[:th]CrCF Logo[:]

[:th]จดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส[:]

Share

[:th]จดหมายเปิดผนึกถึง

นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ลงวันที่  19 มิถุนายน 2561

องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามด้านล่างนี้ได้รับข่าวว่าท่านในฐานะผู้นำของ สหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่จะพบปะและต้อนรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของประเทศไทยในวันที่ 20 -25 มิถุนายน พ.ศ.2561  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพบกที่นำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และจัดตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารรัฐบาลเผด็จการทหารมาเป็นกว่าสี่ปี

แม้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แล้ว แต่อำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ในบทบัญญัติ แต่การใช้อำนาจที่มุ่งสนองเป้าหมายความมั่นคงของรัฐดังกล่าว ก็ดำรงอยู่เหนือสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยกำหนดให้รัฐสามารถอ้างความมั่นคงของรัฐที่มีลักษณะเป็นถ้อยคำกว้างๆ และเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจเข้าแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ตามอำเภอใจ ในขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตของประชนไทยลดลงอย่างน่าใจหาย  จากรายงานของ Oxfam  ในปี 2559 ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซีย และอินเดีย ขยับขึ้นจากอันดับที่ 11 ของโลกในปี 2558 ในชั่วโมงทำงานที่เท่ากัน โดยเฉลี่ยผู้ชายจะได้ค่าตอบแทน 100 บาท ผู้หญิงได้ค่าตอบแทน 87 บาท  นอกจากนี้จำนวนคนจนและคนเกือบจนประมาณ 11.6 ล้านคนในปี 2559 นั้น คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมด ทั้งยังเพิ่มจำนวนขึ้นจาก 10.4 ล้านคนในปี 2558 (ร้อยละ 15.5 ของประชากรทั้งหมด) และจำนวนคนจนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึงเกือบ 1 ล้านคน และคิดเป็นอัตราเพิ่มสูงถึงร้อยละ 19.8

แม้ว่าประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรปมีความเห็นเชื่อไปว่า โรดแม๊ปเลือกตั้งของไทยมีความชัดเจน หากแต่คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกเรื่องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาลไทยภายใต้การปกครองแบบเผด็จการกลับเป็นสัญญาเลื่อนลอยสำหรับประชาชนไทย การเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งออกไปหลายต่อหลายครั้ง และความไม่แน่นอนด้วยเงื่อนไขกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองที่ดูเหมือนเป็นข้ออ้างของการสืบทอดอำนาจต่อไป

เราในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมีความกังวลอย่างยิ่งกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทยที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาบริหารกิจการภายในประเทศ

  1. การตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการยุติการพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดหนึ่งราย (ขอสงวนชื่อนามสกุล) อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 โดยการฉีดยาพิษ หลังจากได้มีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2552 ทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียง 14  เดือนที่ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับว่าได้พักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติติดต่อกันเป็นเวลา10 ปี   ทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสได้รับการประกาศว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ  ทั้งนี้การยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นเจตจำนงที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
  2. การจับกุมกลุ่มอยากเลือกตั้งและผู้เห็นต่างทางการเมืองแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ไม่จริงใจทั้งต่อประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก การจับกุมดำเนินคดีกับกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่มีเหตุผลเพื่อกระตุ้นเตือน คสช. ให้ซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญาที่ให้แก่ประชาชน ทั้งการชุมนุมก็ดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  นับตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2561 มีผู้ถูกดำเนินคดีจาก 10 คดีแล้วอย่างน้อย 132 คน
  3. รัฐบาลเผด็จการได้มีคำสั่ง ประกาศ ที่ส่งผลให้มีการใช้อำนาจเผด็จการต่อการบริหารราชการทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม นโยบายที่ดิน การจัดสรรทรัพยากร นอกจากนี้ เพื่ออ้างความชอบด้วยกฎหมายในการกระทำดังกล่าว พบว่า คสช. ออกคำสั่งแล้ว 208 ฉบับ ประกาศ คสช. 128 ฉบับ ส่วนหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. แล้วกว่า 188 ฉบับ ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารเหล่านี้ถูกทำให้มีผลบังคับใช้อยู่ แม้ คสช. จะพ้นจากอำนาจไปและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม หากไม่มีกระบวนการยกเลิกกฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้น
  4. ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ กองกำลังติดอาวุธ ความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินติดต่อยาวนานมาเป็นเวลากว่า 14 ปี มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนกว่า7000คน บาดเจ็บนับหมื่นคน รัฐบาลภายใต้การนำของทหารอนุมัติงบประมาณจำนวนกว่าสามแสนล้านบาทเน้นการปราบปรามการก่อความไม่สงบต่อกลุ่มผู้ต้องสงสัยติดอาวุธโดยใช้ความรุนแรงด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดอาวุธจำนวนกว่า 60,000 นายลงไปในพื้นที่ทำให้มีการใช้อาวุธขนาดเล็กจำนวนมากในพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อย่างค่อนข้างหนาแน่นและส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิมที่ตกเป็นผู้สงสัยในการก่อความไม่สงบ  หน่วยงานความมั่นคงใช้การทรมานอย่างเป็นระบบและกฎอัยการศึกในการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและมีปัญหาการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนจนไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษ โดยเฉพาะการทรมานผู้ต้องสงสัย การบังคับให้สูญหายและการเสียชีวิตกว่า400 กรณีที่ต้องสงสัยว่าการเสียชีวิตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง  อีกทั้งเด็กอายุต่ำกว่า18ปี จำนวนคนกว่า 250 คน และผู้หญิงกว่า450 คนเสียชีวิตจากการยิงรายวันและการใช้ระเบิดในพื้นที่สาธารณะ
  5. รัฐบาลคสช.ออกคำสั่งและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ทั้งที่ดิน ป่าไม้ เหมืองแร่ และแหล่งน้ำ โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็น และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คำสั่งและประกาศเหล่านี้ เช่น นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า”คำสั่งคสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 คำสั่งคสช.ที่ 17/2558เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมาย ว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 31/2560 เรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์ ต่างส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนในพื้นที่
  6. นับตั้งแต่ปี 2557 มีเกษตรกรรายย่อย ผู้นำชุมชน และชาวบ้านจำนวนมากถูกดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้านที่ดินและป่าไม้ คำสั่งที่ 64/2557 ให้อำนาจทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เป็นผู้นำภารกิจตรวจยึดที่ดินที่ชาวบ้านทำการเกษตรอยู่ จากที่เดิมปฏิบัติการแบบนี้นำโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และคาดว่าจะต้องมีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าทั้งหมด 1,253 พื้นที่ รวม 8,148 หมู่บ้าน[1] ข้อมูลจากแค่สองจังหวัดคือแม่ฮ่องสอนหลังใช้คำสั่งที่ 64/2557 ระหว่างเดือนมิถุนายน 2557- กรกฎาคม 2560 มีคดีเกิดขึ้นทั้งหมด 1,003 คดี เฉลี่ยปีละ 334.3 คดี มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี 136 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ [2]ชาวบ้านในชุมชนห้วยน้ำหิน จังหวัดน่าน ถูกสั่งห้ามใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกิน ทำให้สูญเสียรายได้ และชาวบ้าน 298 ราย ถูกแจ้งข้อหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน [3] ทั่วทั้งประเทศมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐเป็นจำนวนมากถูกดำเนินคดีแล้ว ในข้อหามีไม้ไว้ในครอบครองมากกว่า 500 คดี ถูกไล่รื้อออกจากพื้นที่ทำกินและพื้นที่อยู่อาศัย พืชผลทางการเกษตรถูกตัดฟันทำลาย ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่น ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัวไว้ในค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ เรื่องทรัพยากร  หลังจากรัฐประหารมีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากชุมชนและพื้นที่ชนบทกว่า 220 คนที่ถูกคุกคามโดยการใช้กระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องและกลั่นแกล้งจากการที่พวกเธอปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิในที่ดินและสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและแสดงออก [4]

ข้อเรียกร้อง

  1. ให้นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศสแสดงออกต่อสาธารณะว่าไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทุกรูปแบบภายในการบริหารประเทศของคสช.
  2. ให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ยกเลิก กฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และนโยบายต่างๆ ของคสช.ทุกฉบับ ที่มีสาระและการบังคับใช้ซึ่งละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ตามที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และตราสารสิทธิมนุษยชนฉบับอื่นๆ เช่น อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ให้ยุติการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มบุคคลที่ใช้เสรีภาพของตนเองโดยสุจริตในการวิพากวิจารณ์รัฐบาล หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง กลุ่มประชาชนที่อยากเลือกตั้ง และคดีอื่น ๆที่ดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน
  3. ให้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ยุติการใช้ความรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในลักษณะที่ละเมิดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเร่งสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เช่น การทรมาน การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบ เร่งให้การช่วยเหลือเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง และผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
  4. ให้เพิ่มมาตรการกดดันรัฐบาลคสช.ให้จัดการเลือกตั้งที่โปร่งใส ยุติธรรม และเสรีโดยเร็ว โดยให้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรภาคประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามอย่างใกล้ชิด กดดันให้คสช ยุติการกระทำทั้งทางกฎหมาย นโยบายและการปฏิบัติการที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพคุกคาม ข่มขู่และละเมิดสิทธิของประชาชน สื่อมวลชน พรรคการเมืองและกลุ่มประชาสังคมที่รวมตัวและแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย และปกป้องนักนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามที่เคยประกาศไว้กับสหประชาชาติและชุมชนระหว่างประเทศ
  5. ยุติการดำเนินคดีต่อชาวบ้านทุกคนที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งในการจัดการที่ดินและทรัพยากร มุ่งให้มีการเลือกตั้งและให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดและปฏิบัตินโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ทั้งที่ดิน ป่าไม้ เหมืองแร่ และแหล่งน้ำ ในทุกขั้นตอน

 

องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

มูลนิธิศักยภาพชุมชน

โรงน้ำชา  (TEA group) –

 

[1] https://www.tcijthai.com/news/2015/02/scoop/5659

[2] https://ilaw.or.th/node/4840

[3] https://themomentum.co/reforestation-authoritarianism/

[4] ข้อมูลจากการเก็บข้อมูลของ Protection International[:]

TAG

RELATED ARTICLES