภาคม- 17 กรกฎาคม 2561
– ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนพยานโจทก์ทั้งหมด 36 ปาก พยานโจทก์ปากสุดท้าย คือ พ.ต.ท. หญิง ดวงมณี พานนาค สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ขึ้นให้การเมื่อ 17 กรกฎาคม 2561

31 กรกฎาคม-3 สิงหาคม 2561
– ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยทั้งหมด 15 ปาก โดยจำเลยทั้ง 14 คนขึ้นให้การในฐานะพยาน และอีก 1 คนเป็นภรรยาของจำเลย

25 กันยายน 2561
– ศาลนัดฟังคำพิพากษา

คำให้ของจำเลยเรื่องถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร
จำเลย 7 จากทั้งหมด 14 คน ให้การต่อศาลระหว่างขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลยในชั้นศาลว่าถูกข่มขู่ ซ้อมทรมาน โดยเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อให้รับสารภาพระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร คือ  มทบ.11 (กรุงเทพฯ), ค่ายอิงคยุทธบริหาร (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 (อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส) รูปแบบการซ้อมทรมานและข่มขู่มีทั้งการเอาสายไฟฟ้ามาช็อต ปืนจ่อศีรษะ ใช้รองเท้าบู๊ตทหารทุบที่หลัง ทุบตีที่ศีรษะและลำตัว ล็อกคอ-บีบคอให้หายใจไม่ออก ถีบหน้าอก ใช้เครื่องยิงลวดเย็บกระดาษยิงที่ขา ราดน้ำแล้วน้ำไปขังในห้องที่เย็นจัดเป็นเวลานาน เป็นต้น

หนึ่งในจำเลยยังเปิดเผยชื่อของตำรวจที่มีส่วนในการทำร้ายร่างกายและบังคับให้รับสารภาพด้วย

Source: https://prachatai.com/journal/2018/05/76920