บริษัทที่มีกิจการใหญ่โตมูลค่าหลายพันล้านบาท มีทรัพยากรล้นเหลือ เวลาที่เขาทำโครงการอะไรมันก็มักจะใหญ่โตสมฐานะเสมอ และโครงการใหญ่ๆเหล่านี้เวลาที่มีขึ้นก็จะกระทบกับชาวบ้านธรรมดาเยอะเเยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ก่อนตั้งโครงการเรื่องการกว้านซื้อที่ การปรับเปลี่ยนสภาพเเวดล้อมต่างๆบริเวณที่จะตั้งโครงการ แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้โครงการใหญ่ต้องทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนใกล้เคียง แต่ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้เข้าใจและมีส่วนร่วมกับกระบวนการอย่างแท้จริง ทำให้ข้อมูลที่มาจากชาวบ้านมีน้อย
สิ่งที่ถูกชูต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมส่วนมากมาจากทางโครงการ เช่นโครงการนั้นจะสร้างานให้ชุมชน การสร้างรายได้ให้รัฐ ช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตรุดหน้าไป คนที่ได้กำไรคือประชาชน แต่แท้จริงแล้วคนที่ได้กำไรจากทรัพยกรธรรมชาติที่เป็นของประชาชนไทยทุกคนก็คือบริษัทที่ทำโครงการนั้น เพราะโดยธรรมชาติของการทำธุรกิจไม่ว่าบริษัทไหนในโลกนี้ทำธุรกิจโดยหวังผลกำไร ผู้ถือหุ้นของบริษัทดูผลประกอบการของบริษัทว่ามีกำไรหรือไม่ ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่เอาเงินมาลงทุนในโครงการต่างๆ ทุกคนหวังหาผลกำไรเข้ากระเป๋าตัวเองทั้งนั้น ชาวบ้านที่ถูกอ้างว่าจะมีงานเพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นเพียงเบี้ยในเกมธุรกิจที่อำมหิตและได้รับแค่เงินที่เป็นส่วนน้อยเท่านั้นเอง
ส่วนชาวบ้านกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการต่างๆก็ต้องพยามยามทำทุกทางเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ตัวเองมีได้ไปถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม หรือผู้มีอำนาจในรัฐ เช่นกลุ่มรักษ์น้ำอูนที่ต้องไปขวนขวายหาข้อมูลการดำเนินการของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งว่ามีอะไรบ้างที่บริษัทไม่ได้ทำตามกฎหมายกำหนด เพื่อนำมาเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมประกอบการพิจารณาทั้งที่มีงบประมาณและความรู้ที่จำกัด และในขณะเดียวกันก็่ต้องยื่นเรื่อร้องเรียนกับให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินกิจการในท้องที่ให้ตรวจสอบว่าบริษัทที่ขอจัดตั้งนั้นได้ดำเนินการอะไรบ้างที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด เพื่อป้องกันการสร้างความเสียหายแก่ชุมชนต่อไป
การที่ชาวบ้านขอให้ตรวจสอบการดำเนินการต่างๆว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ นั้นเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน บุคคลเหล่านี้คือ #นักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือที่คนทั่วๆไปเรียกว่า #NGO แต่ปรากฏว่าทั้งแกนนำ ทั้งชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆถูกบริษัทฟ้องคดีหมิ่นประมาท
แม้ในกรณีรักษ์น้ำอูนนั้นต่อมาทนายความของบริษัทจะได้ถอนฟ้องชาวบ้านไป แต่ระยะเวลาตั้งแต่ถูกฟ้องจนถึงบริษัทถอนฟ้องนั้น ชาวบ้านและแกนนำต้องประสบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะภาระที่เพิ่มขึ้นทั้งการที่ต้องหาข้อมูลที่จะยื่นให้คณะกรรมการสิ่่งแวดล้อม การให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเรื่องที่เคยร้องเรียนไว้ และการต้องต่อสู้แก้ต่างคดีตัวเอง ทั้งๆที่สิ่่งที่ชาวบ้านทำก็เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ เป็นการใช้สิทธิในฐานะประชาชนชาวไทยเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เพื่อให้รัฐบาลและองค์ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง โดยหวังว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณานโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการออกคำสั่งที่เป็นประโยชน์กับสมาชิกชุมชนทุกคน
การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แม้ไม่ผิดกฎหมายหมิ่นประมาทแต่ปัจจุบันเราพบว่ามีการฟ้องหมิ่นประมาทนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากมาย การฟ้องเเบบนี้เรียกว่า #การฟ้องปิดปาก บริษัทไม่ได้ต้องการชนะคดีและก็รู้ว่าชาวบ้านไม่สามารถจ่ายค่าเสียหายมากมายขนาดนั้นได้ เเต่ก็ฟ้อง เป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งที่บริษัทใหญ่ๆ หรือแม้แต่องค์กรของรัฐหลายองค์กรใช้ เพื่อยับยั้งการที่ชาวบ้านหรือนักปกป้องสิทธิไม่ให้สามารถทำงานของตัวเองได้อีกต่อไป เนื่องจากต้องมาแก้ต่างคดีที่ตนต้องตกเป็นจำเลย เพราะคนที่ต้องตกเป็นจำเลยในคดีมักเสียกำลังใจในการทำงานไปด้วย การต่อสู้เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะก็จะลดน้อยถอยลง ยิ่่งหากฟ้องคนเดียวหลายๆคดีก็จะทำให้นักปกป้องสิทธิไม่สามารถทำอย่างอื่นนอกเหนือจากการต่อสู้คดีได้ นอกจากนี้การฟ้องคดียังเป็นการส่งสาส์นถึงแกนนำหรือชาวบ้านคนอื่นๆที่จะเข้ามาทำงานแทนคนที่ถูกฟ้องว่าจะต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับรุ่นพี่ เป็นแน่เเท้ ได้ผลทางอ้อมไปอีก เมื่อก่อนศาลยอมให้มีการฟ้องคดีในศาลที่ความผิดเกิดได้โดยที่ไม่มีข้อกำหนดพิเศษไว้ ก็เห็นบริษัทฟ้องคดีที่ใต้คดีหนึ่ง ที่เหนือคดีหนึ่งก็มี เจตนาสร้างความลำบากให้ชาวบ้าน
#การฟ้องปิดปาก เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือรังเเกชาวบ้าน ที่น่าเศร้าคือทุกวันนี้องค์กรของรัฐก็มีการฟ้องชาวบ้านแบบนี้ด้วย ทั้งๆที่รัฐมีหน้าที่ปกป้องประชาชนทุกคนแท้ๆ อยากให้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่กำหนดห้ามการฟ้องหมิ่นประมาทนักปกป้องสิทธิ และควรมีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทใหญ่ๆทุกบริษัทที่จะทำโครงการที่ส่งผลกระทบกับชุมชนเป็นวงกว้าง ต้องตั้งกองทุนกลางขึ้นมาเพื่อให้ชาวบ้านสามารถมาเบิกเงินไปใช้ได้หากปรากฎว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของโครงการ เช่น รักษาตัวเองเนื่องจากผลกระทบจากการดำเนินการของบริษัท หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย หรือนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่่บริษัทฟ้องชาวบ้าน หรือนำเงินไปฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในชุมชน บริษัทจะได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชม