เชิญร่วมสังเกตการณ์คดีเยาวชน 14 คนจากนราธิวาส-ปัตตานีถูกฟ้อง ร่วมกันอั้งยี่ ซ่องโจร

Share

ใบแจ้งข่าว ขอเชิญร่วมสังเกตการณ์คดีเยาวชน 14 คนจากนราธิวาส และปัตตานีถูกฟ้อง ข้อหาความผิดร่วมกันอั้งยี่ ร่วมกันซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง วันที่ 31 กค., 1-3 สิงหาคม 2561 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 เวลา9.00 น. เป็นต้นไป ที่ฟ้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ได้มีการพิจารณาคดีอาญา หมายเลขดำที่ 561/2560 ที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องชายชาวจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานีรวม 14 คน อายุระหว่าง 19-32 ปี ในฐานความผิดร่วมกันอั้งยี่ ร่วมกันซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย โดยจะเป็นการรับฟังพยานฝ่ายโจทก์เป็นนัดสุดท้าย และจะมีการให้การโดยทนายฝ่ายจำเลยเป็นนัดแรก ต่อเนื่องไประหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2561

คดีนี้เกิดขึ้นภายหลังเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจสนธิกำลังตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัยย่านรามคำแหง กรุงเทพฯ และ ต.บางเสาธง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อเดือนตุลาคม 2559 เนื่องจากการข่าวของฝ่ายความมั่นคงระบุว่า มีกลุ่มบุคคลวางแผนลอบวางระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ได้มีการสืบพยานโจทก์ คือ พ.ต.ท. หญิง ดวงมณี พานนาค สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ซึ่งเป็นพยานโจทก์ปากสุดท้ายจากทั้งหมด 36 ปาก

เยาวชน 14 คนที่เดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ จากจังหวัดชายแดนใต้ ถูกจับระหว่างเมื่อวันที่ 10 -15 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ทหารได้บุกเข้าไปตรวจค้นหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และชานเมือง ตามรายงานข่าวว่ามีการเตรียมแผนการวางระเบิด และได้จับกุมชาวมุสลิมเชื้อสายมาลายูอย่างน้อย 50 คนประกอบด้วยชาย 42 คนและหญิงแปดคน เกือบทั้งหมดเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และเยาวชนจากจังหวัดชายแดนใต้ที่เดินทางมาทำงานที่กรุงเทพ ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศใช้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

เยาวชน นักศึกษา และคนงานที่ถูกจับส่วนใหญ่พวกเขาได้รับการปล่อยตัวหลังถูกจับไม่นาน แต่มีอย่างน้อย 14 คนที่ถูกควบคุมตัวต่อ รวมทั้งแปดคนที่ถูกควบคุมตัวที่ทหารบกที่ 11 และอีกหกคนที่สถานีตำรวจหัวหมากในช่วงที่จับกุม ผู้ถูกควบคุมตัวสิบสี่คนนี้มาจากอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส หลายคนมาจากหมู่บ้านเดียวกัน ปัญหาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งมีผลมาจากราคายางตกต่ำอย่างหนัก จนผลักดันให้พวกเขาต้องมาหางานทำที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องทำงานเป็นลูกจ้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

หลังการจับกุม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความช่วยเหลือ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ. บต.) สนับสนุนการเดินทางของครอบครัวให้มาเยี่ยมนักศึกษา และเยาวชนซึ่งถูกจับที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี ไม่มีการอนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ถูกควบคุมตัว รวมทั้งมีข้อร้องเรียนว่ามีการทรมาน และการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมระหว่างการควบคุมตัวโดยหน่วยงานทหาร

ต่อมามีการส่งตัวบุคคลเหล่านี้ไปควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และที่หน่วยเฉพาะกิจ 46 จังหวัดนราธิวาส หลังถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกอีกเป็นเวลาเจ็ดวัน พวกเขาทุกคนได้รับการปล่อยตัว อีกประมาณหนึ่งเดือนต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ปี 2559 เจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดชายแดนใต้ได้ควบคุมตัวเยาวชนทั้ง 14 คนอีกครั้ง โดยบางส่วนเป็นการมามอบตัวที่กองบังคับการตำรวจกองปราบ กรุงเทพมหานคร หลังจากศาลอาญาเห็นชอบให้ออกหมายจับในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงเป็นคดีที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ [คดีอาญา หมายเลขดำที่ 561/2560]

พวกเขาจึงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหนึ่งปีกับแปดเดือน ทางครอบครัวไม่สามารถประกันตัวพวกเขาออกมาได้ เนื่องจากศาลกำหนดวงเงินประกันไว้สูงมาก ทนายความยังมีความเห็นว่าศาลไม่มักจะไม่ให้ประกันตัวบุคคลในคดีความมั่นคง ที่ผ่านมามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่กรุงเทพฯ ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับจำเลยโดยไม่คิดมูลค่า

ข้อมูลเพิ่มเติม
– 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม: พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ โทร 0639751757 (ไทย-อังกฤษ)
– มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  นูรซีกิน ยูโซ๊ะ โทร 099 6296077 (มาลายู-ไทย-อังกฤษ)
– มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม  ทนายความสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ โทร 089873 1626[:]

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading