[:th]CrCF Logo[:]

The right to participate in public affairs

Share

The right to participate in public affairs

3BC38916-EFC0-4756-B219-2F0554109702

สิทธิที่จะมีส่วนร่วมประเด็นสาธารณะ หมายถึงสิทธิที่ประชาชนจะสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐได้ โดยเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนทุกคนพึงมีภายใต้รัฐธรรมนูญของรัฐนั้น ทั้งนี้ประชาชนในทุกรัฐควรได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมประเด็นสาธารณะอย่างเท่าเที่ยมกัน

แต่อย่างไรก็ตามสภาพสังคมในปัจจุบันนี้ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการในการดำเนินนโยบายสาธารณะได้ เช่น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ ดังนั้นในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยประชาชนจะถูกตัดสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีส่วนร่วมประเด็นสาธารณะไป คือสิทธิในการเลือกตั้ง นอกจากนี้แม้ประเทศประชาธิปไตยก็จะพบว่านโยบายหรือกฎหมายหลายหลายฉบับที่ออกมาจำกัดสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การมีกฎหมายห้ามชุมนุมซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก หรือมีการฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชนหรือเพื่อกีดกันไม่ให้มีหรือเพื่อยุติการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

นอกจากรูปแบบการปกครองประเทศ หรือกฎหมายภายในที่ไม่อำนวยต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะได้ เช่นโดยสภาพหรือภูมิศาสตร์ของประเทศซึ่งชุมชนตั้งอยู่ห่างไกลต่อการสื่อสารและคมนาคมทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะได้ เช่น คนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีถิ่นที่อยู่บนภูเขาสูง หรือในทะเล และกลุ่มคนที่มีภาษาของตัวเองใช้โดยเฉพาะและไม่สามารถพูดภาษาทางการของรัฐได้

กรณีตัวอย่างเช่นหากรัฐไม่ยอมรับว่ามีคนชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ ก็จะไม่มีการอำนวยความสะดวกให้คนชนเผ่าให้มีสวนร่วมในประเด็นสาธารณะ หรือถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการจัดการตนเองโดยเจตนา นอกจากนี้ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำของชนชั้นทางสังคมระหว่างคนรวยและคนจน ก็จะพบความขัดแย้งกันในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยคนจนมักจะถูกกีดกันจากกระบวนการในการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว

หากรัฐบาลในประเทศนั้นไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลการอนุญาตให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ มีการคอร์รัปชั่นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะทำให้กลุ่มนายทุนใช้ศักยภาพทางการเงินที่สูงกว่าเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้มากกว่าคนจนที่ไม่มีความรู้และความสามารถ

17922CF0-3525-4CE8-90FA-14495708F0A7

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม เช่นคนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ทางการได้ยิน หรือการมองเห็น ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆของรัฐได้เนื่องจากรัฐไม่อำนวยความสะดวกให้เขาได้รับข้อมูลต่างๆอย่างเต็มความสามารถ ทำให้คนกลุ่มน้อยเหล่านี้ไม่สามารถเสนอความคิดเห็นของตนหรือเรียกร้องสิทธิของต้นได้

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึงก็คือในทุกประเทศนั้นมีกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณี ภาษา ศาสนาและเพศ แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ควรเป็นข้อยกเว้นที่รัฐจะไม่รับฟังหรือกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินนโยบายต่างๆในการพัฒนาประเทศ และทุกคนควรที่จะได้รับโอกาสที่จะเข้าร่วมในการกำหนดนโยบายเหล่านั้น

เนื่องจากโครงการสาธารณะนั้นด้วยลักษณะโครงการส่วนมากแล้วจะส่งผลกระทบกับบุคคลหลายฝ่าย ไม่ว่าเศรษฐกิจของรัฐ และชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้การดำเนินนโนโยบาย หรือโครงการต่างๆเป็นไปโดยก่อประโยชน์สูงสุดให้ประเทศ ส่งผลกระทบน้อยสุดแก่ชุมชนทั้งในด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิธีชีวิต รัฐจึงควรดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะทั้งหลายนั้น เนื่องจากการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต้องไม่สร้างความลำบากหรือเดือดร้อนเกินควรให้ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง และผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมด้วยโดยมีการตั้งกองทุนสำรองสำหรับความเสียหายที่อาจเกิดจากโครงการพัฒนาในอนาคตด้วย

หากมองในประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้ระบุถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินนโยลายสาธารณะไว้ในมาตรา ๔๓ ซึ่งกำหนดให้ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิมีที่จะจัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน และมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน โดยต้องแจ้งให้ชุมชนทราบอย่างรวดเร็ว และในการพิจารณาข้อเสนอนั้นหน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย

F255B873-8C9F-4D15-AF6F-0799A89C9F42.jpg

ปัจจุบันมีโครงการสาธารณะหลายโครงการที่มีการดำเนินการไปโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมในการกำหนดนโยบาย แสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างเหมาะสม ทำให้ประชาชนที่ตกอยู่ในพื้นที่ของโครงการต่าง ๆ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามโครงการต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตนและก่อให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐหรือเจ้าของโครงการนั้น เช่น กรณีโรงงานน้ำตาล ของบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องร้องชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูนจำนวน ๒๐ คน เป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา สืบเนื่องจากกรณีชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนและคัดค้านโครงการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลทรายพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลชล ในเขตตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร โดยได้ยื่นหนังสือต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ และนโยบายของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่าโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองจำกัดในการจัดตั้งโรงงานนั้นได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

หากพิจารณาจากมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภค ที่มีมติไม่เห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ว่ารายงานยังไม่ผ่านในประเด็นสำคัญคือ

๑. เรื่องผลกระทบด้านชีวภาพ

๒. ความไม่ชัดเจนของพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อย

๓. การใช้น้ำจากลำน้ำอูน

๔. การปรับสภาพพื้นที่โครงการระหว่างการพิจารณารายงานรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัท และ

๕. กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

ประเด็นที่หยิบยกมานี้ทำให้เห็นว่าการร้องเรียนของชาวบ้านทั้ง ๒๐ คนนั้นมีเหตุผลเพียงพอ และเป็นเพียงการใช้สิทธิในการมีสวนร่วมประเด็นสาธารณะที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและสิทธิชุมชนโดยตรง ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ บนพื้นฐานการใช้สิทธิโดยชอบเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง แม้ต่อมาโจทก์คือโรงงานไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด จะได้ถอนฟ้องชาวบ้านไปจากศาลแล้วแต่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการฟ้องคดีเช่นนี้ก่อความยุ่งยากให้ประชาชนอยากมาก ทำให้ชาวบ้านที่ถูกฟ้องคดีต้องประสบกับความยากลำบากในการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตนเอง เนื่องจากต้องแบ่งเวลาและเงินไปใช้ในการต่อสู้คดีอาญาในชั้นศาลในระหว่างที่คดียังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ดังนั้นรัฐไม่ควรปล่อยให้มีการฟ้องคดีทำนองเดียวกันนี้อีกในอนาคต

การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการต่างๆนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายสาธารณะนั้นโดยตรง ดังนั้นในการออกนโยบาย การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่จะส่งผลกระทบเปลี่ยนแปลงวิธีชีวิตของชุมชน รัฐควรดำเนินการเพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอย่างรวดเร็ว ครบถ้วน เช่นชื่อวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือผู้รับผิดชอบโครงการ แผนนโยบายการพัฒนาโครงการ กำหนดระยะเวลาต่าง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมต่างต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีตัวแทนจากชุมชนเข้าร่วมในทุกขั้นตอน

การเคารพการตัดสินใจของสมาชิกชุมชนนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นในกรณีที่ชุมชนมีความเห็นแย้งกับนโยบายการพัฒนาประโยชน์สาธารณะบางโครงการ รัฐจะต้องไม่ยินยอมให้มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการกับคนที่มีความเห็นต่างนั้นเพราะเหตุออกมาตรวจสอบนโยบายหรือโครงการ การแสดงความคิดเห็นหรือเสนอข้อเรียกร้องของตน โดยมีการสร้างมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายให้สามารถยุติคดีที่มีเจตนาฟ้องเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชน สาธารณะชน (Strategic Litigation Against Public Participation: SLAPP) หรือต้องปกป้องคุ้มครองตัวแทนชุมชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับชุมชนตนเองนั้นให้ปลอดภัยจากการข่มขู่คุกคามในทุกรูปแบบด้วย

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน รายงาน :

TAG

RELATED ARTICLES