[:th]CrCF Logo[:]
ภคพงศ์ ตัญกาญจน์

กองบัญชาการกองทัพไทย สรุปการตายของนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ พรุ่งนี้ | บีบีซี ไทย

Share

Summary: Phakhapong Tanyakan, a first year student at the Armed Forces Academies Preparatory School, died on 17 October under mysterious circumstances and his organs were removed. Later on, the Thai Army appointed an investigation committee to look into this case, however, 18 days later, the committee reported that the investigation was not yet completed. On 14 December, the committee will send their result to the Supreme Commander of Defence Forces. BBC has discovered that for the past 10 years, there have been 9 cases of death in Military compounds. Cross Cultural Foundation (CrCF) provides legal assistance to 4 cases of death in Military compounds including the case of Kittikorn of which was followed up by his mother who filed a case against the Thai Army.

18 วัน หลังกองทัพไทย ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของ “น้องเมย” คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของกองทัพ ออกมาระบุว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่จะส่งผลสอบให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 14 ธ.ค. นี้ ด้านเอ็นจีโอเรียกร้องให้ทหารเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นเข้าพิสูจน์ความจริงด้วย

หลัง น.ส. วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ออกมาเปิดเผยว่า กองบัญชาการกองทัพไทย สรุปผลสอบการเสียชีวิตว่า เกิดจากปัญหาสุขภาพ ไม่ใช่เพราะถูกซ่อม

วานนี้ (12 ธ.ค.) เฟซบุ๊กของ น.ส. วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ได้เปิดเผยผลสรุปที่อ้างว่าเป็นรายงานข่าวจากการประชุมคณะกรรมการสอบสวนที่มี พล.อ.อ. ชวรัตน์ มารุ่งเรือง รองเสนาธิการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานเมื่อเย็นวันเดียวกัน ระบุว่าการเสียชีวิตของน้องเมย หรือนายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 “เกิดจากปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากหลายสาเหตุ ส่งผลให้หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”

รายงานข่าวนี้ระบุว่า ผลสรุปออกมาหลังจากสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 41 คน ข้อมูลประวัติการรักษาทางการแพทย์และการเข้าห้องพยาบาลของน้องเมย รวมทั้งคำให้การของนักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่ รุ่นน้อง “ยืนยันว่าน้องเมยไม่ค่อยแข็งแรงป่วยบ่อย เข้าห้องพยาบาลบ่อย” ตรงกับผลการสอบสวนก่อนหน้านี้ของโรงเรียนเตรียมทหารโดยมีแพทย์ยืนยัน

ข้อเขียนนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอีกในสังคมไทย ถึงความโปร่งใสของการตรวจสอบแบบ “ทหารสอบทหารกันเอง” เช่นนี้ แม้ว่า พล.อ.อ. ชวรัตน์ ออกมาปฏิเสธว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่คืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 90 พล.อ.อ.ชวรัตน์ยังกล่าวอีกด้วยว่า ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการสอบถามข้อมูลจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและรายงานผลสรุปต่อ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) รับทราบ ในวันพรุ่งนี้ (14 ธ.ค.) “ส่วนจะมีการแถลงข่าวหรือไม่ เป็นการตัดสินใจของ ผบ.สส.”

ขณะที่เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานอ้างคนใกล้ชิดของครอบครัวตัญกาญจน์หลังทราบผลสอบของกองทัพว่า “ก็คิดไว้แล้วว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของทางกองบัญชาการกองทัพไทยจะออกมาในลักษณะนี้” และเตรียมดำเนินการในชั้นศาลหลังวันที่ 16 ธ.ค.

โคทม แนะทหารเปิดหน่วยงานอื่นร่วมสอบข้อเท็จจริง

การสอบสวนข้อเท็จจริงของการเสียชีวิตของนักเรียนทหารและทหารไทยในค่าย ในลักษณะ “ทหารตั้งกรรมการสอบสวนกันเอง” เกิดขึ้นหลายกรณีตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อกระแสหลักในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และทุกครั้งก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใสของกระบวนการ

ดร. โคทม อารียา นักสันติวิธี และกรรมการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับบีบีซีไทยว่าไม่ว่าผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่ทหารตั้งขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ทหารก็ควรเปิดโอกาสให้กับหน่วยงานอื่นเข้าไปสอบสวนกรณีนี้ด้วย เพราะการสอบสวนกันเองย่อมไม่เกิดผลดีแก่ทหาร เพราะไม่สร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นมา แม้ว่าผลการสอบสวนเป็นจริง แต่ก็ยังคงสร้างความคลางแคลงใจในสังคมอยู่ดี

“กรณีนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ก็น่าจะเปิดให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่นี้โดยตรงเข้าไปสอบสวน เก็บข้อมูล เพื่อสรุปคดี และหากมีความจำเป็นก็ต้องส่งต่อไปให้ศาลเพื่อพิจารณากันต่อไป เพื่อดำรงความยุติธรรมเอาไว้ ตรวจสอบกันหลายหน่วยงานก็น่าจะดีกว่าตรวจกันเองทำกันเองเป็นการภายใน

ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ทหารที่เสียชีวิตในค่ายทหาร 4 ราย ซึ่งญาติสงสัยว่าเป็นการตายจากการกระทำของผู้อื่น กล่าวว่าแม้กรณีของน้องเมยจะไม่ชัดเจนว่าถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตเหมือนที่ทางมูลนิธิช่วยเหลือทางคดีอยู่ แต่ก็เป็นการเสียชีวิตในสถานที่ราชการและมีกระบวนการที่ยังไม่กระจ่างชัด ทำให้สังคมยังคงตั้งคำถาม

“เราถือว่าคดีทหารเสียชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และญาติ ๆ ก็ต้องได้รับความเป็นธรรม ควรมีการสอบสวนที่กระจ่างชัดโดยกระบวนการยุติธรรมที่นอกเหนือจากการสอบสวนของฝ่ายทหาร รวมทั้งการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ที่โปร่งใสชัดเจน ที่ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตเกิดความเชื่อมั่น” น.ส.พรเพ็ญกล่าว

ย้อนดูการฟ้องร้องของญาติต่อหน่วยงานต้นสังกัด

บีบีซีไทยได้รวบรวมข้อมูลพบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีกรณีทหารเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในค่ายอยู่ประมาณ 9 กรณีด้วยกัน ซึ่งบางครอบครัวก็ฟ้องร้องทั้งอาญาและแพ่ง อย่างเช่น กรณีของพลทหารวิเชียร เผือกสม เสียชีวิตที่ค่ายทหารนราธิวาส เพราะถูกครูฝึกหน่วยฝึกทหารใหม่ลงโทษด้วยวิธีการซ้อมทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้กองทัพบกยอมจ่ายเงินค่าเสียหายจำนวน 6.5 ล้านบาท ตามคำฟ้องของนางประเทือง เผือกสม มารดาของพลทหารวิเชียร เป็นโจทก์ โดยมีกระทรวงกลาโหม, กองทัพบก , และสำนักงานนายกรัฐมนตรี (ต้นสังกัดกอ.รมน.) เป็นจำเลยอันดับ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งทางกองทัพบกเป็นผู้จ่ายเงินครบตามจำนวนแล้ว แต่ในกรณีคดีอาญานั้นอยู่ในอำนาจของศาลทหาร และยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

น.ส. พรเพ็ญ กล่าวว่า กรณีที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมดูอยู่ 4 คดีรวมทั้งพลทหารวิเชียรนั้น คดีอาญาเพื่อเอาผิดผู้กระทำมักจะล่าช้ากว่ากรณีทางแพ่งมาก เพราะต้องรอหน่วยงานอย่างเช่น ตำรวจรวบรวมหลักฐาน หรือ รอสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

น.ส. พรเพ็ญระบุด้วยว่ามีอยู่กรณีเดียวที่ศาลชี้ว่าการตายเกิดจากความเจ็บป่วยก็คือพลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย ซึ่งเสียชีวิตในค่ายกาวิละ เชียงใหม่ เมื่อปี 2557 ก่อนเสียชีวิตพลทหารสมชายได้แจ้งกับญาติทางโทรศัพท์ว่า ถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย ลงโทษด้วยการใช้ปี๊บคลุมศีรษะ ใช้อาวุธตีที่ศีรษะ แผ่นหลัง หน้าอก จำนวน 20 ครั้ง แต่ผลการตรวจร่างกายของแพทย์ระบุว่าเสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ศาลจึงยกฟ้องไป และครอบครัวก็ไม่ได้เงินชดเชยแต่อย่างใด

เสียงของแม่ที่หัวใจสลาย

“ไปเยี่ยมน้องกร 4 ครั้ง ตั้งแต่รู้ว่าเขาถูกขังเมื่อ 1 กุมภา เราขอเข้าไปเยี่ยม แต่เขาไม่ให้ วันที่ 20 ก็ไป ซื้อของทุกอย่างไปให้เขาฝากเข้าไป รู้ว่าไม่ได้เจอแต่ ไม่เป็นไรเห็นหลังคาก็อุ่นใจแล้ว 19 20 ไปไม่ให้เราเยี่ยม วันที่ 21 ฆ่าลูกเราตายแล้ว” นางบุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาของสิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2559 ภายในเรือนจำค่ายวีรวัฒน์โยธิน มรพลทหารบกที่ 25 จ.สุรินทร์ บอกกับบีบีซีไทย ถึงเหตุการณ์ก่อนที่สิบโทกิตติกร จะถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ระหว่างถูกคุมขังจากการถูกกล่าวหาว่าให้ที่พักพิงผู้ต้องหาหลบหนี

ทันทีที่รู้ข่าวผ่านทางโทรศัพท์ในวันที่ 21 ก.พ. นางบุญเรือง กล่าวว่า “ตกใจว่าเอากันตายเลยเหรอ” เพราะบุตรชายเพียงคนเดียวของเธอในวัย 25 ปี เพียงแต่เพิ่งถูกกล่าวหา ยิ่งภายหลังได้เห็นหลักฐานจากภาพกล้องวงจรปิด ที่ศาลใช้เป็นหนึ่งในพยานหลักฐานในการไต่สวนการตาย ยิ่งทำให้ผู้เป็นแม่ใจสลาย

“เอามาซ้อม ทำร้ายทั้งโซ่ตรวน คว่ำหน้า เอาคอมแบตกระทืบ” บุญเรือง เล่า พร้อมระบุว่า ภายหลังอัยการ บอกว่า “คุณแม่มีสิทธิ์เยี่ยมลูกนะ เขาปฏิบัติหน้าที่ในราชการ และตายในสถานที่ราชการด้วย”

26 ก.ค.2559 ศาลจังหวัดสุรินทร์ มีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2559 ว่า สิบโทกิตติกร เสียชีวิต”เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายโดยพลอาสาสมัครสี่นาย (ปกปิดชื่อ) ร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย… พลอาสาสมัครทั้งสี่นายได้การกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยพลอาสาสมัครผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้คุมเรือนจำ ได้จงใจสั่งการและร่วมกันกับพลทหารผู้ช่วย ทำร้ายสิบโทกิตติกรฯ โดยทรมานและทารุณโหดร้าย”

คดีนี้นางบุญเรือง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่ง ซึ่งศาลสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และนัดฟังคำพิพากษาในเดือน ก.พ.ปี 2561 ส่วนคดีอาญา ทนายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสุรินทร์ ได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 3 เนื่องจากเป็นคดีที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปัจจุบัน ป.ป.ท. อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง ก่อนจะชี้มูลว่ามีความผิดหรือไม่

หลักฐานสำคัญคือ รายงานการผ่าศพของแพทย์ ร่องรอยถูกทำร้ายร่างกาย และภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งศาลได้เรียกจากค่ายวีรวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25

ตำรวจนครนายกเดินหน้าคดีน้องเมย

เว็บไซต์ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ต.วัฒนา ยี่จีน รักษาการผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นครนายก เปิดเผยหลังประชุมคลี่คลายคดีวานนี้ ระบุชุดสืบสวนเตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องกับการชันสูตรศพนายภคพงศ์ในครั้งแรกมาให้ปากคำ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่ผลการชันสูตรในครั้งแรกที่ระบุเพียงเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันเท่านั้น

ส่วนการขอตรวจที่เกิดเหตุ รวมทั้งสอบพยานวัตถุและพยานบุคคลจากโรงเรียนเตรียมทหารนั้น ยังไม่มีการตอบกลับมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ส่งผลการชันสูตรนายภคพงศ์ ให้กับญาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย น.ส.สุพิชา ตัญกาญจน์ พี่สาวของน้องเมย ออกมาเปิดเผยผลการชันสูตรรอบ 2 ที่ดำเนินการโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ว่าผลชันสูตรพบรอยช้ำตามร่างกายหลายแห่ง เชื่อว่าเกิดจากการถูกทำร้าย นอกจากนั้น ซี่โครงซี่ที่ 4 ที่หัก ไม่ได้เกิดจากการทำซีพีอาร์อย่างแน่นอน ส่วนการชันสูตรอวัยวะ ยังไม่แล้วเสร็จ

CR: http://www.bbc.com/thai/thailand-42340046?ocid=socialflow_facebook