[:th]CrCF Logo[:]

23 มีค. 2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมส่งหนังสือร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ตรวจสอบเรื่องการทรมานในค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี

Share

เผยแพรวันที่ 23 มีนาคม 2561

ใบแจ้งข่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมส่งหนังสือร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ขอให้ตรวจสอบเรื่องการทรมานในค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี

ในวันที่ 22 มีนาคม 2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ส่งหนังสือร้องเรียน ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ตรวจสอบเรื่องที่มูลนิธิฯได้รับการร้องเรียนจากญาติของผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวสองราย ว่าถูกเจ้าหน้าที่บางคนทรมานในค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ทั้งสองกรณีนั้นเป็นผู้เสียหายที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งเหตุดังกล่าวทั้งสองกรณีเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยผู้เสียหายทั้งสองกรณีได้ถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมบ้าน จับกุมและยึดทรัพย์สินสิ่งของจำนวนหนึ่ง และได้ถูกส่งไปควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานแห่งหนึ่งในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นเวลา 7 วัน หลังจากนั้นได้ถูกส่งไปที่ศูนย์ซักถามอีกแห่งหนึ่งภายในค่ายเดียว โดยกรณีแรกถูกควบคุมตัวโดยกฎหมายพิเศษระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 19 มีนาคม แล้วถูกส่งไปควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางปัตตานี  กรณีที่สองถูกควบคุมตัวระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 22 มีนาคม ขณะนี้ยังคงถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจยะรัง จังหวัดปัตตานีซึ่งจะมีการขออำนาจศาลฝากขังต่อไป

ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปเพื่อขอให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องร้องเรียนพร้อมลงเลขรับเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว โดยกรณีทั้งสองกรณีได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้วด้วย

ตามที่ทางกระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ยืนยันว่าขณะนี้ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. และได้ผ่านความเห็นชอบตามลำดับตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี วิปคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และวิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แล้วซึ่งในชั้นวิป สนช. ได้ตั้งคณะกรรมการฯพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติฯ โดยมีข้อสังเกต 5 ประเด็น คือ การกำหนดคำนิยาม การกำหนดฐานความผิด สถานการณ์ฉุกเฉิน หลักห้ามผลักดันกลับ เขตอำนาจศาล และการรับผิดของผู้บังคับบัญชา ซึ่งกำลังอยูในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการพิจารณากฎหมายต่อไป และในขณะที่ยังการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายยังไม่เป็นความผิดทางอาญา จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จัดตั้งคณะกรรมการการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและการถูกบังคับให้หายสาบสูญตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 รายละเอียดสืบค้นได้ที่https://www.moj.go.th/view/15438

 

 

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร 02 101 5481

TAG

RELATED ARTICLES