แถลงการณ์นักกฎหมาย ทนายความ
กรณีการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคุกคามทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
สืบเนื่องจากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหมายเรียกให้นายอานนท์ นำภา ไปรับทราบข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งบิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งพันตำรวจโทสุภารัตน์ คำอินทร์ เป็นผู้แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นั้น
นายอานนท์ นำภา เป็นทนายความที่ใช้วิชาชีพของตนบนเส้นทางสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมมาโดยตลอด ในหลายประเด็น อาทิ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน การเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน การช่วยเหลือคดีบิลลี่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ถูกบังคับสูญหาย รวมถึงคดีเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน อันนำมาสู่การกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคราวนี้ด้วย
พวกเรา นักกฎหมายและทนายความ ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ได้เดินทางมาให้กำลังใจนายอานนท์ ในวันนี้ มีความห่วงกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งถือเป็นตัวแทนในการใช้อำนาจของรัฐ ดังต่อไปนี้
- ความผิดฐานดูหมิ่นศาล มีเจตนารมณ์เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเรียบร้อยไม่ถูกขัดขวาง และเพื่อให้ศาลหรือผู้พิพากษาได้รับความคุ้มครองให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และเป็นธรรม ผู้เสียหายหรือผู้กล่าวหาจึงควรเป็นศาลหรือผู้พิพากษา แต่กรณีนี้ผู้กล่าวหากลับเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จึงเกิดคำถามว่า ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ศาลหรือผู้พิพากษาเองมีความประสงค์จะดำเนินคดีดังกล่าวหรือไม่ หากเป็นกรณที่ศาลหรือผู้พิพากษามีความประสงค์จะดำเนินคดีนี้ ในทางกฎหมายก็ยังคงมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับขอบเขตของการใช้อำนาจของศาลหรือผู้พิพากษาในความผิดฐานนี้
- การใช้การตีความกฎหมายต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับที่ผ่านมา รวมถึงฉบับปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยวางหลักการไว้ว่าการใช้อำนาจรัฐต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยเสมอ การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยหลักแล้วย่อมทำไม่ได้ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจของกฎหมายและจะกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพไม่ได้ กฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพประชาชน เพราะให้อำนาจรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพหลายประการ การใช้การตีความกฎหมายอาญาของเจ้าหน้าที่จึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัดและระมัดระวัง มิเช่นนั้นกฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการละเมิดสิทธิเสรีภาพและกลั่นแกล้งประชาชน
- การใช้การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด สืบเนื่องจากความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ การตีความกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายที่กระทบสิทธิเสรีภาพจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด การที่จะกล่าวหาบุคคลใดว่ามีความผิดอาญาดังเช่น ความผิดฐานดูหมิ่นศาลนั้น ต้องเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่ามีการใช้ถ้อยคำที่เข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นศาลจริงหรือไม่ ซึ่งในทางวิชาการการดูหมิ่น หมายถึง การกระทำอันเป็นการเหยียดหยาม ลดคุณค่าของศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี เช่น กล่าวหาว่าผู้พิพากษารับสินบนจึงทำให้ตนแพ้คดี หรือกล่าวหาว่าผู้พิพากษาลำเอียงไม่มีความยุติธรรมในการพิจารณาคดีของตน เป็นต้น หากยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอ เจ้าหน้าตำรวจก็ต้องไม่ใช้อำนาจไปดำเนินคดี ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นการตีความกฎหมายอาญาโดยขยายความออกไปจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน
- การใช้การตีความกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐต้องกระทำโดยสุจริต เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ การใช้อำนาจย่อมต้องมุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นหลักโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่อาจมีความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ดังนั้น การบังคับใช้และการตีความกฎหมายอาญาเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลใดจะต้องมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เพียงพอ และสามารถแสดงเห็นหรืออธิบายได้อย่างชัดแจ้งและมีเหตุผลว่าการกระทำตามข้อเท็จจริงนั้นฝ่าฝืนกฎหมายใด
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น พวกเราเห็นว่าการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับนายอานนท์ นำภา รวมทั้งทนายความด้านสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆที่ทำหน้าที่ทนายความเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ ทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความของนักศึกษากลุ่มดาวดินและกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ตลอดจนการดำเนินคดีกับชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวที่ออกมาทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและประชาธิปไตยตลอดระยะที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นการเคลื่อนไหว การแสดงออก การชุมนุมอย่างสันติ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าเป็นการบังคับใช้และตีความกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการใช้กฎหมายที่มุ่งจะยับยั้งการแสดงออก การมีส่วนร่วมหรือขัดขวางการทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ดังนั้น การดำเนินคดีในลักษณะเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไป ต้องให้ความสำคัญและติดตามตรวจสอบให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้และตีความกฎหมายให้ถูกต้องและเป็นธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของตนเองหรือชุมชน และทนายความสามารถใช้ความรู้ความสามารถและวิชาชีพปกป้องสิทธิของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากทนายความไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ประชาชนที่ตกเป็นลูกความก็ย่อมไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและปกป้องสิทธิของตนเองได้
ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเพื่อนนักกฎหมาย ทนายความที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน