ใบแจ้งข่าว
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงกังวล
เกี่ยวกับคดีผู้ลี้ภัยกลุ่มชาติพันธุ์มงเทนยาด (Montagnards) จากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและกัมพูชา
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ส่งหนังสือที่ สนส. 48/2561 ถึงศาลแขวงนนทบุรี สำนักงานศาลยุติธรรมเรื่องขอแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับคดีผู้ลี้ภัยกลุ่มชาติพันธุ์มงเทนยาด (Montagnards) จากสาธารณรัฐสังคมนิยมวียดนามและกัมพูชา สืบเนื่องจากสมาชิกของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้รับการติดต่อจากองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุมดำเนินคดี และฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงนนทบุรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมงเทนยาดที่ลี้ภัยประหัตประหาร การเลือกปฏิบัติและการกดขี่มาจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและกัมพูชา เพื่อแสวงหาที่ลี้ภัยต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สำนักงานประจำประเทศไทย ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว บางส่วนได้รับการรับรองจาก UNHCR และมีบัตรประจำตัวที่ออกโดย UNHCR และบางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาของ UNHCR
สมาคมฯ ทราบจากทนายความซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมฯ ว่าในการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวข้างต้นในครั้งแรก ไม่มีการจัดหาล่ามให้จำเลย แต่ต่อมาได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยใช้ล่ามแปลภาษาที่องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือจัดหาไปให้ ทำให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคำนึงถึงสิทธิของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 14.3 (ฉ)
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ทราบว่ายังมีคดีของกลุ่มผู้ลี้ภัยที่กำลังจะถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลนี้อีกจำนวนมากจึงมีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อความเพียงพอของล่ามแปลภาษาซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นชาวต่างชาติซึ่งเป็นนักลงทุนที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ย่อมต้องได้รับสิทธิดังกล่าวโดยเสมอหน้ากัน
นอกจากนี้ สมาคมฯ ขอเรียนต่อท่านว่าปัญหาผู้ลี้ภัย เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมากและเป็นคนละกลุ่มกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 นิยามสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า หมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง กล่าวโดยสรุปคือหากกลุ่มคนเหล่านี้สามารถอยู่ในประเทศของตนเองได้ก็จะไม่ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองและออกเดินทางมายังประเทศอื่นเพื่อขอลี้ภัย แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย แต่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่จะต้องปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างผู้ลี้ภัยและไม่ส่งกลับไปเผชิญกับภัยประหัตประหารหรือการกดขี่ (non-refoulement) และนำหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 มาประกอบการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดี โดยให้ความสำคัญและคำนึงความซับซ้อนของปัญหาผู้ลี้ภัย
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to a fair trial) โดยไม่เลือกปฏิบัติ มีสมาชิกเป็นนักกฎหมายและทนายความที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในทุกภาค ทั่วประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ทนายรัษฎา มนูรัษฎา อุปนายกสมาคมฯ 081 439 4938