เผยแพร่วันที่ 24 สิงหาคม 2561
แถลงการณ์กรณีพลทหาร ถูกซ้อมทรมานจนอาการสาหัส ขอให้ออกกฎหมายใหม่ให้การทรมานเป็นความผิดอาญา และให้กองทัพสร้างมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
สืบเนื่องจากกรณีที่มีรายงานข่าวที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 พลทหารคชา พะชะ อายุ 22 ปี ทหารเกณฑ์สังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 3 รอ.) จังหวัดลพบุรี ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการบาดเจ็บสาหัส โดยเบื้องต้นผู้บังคับกองพันในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนยอมรับว่าผู้ที่กระทำความผิดคือพลทหารด้วยกันเอง 3 นาย ซึ่งสามารถจับตัวผู้กระทำความผิดได้ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยและคดีอาญาต่อผู้กระทำผิด
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่กรณีแรกและพบว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ซ้อมทรมานพลทหารจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสเช่นนี้หลายครั้ง รวมทั้ง เมื่อปี 2554 กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกครูฝึกหน่วยฝึกทหารใหม่ลงโทษด้วยวิธีการซ้อมทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย ปี 2559 กรณีสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ผู้ต้องขังเรื่อนจำมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ ถูกผู้คุมเรือนจำทหารกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ที่มีข้อห้ามการทรมานโดยเด็ดขาด นับแต่ปีพ.ศ. 2540 และได้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการประติบัติอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2550 แต่พบว่าประเทศไทยยังขาดหลักประกันทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่จะยุติการซ่อมทหารจนเป็นเหตุให้ถึงแก่บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม พันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาต่อต้านฯ ดังกล่าว
แม้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พค. 2560 หรือการจัดทำร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหายปีพ.ศ….แต่ก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่อย่างใด จึงยังถือว่าประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา ตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาการต่อต้านการทรมานแต่อย่างใด
การขาดซึ่งมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในข้อหาความผิดฐานกระทำทรมาน ไม่มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันการทรมานอย่างจริงจัง และไม่มีการสืบสวนสอบสวนคดีทรมานอย่างมีประสิทธิภาพ เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้อื่นจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและหลายกรณี ทำให้ไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นในค่ายทหาร
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอสนับสนุนท่าทีของผู้บังคับกองพันฯ และผู้บัญชาการทหารบกต่อกรณีของ พลทหารคชา พะชะ ที่ออกมาเปิดเผยและยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการทางวินัยและคดีอาญาต่อทหารที่กระทำผิด และผู้บังคับบัญชาที่อาจเกี่ยวข้องหรือละเลยจนทำให้เกิดการกระทำผิด แต่เนื่องจากการสืบสวนสอบสวนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพลทหารคชาฯ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ระหว่างการควบคุมกำกับดูแลของผู้บังคับบัญชาต้องการเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระ จึงขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีอำนาจให้สอบข้อเท็จจริงกรณีนี้อย่างเร่งด่วนและโปร่งใส และหากพบว่ามีผู้กระทำความผิดต้องนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา ทั้งจะต้องชดใช้เยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในกรณีนี้ต่อผู้เสียหายอย่างเพียงพอด้วย
เหตุการณ์ในครั้งนี้และหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเป็นความทรงจำที่ก่อให้เกิดบทเรียนแก่กองทัพ เพื่อสร้างมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก