ตอนที่ 1
“เธอชื่ออัญชนา”
บทความนี้ได้เรียบเรียงมาจากบทสัมภาษณ์เพื่อส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ
ผลกระทบจากการที่น้องเขยของ “อัญชนา หีมมิหน๊ะ” หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อปี 2551 ทำให้เธอมองเห็นว่า ยังมีกลุ่มคนที่ขาดการช่วยเหลือจากภาครัฐ เนื่องจากบริบทของความขัดแย้งยังมีช่องว่างที่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
หญิงสาวชาวสงขลาผู้นี้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ทำงานช่วยเหลือกลุ่มผู้หญิงที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐ ซึ่งเป็นความท้าทายในการทำให้รัฐเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อัญชนาเล่าว่า ปัญหาของผู้หญิงทั่วประเทศมีความคล้ายคลึงกัน แต่ปัญหาในภาคใต้ถูกกดทับด้วยประเด็นความมั่นคง ผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อาจเป็นเหยื่อโดยตรง คือ ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต และเป็นเหยื่อโดยอ้อม คือ เปลี่ยนบทบาทจากช้างเท้าหลังเป็นช้างเท้าหน้า
เมื่อผู้หญิงจำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เช่น ผู้หญิงที่ตกเป็นหม้าย ผู้หญิงที่ดูแลสามีในเรือนจำ ผู้หญิงที่ดูแลเด็กและครอบครัวของผู้ชายที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม หรือครอบครัวผู้ต้องสงสัย หรือครอบครัวผู้หลบหนี อาจมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ และไม่ได้รับการดูแลสนับสนุนจากรัฐในการใช้ชีวิตในระยะยาว ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา รวมถึงเด็ก ๆ ในครอบครัวเหล่านี้ด้วย
“ทุกคนกำลังผลักภาระทางสังคมให้ผู้หญิงรับผิดชอบ โดยไม่ได้แสวงหา สนับสนุนทรัพยากร ให้ผู้หญิงก้าวมามีบทบาทแบบนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้หญิงมีบทบาทที่สำคัญอีกอย่างคือ เป็นแม่ของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตได้ เราจึงเห็นความสำคัญของผู้หญิงในความขัดแย้ง” อัญชนากล่าว
ท้ายที่สุด หัวหน้ากลุ่มด้วยใจเพียงต้องการให้รัฐบาลและ NGO มองเห็นภาพแบบ Bird’s-eye view ของกลุ่มผู้หญิง กล่าวคือ มองเห็นภาพในมุมกว้างทั้งหมด แล้วให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมตรงกับสิ่งที่เขาขาด ทำให้เกิดผลกระทบทางบวก เกิดสันติภาพในพื้นที่ได้