เมื่อตอนที่แล้วเราได้นำเสนอบทสัมภาษณ์โดยมูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน และพี่หน่อยก็ได้พูดถึงบทบาทและความท้าทายในการเป็นอนุฯ ตอนนี้เป็นภาคต่อ และพี่หน่อยได้ตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของกสม. และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายในการปฏิบัติการของกสม.
บทบาทของกสม. ควรจะเป็นอย่างไร
พรเพ็ญ: ความเป็นอิสระของกสม. สำคัญมาก ซึ่งเราคิดว่าไม่ใช่แค่เพียงตัวคณะกรรมการ เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานด้วยที่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานทุกคน ดังนั้น ความเป็นอิสระจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทุกคนในกสม.เจ้าหน้าที่สำนักงานเอง หรือแม้กระทั่งคนขับรถ หรือใครก็ตาม รู้บทบาทหน้าที่ของตนและรู้หลักการด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างดี และพยายามที่จำกัดความเกี่ยวพันของตัวเองกับเรื่องเหล่านั้นออกไปให้ได้
เข้าใจว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถูกก่อตั้งขึ้นโดยบริบทที่มีข้อจำกัดว่า ระยะแรกเป็นการโอนย้ายเฉพาะข้าราชการ ไม่มีการเปิดรับสมัครผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนหรือคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาเลยในระยะแรก เราไม่รู้สัดส่วน แต่ 2-5 ปีแรก ไม่รับคนอื่นเลยนอกจากข้าราชการ
ดังนั้น มันก็เลยเป็นศูนย์รวมของอดีตข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ เยอะแยะมากมาย ซึ่งเราก็ไม่ได้ดูแคลนว่าเขาไม่มีทักษะหรือไม่มีวิธีการทำงานที่ดี เขามีแน่นอนแต่ความเข้าใจหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนอาจมีน้อยหรือมากต่างกันในแต่ละบุคคลและหน่วยงานเดิม ยังไม่มีมาตรฐาน เช่นแนวคิดเรื่องการเลือกปฏิบัติ การเลือกปฏิบัติต่อสตรี แนวคิดเรื่องความเท่าเทียม หรือเรื่องความเสมอภาค คือข้าราชการกับราษฎรอยู่ในคนละระดับอยู่แล้ว ดังนั้นคนที่เข้ามาในระยะแรกๆ ก็เป็นคนที่อาจไม่ได้มีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน แต่อาจเป็นคนที่ใส่ใจ เพราะเขาอาจทำงานแล้วรู้สึกว่าอยากทำงานด้านสิทธิ แต่โดยพื้นฐาน human rights culture ไม่ใช่ของคนในสังคมไทยมาก่อน ดังนั้น ถ้าจะต้องมารับผิดชอบหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบหรือการเข้าไปมีส่วนในการรับรู้รับเห็นเรื่องการละเมิด บางครั้งอาจจะนึกถึงเพื่อนเราก่อน เพื่อนเราอยู่กรมที่ดิน เพื่อนเราอยู่สถานพินิจ
สมมติ เฮ้ย เป็นไรอ่ะ โทรไปถาม ทำไมมีเรื่องร้องอย่างนี้มา มันก็ไม่ independent แล้วสิ ถึงแม้ว่าอาจจะโดยความปรารถนาดี ความหวังดี หรือในเรือนจำ มีอดีตข้าราชการราชทัณฑ์เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่กรรมการสิทธิ สมมติ เฮ้ย มีเรื่องร้องอ่ะ ไปดูสิ เรื่องร้องก็ไม่ใช่เรื่องร้องอีกแล้ว มันถูกเปิดเผย มันถูกทำให้เป็นเรื่องระหว่างเพื่อน ระหว่างองค์กรหน่วยงานด้วยกันหรือไม่ หรือเพื่อนรวมรุ่น วปอ. ด้วยกัน โทรไปถามก่อน อันนี้ก็เป็นแค่ข้อสังเกต
ความเป็น professional ของแต่ละคน แต่ละส่วน มีความสำคัญมาก ซึ่งกระทบกับความเป็นอิสระ independent เราไม่ได้มองว่าเขาตั้งอกตั้งใจที่จะเข้าข้างใคร หรือว่าด้วยเหตุผลทางการเมืองซึ่งเหตุนี้มันก็จะซ่อนอยู่พิสูจน์ได้ยาก ซึ่งเราก็อาจจะไม่สามารถเห็นเป็นหลักฐานได้ แต่ว่าหลักฐานที่สำคัญที่เราเห็นจากการติดตาม ก็คือขั้นตอนการทำงานที่แสดงความเป็นมืออาชีพ ความเข้าใจเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ถ้าคุณเข้าใจตรงนั้น คุณสามารถใช้ความรู้ความสามารถของคุณตรงนั้น เรื่องอะไรมา คุณก็ต้องทำหน้าที่ได้อย่างเป็นมืออาชีพ
ถ้าอย่างนี้ กสม. สามารถออกแบบองค์กรอย่างไร เพื่อไม่ให้ภาครัฐเข้ามามีอิทธิพลและสามารถรักษาหลักการได้
พรเพ็ญ:การฝึกอบรมและสร้างให้เกิดขั้นตอนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน การยอมรับที่จะบอกว่าตนเองไม่ competent ถ้าหัวเรือไม่ยอม ก็ต้องเริ่มจากการบริหารจัดการภายใน บอกมีปัญหาอะไร ทำไมคนอื่นถึงมองเราแบบนี้ เราอาจจะต้องหาวิศวกรองค์กร มา re-engineering มารื้อใหม่ไหม ซึ่งก็ไม่ง่าย แต่ถ้าทุกคนเริ่มต้นด้วยการยอมรับความจริงว่าตัวเองถูกคอมเม้นต์มาขนาดนี้ ปัญหามันคืออะไร ซึ่งเรารู้ว่าเจ้าหน้าที่หลายคนท้อ ไม่อยากทำงาน คอมเม้นต์เยอะ การเมืองเยอะ แต่อยากทำงานให้ประชาชน อยากทำงานช่วยเหลือชาวบ้าน เพราะมาถึงตรงนี้แล้ว มันมีจุดเกาะเกี่ยวนิดนึงว่าอยากทำงานเพื่อคนอื่น เราอยากมาสมัครงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือน้องๆ ที่สอบเข้าไปใหม่ เช่น เจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ๆ เพิ่งเรียนจบเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน ฝ่ายเครือข่าย งานด้านสิทธมนุษยชเป็น dream world ของคนบางกลุ่มที่อยากจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน แต่พอเข้ามาแล้ว กลไกมันไม่เอื้อมันก็อาจจะต้องยอมรับตั้งแต่หัวเรือเลย
คณะกรรมการทุกคนผ่านกระบวนการอบรมด้านสิทธิมนุษยชนก่อนไหมปรับให้ตรงกันก่อน เราไม่อาจจะไปสร้างได้ให้เขาตั้งแต่เด็กๆ แต่ว่าถ้าคุณมาอยู่จุดนี้โดยอิทธิพลใดๆ ก็แล้วแต่ ที่บ้านผลักมา หรือใครผลักมา หรือการเมืองผลักมา ในเมื่อคุณอยู่ตรงนี้ คุณก็ต้องถอดหมวกเก่าออกและยอมรับที่จะให้ human rights culture เป็นตัวจักรสำคัญในตัวคุย มันก็ยาก ทุกอย่างยากหมด แต่ก็อยากให้เปิดใจว่าถูกคอมเม้นต์เยอะๆ สมมติว่าเราอยู่บริษัทหรืออยู่องค์กรอะไร ถูกคอมเม้นต์บ่อยๆ ว่า เราจะต้องทำอะไรจะให้ออฟฟิศเราไม่ถูกต่อว่าเรื่องเดิมๆซ้ำซ้ำ หรือว่าทำไมคนเข้าคนออกหน่วยงานเราเยอะ ทำไมเงินเดือนต่ำหรือ อะไรเช่นนี้ เราต้องหาทางแก้ไข ไม่ใช่ยืนอยู่ที่เดิม เพราะฉันไม่เป็นไร ฉันไม่ผิด ฉันเป็นของฉันอย่างนี้อยู่แล้ว ฉันถูกต้องแล้ว มันไม่ใช่ Human rights education จะต้องทำสม่ำเสมอในองค์กร อาจจะต้องเปลี่ยนน้ำ ผลัดน้ำออกไป เจ้าหน้าที่เก่าๆ เอาออกไปบ้าง ถ้ามันมีสภาพปัญหาว่านำพาสิ่งที่เรียกว่าเป็น crony หรือเป็นอะไรที่มันไม่เอื้อต่อการพัฒนาองค์กร
กสม. สามารถทำงานในประเด็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองได้มากกว่านี้หรือไม่
พรเพ็ญ: จริงๆ ก็ทำได้นะ จริงๆ หลายๆ เรื่องที่ถูกร้องเรียนมา อาจจะไม่ใช่เรื่องการเมืองเลย ดังนั้น เขาต้องตรวจสอบอย่างมีความเป็นมืออาชีพ สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงให้ได้จริงๆ ว่าใครละเมิดใคร อย่างไร ที่ไหน แล้วก็รายงานออกมา แค่นั้น ไม่เห็นต้องคิดมากอะไร ว่าบริษัทนี้จะเกี่ยวกับใครไหม หรือกองทหารกองนี้จะเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปคิด แค่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่ คุณก็รับฟังจากหลายๆ ด้าน เขียน บันทึก เผยแพร่ อันนั้นก็จะเป็นหน้าที่หนึ่ง ถ้าหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ คุณก็กดดันด้วยวิธีอื่น ส่งจดหมายไปทุกๆ 6 เดือน ซึ่งอันนี้ก็เป็นมาตรการที่คณะอนุกรรมการพยายามทำ เพียงแต่ว่า ประเด็นคือ ถ้าข้อสรุปของอนุกรรมการหรือคณะกรรมการทำออกไปแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามหรือไม่ดำเนินการตามอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกๆ 6 เดือน เราก็ส่งจดหมายเดิมไปสิ ถ้าเขาไม่ทำก็เผยแพร่ มีแถลงการณ์ต่อสาธารณะ ซึ่งเราไม่เคยเห็นกสม.ทวงถามอะไรผ่านสาธารณะ เหมือนว่าไม่มีการติดตาม ดังนั้นข้อเสนอแนะที่เสนอไปตั้งแต่รุ่นเก่า จนรุ่นนี้ และรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ถูกเอาไปปฏิบัติ มันก็เลยทำให้ perception ของคนทั่วไป ก็บอกกรรมการสิทธิไม่มีอำนาจ ไม่มีบทบาท แต่จริงๆ มีและยังใช้ได้อยู่ เราก็ไม่อยากท้อนะ ก็ยังอยากใช้กลไกนี้ต่อไป อยากจะให้กรรมการที่เข้มแข็งและยังทำงานอยู่สามารถทำงานได้ ไม่อยากให้ยุบพังไปนะ ที่พูดมาทั้งหมด ไม่อยากให้หายไป อยากให้เขาอยู่ อยากให้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านและพวกเราในการพัฒนางานด้านสิทธิมนุษยชน
กสม. สามารถยกสถานภาพจากระดับ B ไป A ได้อย่างไร
พรเพ็ญ: ต้องยุบทั้งชุดก่อน และต้องมีกลไกการสรรหาคณะกรรมการแบบใหม่ ซึ่งก็อาจจะต้องมีกฎหมายใหม่ ร่างกฎหมายใหม่ แล้วก็เริ่มใหม่ แต่จะเป็นไปได้แค่ไหน ณ ตอนนี้ และสิ่งที่อาจทำได้ ณ ตอนนี้คือคนที่ทำงานไม่ได้ก็อย่าทำ ปล่อยให้คนที่ทำงานได้ทำงานไป งานจะได้ฟื้นขึ้นมา ก็ในเมื่อคุณไม่ออก คนที่ออกก็ไม่รู้เหตุผลหรอกนะ ออกก็ออกไป แต่คนที่ยังทำงานได้ ทำไมเราไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เขาทำ ทั้งเราด้วยในฐานะภาคประชาสังคมข้างนอก ก็อาจจะต้องทำงานกับเขามากขึ้น ให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไปเตือนคนอื่นๆ ว่าปล่อยให้พี่เขาทำงานบ้าง และคนที่ไม่ได้ทำหรือไม่อยากทำ ก็อย่าทำ ยิ่งทำก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์เป็นลบไปอีก เราก็ไปห้ามเขาไม่ได้
(ขณะสัมภาษณ์ยังไม่มีร่างกฎหมายกสม.)
ข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นเพิ่มเติม
พรเพ็ญ: พัฒนาบุคลากร เรื่องสำคัญ องค์กรนี้เป็นองค์กรพิเศษสำหรับพวกเราทุกคน ซึ่งเราต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพในจิตใจและมีความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยผ่านกลไกการฝึกอบรมและการทำงานทีเป็นมืออาชีพ ซึ่งจริงๆ แล้วมีคนพยายามจะให้ความช่วยเหลือกรรมการสิทธิไทยอยู่ ทั้งองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชนด้วยกันจากประเทศต่างๆ ที่เขามีวิธีการทำงานที่เราสามารถเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ อยากให้เจ้าหน้าที่ในองค์กรกสม. เองเปิดใจรับความช่วยเหลือ เราอาจจะเรียกมันว่าเป็น technical assistance ซึ่งยูเอ็นก็ยินดีที่จะมาช่วย จะทำยังไงให้กรอบการทำงานมีความเป็นอิสระมากขึ้น อาจจะเริ่มจากออกระเบียบให้ปฏิบัติตาม เช็คลิสต์ วิธีการสืบสวนสอบสวนทางด้านสิทธิมนุษยชนทำอย่างไร มีเคสทรมาน ที่อื่นเขาทำอย่างไร มีการตายในเรือนจำ เขาสืบสวนอย่างไร มีเรื่องการละเมิดสิทธิในสถานที่ต่างๆ หรือเรื่อง LGBT เรื่องเด็ก ในทางสากลมีวิธีการขั้นตอน คู่มือ หนังสือเป็นตั้งๆ แต่บุคคลากรเราได้ไปใช้ประโยชน์ ไปอ่าน หรือไปทำความเข้าใจไหม ถ้าเราทำตามขั้นตอนต่างๆ เหล่านั้น ความเป็นมืออาชีพก็จะปรากฎ แล้วก็จะกลายเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าหัวเรือไม่มา สิ่งที่พี่พูดก็ไม่มา ดังนั้น อาจจะเริ่มที่การคัดสรรที่จะต้องทำใหม่ และเริ่มทำให้องค์กรนี้ได้รับความเชื่อมั่นกลับมา อาจจะ rebranding หรือ reengineering หรือ post truth อะไรก็ตาม เอาทุกวิธีทางที่จะทำให้มันฟื้นขึ้นมาได้ เพราะมันเป็นสถาบันที่สำคัญในสังคมไทย