แถลงการณ์ กรณีแม่ทัพภาค 4 แจ้งความดำเนินคดีนายอิสมาแอ เต๊ะ ทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาให้กองทัพบก จ่ายค่าชดเชยกรณีควบคุมตัวเกินกฎหมายกำหนดและซ้อมทรมานแล้วเมื่อปี 2559 อาจเข้าข่ายกลั่นแกล้งใช้คดีเพื่อปิดปากนักสิทธิมนุษยชนไม่ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ
ตามที่มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที 14`กุมภาพันธ์ 2561 พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้มอบอำนาจให้ พันโทเศรษฐสิทธิ์ แก้วคูเมือง รองหัวหน้าแผนกกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความต่อพันตำรวจโทถนัด ค่ำควร รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สภ.ปัตตานี ให้ดำเนินคดี นายอิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหากรณีที่นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองจากการถูกเจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดชายแดนใต้ซ้อมทรมาน ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่าทำให้กองทัพภาค 4 และกอ.รมน.ภาค 4 เสื่อมเสียชื่อเสียง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้แทนกอ.รมน. ภาค 4 ที่พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค 4 ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีผู้จัดการออนไลน์ ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่าสื่อมวลชนดังกล่าวได้เผยแพร่เรื่องราวที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ในจังหวัดชายแดนใต้ได้ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว
ในรายการนโยบาย by ประชาชนเรื่อง “ยุติซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ ต้องมีกฎหมาย” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสดังกล่าว นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนถูกจับกุมที่จังหวัดยะลาและระหว่างการถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานีโดยถูกเจ้าหน้าที่ทหารบางคนซ้อมทรมาน และถูกควบคุมตัวเกินกำหนดที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ต่อมานายอิสมาแอ เต๊ะ ได้นำคดีฟ้องต่อศาลปกครองและเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2559 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยระบุว่า นายอิสมาแอ เต๊ะถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายหลังถูกจากถูกจับกุมควบคุมตัวปรากฎพยานหลักฐานตามสำเนาเวชระเบียนจึงมีคำพิพากษาให้กองทัพบกจ่ายค่าเสียหายแก่นายอิสมาแอ เต๊ะ เป็นเงิน 100,000.- บาท และค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 5,000.- บาท แต่แม้มีคำพิพากษาเช่นนั้นไม่ปรากฎว่าได้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดแต่อย่างใด
การที่นายอิสมาแอ เต๊ะ เล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวการที่ตนเองถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหารและขอความเป็นธรรมจากสังคม เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก กอ.รมน. ภาค 4 ทั้งๆศาลก็ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นความจริง ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบธรรม อันพึงกระทำได้ ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ดังที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ที่กำหนดว่า
“ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”
หลังจากได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว นายอิสมาแอ เต๊ะ ได้ร่วมกับเพื่อนๆ รวมทั้งผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ จัดตั้ง เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ขึ้นเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน เพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการซ้อมทรมานให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการชดใช้เยียวยา และเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ อันเป็นการดำเนินการตามสิทธิโดยชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ
การที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และต้องถูกตรวจสอบได้ แจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ โดยหวังผลเพื่อยุติการตรวจสอบ หรือยุติเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่รู้ว่า การกระทำของสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน หรือประชาชนดังกล่าวมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย และในที่สุดอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง ถือว่าเข้าข่ายเป็นการฟ้องคดีปิดปาก (Strategic Litigation Against People Participation-SLAPP) และอาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือมาศาลโดยมือที่ไม่สะอาดได้
สำหรับกรณีนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า แทนที่แม่ทัพภาค 4 หรือ ผอ.รมน.ภาค 4 และผู้บังคับบัญชาระดับสูง จะสืบสวน สอบสวนเอาผู้ที่ซ้อมทรมานและควบคุมขังนายอิสมาแอ เต๊ะโดยมิชอบ จนศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้กองทัพบกต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่นายอิสมาแอ เต๊ะ เพื่อนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษทางวินัยและทางอาญา แต่กลับฟ้องร้องดำเนินคดีนายอิสมาแอ เต๊ะ ที่ยังคงแสวงหาความยุติธรรมอยู่นั้น อาจทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้เห็นว่า การที่ประชาชนจะแสวงหาความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนใต้เป็นสิ่งที่ยากยิ่งและมีความเสี่ยงสูง ในการร้องขอความเป็นธรรม แทนที่ประชาชนจะเป็นโจทก์และได้รับความเป็นธรรม อาจกลับกลายเป็นจำเลยและเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีผลให้ในที่สุดประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ไม่กล้าร้องเรียน และกลัวที่จะเปิดเผยความจริงต่อสังคม เจ้าหน้าที่บางคนที่กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ไม่คิดที่จะปรับปรุงแก้ไขการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ กระทั่งถูกมองว่าส่งเสริมหรือให้ท้ายเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ให้ประพฤติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อไป ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้อย่างยิ่ง
กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่จะต้องตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่ง ในระยะกว่าสิบปีที่ผ่านมา ได้ใช้งบประมาณนับแสนล้านบาท จากเงินภาษีของประชาชน จะได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นให้เสร้างความสงบและสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างไร
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงร้องเรียนให้ พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ได้โปรดพิจารณาทบทวนและถอนคำร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีนายอิสมาแ เต๊ะ และผู้จัดการออนไลน์
ข้อมูลเพิ่มเติม
– นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ โทร 0639751757
– นางสาวจันจิรา จันทร์แพ้ว ทนายความของนายอิสมาแอ เต๊ะ โทร 0657415395
หมายเหตุ รายละเอียดของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.55-56/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1309-1310/2559ระหว่าง นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องที่1 กับนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องที่ 2 กับ กองทัพบกที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกรณีที่นายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏยะลาถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมและซ้อมทรมานในระหว่างถูกควบคุมตัวเพื่อให้รับสารภาพอันจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง อีกทั้งถูกควบคุมตัวเกินกำหนดตามอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457
ศาลพิพากษาให้กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมชดเชยความเสียหายให้แก่อิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1จำนวน 305,000 บาท และอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่2 จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดี ( 14 มกราคม 2552 ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- การควบคุมตัวเกินกำหนดตามอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ. 2457 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ใช้อำนาจโดยมีพฤติการณ์ที่ไม่นำพาต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวน 50,000 บาท
- ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาตรา 32 ระบุไว้ ห้ามมิให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวเหมือนเป็นผู้กระทำผิดโดยที่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากทั้งสองคนนี้ยังไม่ถูกดำเนินคดีหรือแจ้งข้อหา การควบคุมตัวดังกล่าวได้มีการปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 อย่างไม่ถูกต้อง และเกินความจำเป็นระหว่างการควบคุมตัวถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่นำพาต่อกฎหมาย มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้อง ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวน 100,000 บาท
- ค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียศักดิ์ศรี ถูกดูหมิ่นจากเพื่อนบ้านและเพื่อนนักศึกษา ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ได้มีการร้องขอให้มีการจัดการประกาศลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง-หนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบกที่ 1 ศาลพิจารณาว่าการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ก็เป็นการปฏิบัติงานและใช้อำนาจทางกฎหมาย หากแต่เป็นการกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเช่นกัน ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นตำนวนเงิน 50,000 บาท และยกคำขอให้มีการประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและจดหมายเวียน
- กรณีส่วนต่างของค่าชดเชยของผู้ฟ้องคดีที่หนึ่งและผู้ฟ้องคดีที่สอง จำนวน 105,000 บาท เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จับกุม และในขณะควบคุมตัวมีการทำร้ายร่างกายนายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่1 โดยมีหลักฐานว่าถูกทำร้ายร่างกายตามสำเนาเวชระเบียน ส่วนนี้ศาลเห็นควรให้มีการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลจำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฎหลักฐานใดๆ ว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในขณะถูกควบคุมตัว จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้