เหตากใบทัวร์: ความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยกลุ่มด้วยใจและเพื่อนๆ 25 ตุลาคม 2560
วันนี้ในอดีตเป็นวันประวัติศาสตร์ที่คนในประเทศไทย และทั่วโลกรับทราบข่าวอันเลวร้ายถึงเหตุการณ์ที่มีการตายจำนวนมากของผู้คนที่ริมน้ำหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากมีการจับกุมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คน เนื่องจากมีกรณีปล้นปืน และเจ้าหน้าที่สงสัยว่าอาจไม่ใช่การปล้นปืน
เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และประเทศด้วยเช่นกัน และนั่นก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เริ่มรุนแรงขึ้นอีกทั้งยังเป็นภาพความทรงจำที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการชักชวนให้ผู้คนเข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยปาตานี
ทำไมเราจึงทำกิจกรรมตากใบทัวร์
เราได้ชวนเพื่อน NGO เยาวชน และ นักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์พวกเขาอายุเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น เพื่อไปเรียนรู้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ตากใบ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาได้รับรู้จากภาพข่าว คลิป และเรื่องเล่าจากนักกิจกรรม
เราก็ชวนคุยกันถึงสารทุกข์สุกดิบของทุกคน ที่บ้านหลังนี้สูญเสียลูกชายวัย 19 ปี ไป เขาได้รับการเยียวยาเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท บ้านที่เราไปสวยงาม กว้างขวาง น่าอยู่บ้าน แต่มันแฝงด้วยความเหงา เศร้า ที่เราสัมผัสได้ เรา เมาะอีกคนก็สูญเสียลูกชายไปในเหตุการณ์ ต่อมาลูกชายอีกคนก็สูญหายเพราะเขาไปเป็นพยานสำคัญในคดีหนึ่ง และเมาะๆอีกหลายคน
หลังจากนั้นเราก็มาที่กุโบร์ที่ฝังศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เราเลือกมาที่กุโบร์แห่งนี้เพราะเป็นทางผ่านที่เราจะไปสถานที่เกิดเหตุ กุโบร์เป็นที่ที่ทำให้เรารับรู้ว่าที่นี้มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรง เราได้อ่านอัลกุรอ่าน และขอดุอาร์ให้กับพวกเขาและทุกคนที่อยู่ในกุโบร์
รถของเราได้พาเราผ่านตัวเมืองนราธิวาสจนถึงที่อำเภอบาเจาะ และพาเราไปที่มัสยิด 300 ปี หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ ทำไมเรามาที่นี้ ก็เพราะว่าที่นี้มีการฝังศพ 28 ศพ ที่ไม่มีญาติมารับศพไปประกอบพิธีทางศาสนา เราเดินข้ามสะพานที่เป็นเขตแดนกั้นระหว่างมัสยิดกับกุโบร์ จากจุดที่เรายืนกับหลุมฝังศพค่อนข้างไกล ที่นี้มีการขุดหลุมฝังรวมกันทั้ง 28 ศพเลย และมีการระบุว่าเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ตากใบ
จบตากใบทัวร์ของเราด้วยคำถามที่ว่าเราจะเปลี่ยนผ่านความทรงจำที่เจ็บปวดของผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้ไปสู่ความทรงจำที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพได้อย่างไร เมื่อเราได้ทบทวนเหตุการณ์เราก็พบว่า
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง การรายงานต่างๆ ข่าวสารที่ปรากฎมีหลายมุมที่แตกต่างกันเช่นจากมุมของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ มุมของเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติการ ความแตกต่างนี้ทำให้ข้อมูลแต่ละชุดถูกนำไปขยายผล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลของมุมตนเอง
มีการเยียวยาทั้งจากภาครัฐ และเอกชนทั้งที่เป็นค่าชดเชยจำนวน 7.5 ล้านบาทให้กับผู้เสียชีวิต และค่าชดเชยจำนวนหนึ่งให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ มีการเยียวยาสภาพจิตใจให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต มีการจัดงานรำลึกต่อเหตุการณ์ตากใบโดย NGO ในพื้นที่ และมีการขอโทษจากนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลลานนท์
กรณีนี้มีกระบวนการไต่สวนการตายเพราะเป็นการตายในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่สุดท้ายศาลระบุว่าเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจทั้งๆ ที่ในการชันสูตรพลิกศพโดยแพทย์ระบุว่าสาเหตุการตายเกิดจากขาดอาหาร และน้ำ ขาดอากาศ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่มีใครที่อยากจะให้เกิดซ้ำ แต่กระบวนการป้องกันยังไม่ได้เกิดขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ แม่ทัพภาค 4 ในขณะนั้น ก็ได้ขอย้ายตัวเองออกจากการเป็นแม่ทัพภาค 4 และต่อมาก็มีการถูกตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบ ซึ่งผลการสอบสวนพบว่ามีความประมาทในขั้นตอนปฏิบัติ จนกระทรวงกลาโหมตั้งกรรมการลงโทษทางวินัย ถูกย้าย และริบบำเหน็จ แต่ยังไม่มีกลไกใดๆ ในการป้องกันหรือคัดเลือกมิให้คนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาปฎิบัติงาน และการปฎิรูปกฎหมาย และการปฎิรูปสถาบันความมั่นคง
มีข้อค้นพบว่าจากความขัดแย้งทั่วโลกเครื่องมือหรือกลไกที่จะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพที่ก่อนการเปลี่ยนผ่าน หรือระหว่างการเปลี่ยนผ่านนั้นมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงนั้นเรียกว่าความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional justice) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การจัดการกับปัญหาในอดีต (Dealing with the past) ซึ่งมี 4 กลไกที่ร้อยเชื่อมกันก็คือ การค้นหาความจริง การเยียวยา การนำคนผิดมาลงโทษ และการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ
เมื่อเรามาทบทวนกรณีตากใบเราก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ขาดหายไปตลอดระยะเวลา 13 ปีก็คือ การรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงที่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบถึงเหตุการณ์นี้