[:th]
กสรุปประเด็นคำวินิจฉัยศาลปครองกลางคดีปู่โคอี้ กะเหรี่ยงแก่งกระจาน ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559
โดย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ส. 58/2555 หมายเลขแดงที่ ส. 660 /2557 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 นายแจ พุกาด ผู้ฟ้องคดีที่ 3 นายหมี หรือกิตา ต้นน้ำเพชร ผู้ฟ้องคดีที่ 4 นายบุญชู พุกาด ผู้ฟ้องคดีที่ 5 นายกื๊อ พุกาด และ ผู้ฟ้องคดีที่ 6 นายดูอู้ จีโบ้ง กับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
กรณีที่ในเดือนพฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เดินทางไปยังบ้านของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 และจุดไฟเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากถือว่าบุกรุกอุทยาน โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 9,533,090 บาท และยินยอมให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
มีเนื้อหาสรุปของคำพิพากษาที่น่าสนใจดังนี้
ศาลปกครองกลางรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นชายไทยพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยง(ปกาเกอะญอ) มีบ้านเรือนอยู่อาศัยในชุมชนกะเหรี่ยงตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีที่ดินทำกินซึ่งทางราชการจัดสรรให้ในชุมชนหมู่บ้านดังกล่าว ส่วนที่ดินแปลงที่เกิดเหตุพิพาทในกรณีนี้ อยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าลึกตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างไทย-สภาพเมียนมาร์ มีการบุกรุกแผ้วถางเผาป่า ในลักษณะที่เป็นการเปิดป่าดงดิบธรรมชาติบนเทือกเขาให้เป็นพื้นที่โล่งึ7สำหรับใช้เพาะปลูกเป็นแปลงใหม่ มีซากต้นไม้และตอไม้ขนาดใหญ่อายุกว่า ๑๐๐ ปี ถูกตัดโค่นและถูกเผากระจายอยู่ทั่วทั้งแปลงที่ถูกบุกรุก ในขณะที่พื้นที่โดยรอบของที่ดินที่เกิดเหตุพิพาทและโดยรอบของที่ดินแปลงอื่นที่ถูกบุกรุกป่าในบริเวณใกล้เคียง ยังคงมีสภาพเป็นป่าดงดิบบนเทือกเขา ไม่มีลักษณะเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง จึงเป็นการบุกรุกแผ้วถางหรือเผาป่าเพื่อเข้ายึดถือครอบครองทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อีกทั้งทำการก่อสร้างเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยหรือยุ้งฉางข้าวบนที่ดินดังกล่าว ย่อมเป็นการก่นสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีการล่าสัตว์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๖ (๑)(๒) และ(๓) พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔
คณะเจ้าหน้าที่เดินเท้าเข้าไปยังสถานที่เกิดเหตุถึง ๓ ครั้ง โดยแต่ละครั้งพบผู้กระทำความผิด จะทำการเจรจาชี้แจ้ง การเจรจาทุกครั้งจะให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงและผู้นำหรือตัวแทนชาวบ้านของทั้งสองหมู่บ้านร่วมกันเป็นผู้ทำหน้าที่เจรจา และกำหนดเวลาให้โอกาสผู้กระทำความผิดไปทำการรื้อถอนเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้าง และเก็บทรัพย์สินออกไปจากที่ดินที่มีการบุกรุกแผ้วถางป่าดังกล่าว การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการครั้งที่ ๔ ครั้งที่ ๕ และครั้งที่ ๖ ไม่พบผู้กระทำความผิด แต่ยังคงมีเพิ่งพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ้งฉางข้าวตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าว โดยเจ้าของไม่ได้ทำการรื้อถอนออกไปตามที่เจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนได้แจ้งเตือนไว้ คณะของพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจที่จะทำการรื้อถอนหรือเผาทำลายได้ และโดยที่สภาพพื้นที่เป็นป่าลึกในลักษณะดังกล่าว การรื้อถอนให้คงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่นสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ การรื้อถอนจึงย่อมจะไม่มีผลทำให้การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกแผ้วถางป่าบรรลุผลไปได้ ดังนั้นการที่คณะเจ้าหน้าที่ได้ทำการเผาสิ่งปลูกสร้างเช่นว่านั้น จึงเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักการความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีสภาพการณ์เช่นนั้นแล้ว เฉพาะในส่วนของความเสียหายที่เกิดกับเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างและยุ่งฉางข้าวที่ถูกเผาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ และไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของคณะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาณเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งหก
การออกคำสั่งของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นคำสั่งทางปกครอง อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้เพื่อให้ใช้บังคับสำหรับคำสั่งทางปกครองที่อาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี จึงหาได้หมายความรวมถึงคำสั่งทางปกครองทั้งหมดทุกประเภทแต่อย่างใดไม่ หากคำสั่งทางปกครองใดไม่ใช่คำสั่งที่อาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งก็ย่อมมีอำนาจที่จะทำคำสั่งโดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนปัญหาว่าคำสั่งทางปกครองใดอาจจะกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีหรือไม่นั้น เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่า ผู้รับคำสั่งทางปกครองนั้นเป็นบุคคลที่มีกฎหมายบัญญัติรับรองหรือคุ้มครองสิทธิไว้หรือไม่ หรือมีการรับรองสิทธิจากเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินแปลงพิพาทที่มีการบุกรุกแผ้วถางอยู่ในท้องที่หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแม่เพรียง เป็นที่ดินที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่ได้รับการจัดสรรให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจึงมิใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำกินในที่ดินแปลงพิพาทแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจึงหาได้มีสิทธิที่จะได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามกฎหมายหรือจากการได้รับอนุญาตตามกฎหมายอันอาจถูกกระทบตามนัยมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ จึงออกคำสั่งดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องดำเนินการตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ให้ความคุ้มครองเฉพาะในการดำเนินชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่เป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการบุกรุกแผ้วถางป่าในลักษณะที่เป็นการเปิดป่าแปลงใหม่ นอกพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมแต่อย่างใด ดังนั้นการกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้งหก จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และไม่อาจจะอ้างความคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้
ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกนั้น เห็นว่า ไม่มีผลบังคับโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนภายในประเทศ หากแต่รัฐจะต้องออกกฎหมายภายในเพื่ออนุวัติ การให้เป็นไปตามอนุสัญญาหรือกฎหมายระว่างประเทศเสียก่อน จึงจะใช้กฎหมายภายในบังคับกับเจ้าหน้าที่และประชาชนภายในประเทศได้ การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต่อสิ่งก่นสร้างและผู้บุกรุกแผ้วถางครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ทราบและไม่ได้คำนึงถึงตัวบุคคลผู้กระทำความผิดว่าผู้กระทำความผิดเป็นใครหรือมีชนชาติหรือเชื้อชาติใดอย่างเฉพาะเจาะจง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติโดยไม่เป็นธรรม
กรณีสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวที่อยู่ในเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยดังกล่าว เป็นสิ่งจำเป็นจะต้องมีไว้ใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอาศัยอยู่ในที่แห่งใดสิ่งของในลักษณะดังกล่าวนี้ ไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือสิ่งต้องห้ามตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ อีกทั้งก่อนที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะทำการจุดไฟเผาเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยที่ปลูกสร้าง เจ้าหน้าที่นั้นอยู่ในวิสัยที่จะทำการเก็บรวบรวมทรัพย์สินหรือสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวเช่นว่านั้น แล้วนำออกมาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานฯ เพื่อประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อขอรับคืนในภายหลังหรือจัดเก็บแยกออกจากสิ่งก่นสร้างที่จะเผาทำลายได้ แต่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่กลับมิได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว โดยปล่อยให้สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวของผู้บุกรุกแผ้วถางป่าที่อยู่ในเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยถูกไฟเผาไหม้ไปพร้อมกับเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้าง ดังจะเห็นได้จากหลักฐานภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นเศษซากสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และของใช้ประจำตัวบางอย่างที่ตกค้างเหลืออยู่ในกองขี้เถ้าอย่างชัดเจน ดังนั้นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ เฉพาะในส่วนที่มีผลทำสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่อยู่ในเพิงพักหรือที่อยู่อาศัยดังกล่าวต้องเสียหายไป ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานตันสังกัดจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ตามมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙
ประเด็นค่าสินไหมทดแทน เห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานที่จะแสดงให้เห็นถึงราคาหรือมูลค่าที่แท้จริงของสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัว ศาลจึงต้องวินิจฉัยไปตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามมาตรา ๔๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในกรณีนี้เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวที่อยู่ในเพิงพัก ซึ่งตั้งอยู่ในป่าลึกบนเทือกเขา และมีการบุกรุกแผ้วถางเปิดพื้นที่ป่าแปลงใหม่ ไม่มีพืชพรรณหรือไม้ยืนต้นที่เกิดจากการเพาะปลูก อันจะแสดงให้เห็นว่าได้มีการเข้ามาพักอาศัยเป็นเวลานานแล้วแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งหกยังมีบ้านพักอาศัยที่แท้จริงอยู่ในชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ บริเวณที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้อยู่อาศัยและทำกินอยู่แล้ว สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนตัวที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกนำมาเก็บรักษาไว้ในเพิงพักดังกล่าว จึงย่อมมีไม่มาก และมีมูลค่าหรือราคาไม่สูงมากนัก เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหมดเป็นเงินจำนวน ๕,๐๐๐ บาท และกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับของใช้ส่วนตัวแต่ละคนรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และของใช้ประจำตัวอื่นๆอีกเป็นเงินจำนวน ๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกแต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนทรัพย์สินอื่นๆของผู้ฟ้องคดีทั้งหก เห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนหรือยืนยันว่ามีทรัพย์สินอยู่จริง และมีมูลค่าหรือราคาตามที่กล่าวอ้างจริง รวมทั้งแต่ละรายการได้รับความเสี่ยหายจริงหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกแต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาททั้งนี้ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
[:]