Let Her Talk
ตอนที่ 2
“เธอชื่อ กมลพรรณ์”
เราอยากให้บทความนี้ ที่ได้รับการเรียบเรียงมาจากบทสัมภาษณ์ เป็นพื้นที่เปิด เป็นกระบอกเสียงให้กับเสียงของผู้หญิงที่มีเบื้องหลายทางด้านต่างๆที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเธอเหมือนกันก็คือการได้ประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงในรูปแบบหลากหลายที่หลายๆ คนอาจจะนึกไม่ถึง
และนี่คือการแสดงจุดยืนเพื่อส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็กหญิงและผู้หญิงในทุกรูปแบบ อีกทั้งยังอยากส่งกำลังใจไปถึงผู้อ่านทุกๆคน ที่กำลังเผชิญอยู่หรือผ่านมาแล้วกับความรุนแรง ไม่ว่าจะในรูปแบบ กาย หรือวาจา จากคนใกล้ชิด สังคม หรือระบบ
Give her space. Let her talk. And let her lead.
เมื่อพูดถึงความรุนแรง หลายคนอาจนึกถึงการกระทำทางร่างกายที่ส่งผลให้เกิดบาดแผล เพราะเห็นได้ด้วยตาอย่างชัดเจน ทว่า “กมลพรรณ์ แซ่ลี้” ผู้ประสานงานเครือข่าย ‘ลีซู’ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ชนเผ่าทางภาคเหนือของประเทศไทย เห็นความสำคัญถึงความรุนแรงในอีกด้านหนึ่งที่สามารถสร้างรอยแผลได้เทียบเท่ากัน คือ ความรุนแรงที่ถูกส่งผ่านอคติและคำพูด
เป็นธรรมดาที่สังคมจะมองและตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่เลวร้ายคืออคติก่อให้เกิดความรุนแรงทางคำพูด โดยเฉพาะกับผู้หญิง กมลพรรณ์ กล่าวว่า ผู้คนบางกลุ่มในสังคมไทย หรือแม้แต่สังคมชนเผ่าที่เธออาศัยอยู่ ตัดสินผู้หญิงที่เลิกกับสามี หรือผู้หญิงที่เป็นแม่เดี่ยว มีลูกแต่ไม่ได้อยู่กับสามี ว่ามีความบกพร่อง เป็นคนไม่ดี เนื่องจากไม่สามารถอยู่กับผู้ชายได้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการวิจารณ์ร่างกายของผู้หญิง เช่น ‘ดำ’ ‘อ้วน’ เธอยกตัวอย่างกรณีใกล้ตัว อย่างคนในครอบครัว ลูกของเธอถูกล้อเรื่องสีผิวขณะอยู่ที่โรงเรียน “แม่ ทำไมลูกต้องมีผิวสีดำ” เด็กน้อยตัดพ้อ ซึ่งเธอจำมันได้ขึ้นใจ ความแตกต่างกำลังสร้างปมด้อยให้กับใครคนหนึ่ง เพราะความมีอคติของอีกคนหนึ่ง
กมลพรรณ์ บอกว่า ความรุนแรงทางคำพูดต่างๆ ทุกคนอาจเจอได้ในชีวิตประจำวัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เธอก็ตั้งความหวังว่า สังคมจะต้องเปลี่ยนแปลง
“โลกใบนี้ มีทั้งคนอ้วน คนผอม คนชนเผ่า คนไม่ใช่ชนเผ่า สังคมสามารถที่จะอยู่กันได้ แต่เราต้องยอมรับความแตกต่างตรงนี้”