[:th]CrCF Logo[:]

พี่หน่อย พรเพ็ญ กับการทำงานเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตอนที่ 1

Share

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชนได้มีโอกาสสัมภาษณ์พี่หน่อย พรเพ็ญ ของเรา เกี่ยวกับประสบการณ์โดยตรงจากการทำงานเป็นอนุกรรมการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ทั้งชุดที่ 1 และ 2 และแน่นอนว่าเราจะไม่พลาดที่จะส่งต่อความรู้ ประสบการณ์อย่างละเอียดให้ทุกคน

เนื่องจากบทสัมภาษณ์ยาวในระดับที่แบ่งเป็นสองตอนได้ เราเลยเลือกนำเสนอตอนแรกก่อน ซึ่งพี่หน่อยได้พูดถึงบทบาทและความท้าทายในการเป็นอนุฯ

14940216_1355130784498219_5844503454793435077_o

การทำงานของอนุกรรมการกสม.เป็นอย่างไร

พรเพ็ญ:  ได้เป็นอนุกรรมการฯ อยู่ 2 ช่วง ตอนนี้กสม. มี 3 ชุด ได้เป็นชุดที่ 1 กับชุดที่ 2 วัตถุประสงค์หลักของการมีคณะอนุกรรมการฯ และเข้าใจว่าเป็นการชักชวนคนทำงานในหัวข้อที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นหรือความช่วยเหลือกรรมการสิทธิในการทำงาน เช่น การสืบสวนสอบสวนเรื่องราวต่างๆ อาจจะเป็นว่าคณะกรรมการต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญบางประเด็นที่เข้ามาช่วยงาน ก็เลยมีการเชิญให้มาเป็นคณะอนุกรรมการฯ

บทบาทหน้าที่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละอนุฯ   ในครั้งแรกเป็นอนุฯเกี่ยวกับการต่อต้านการทรมานโดยตรง ซึ่งส่วนตัวสนใจอยู่แล้ว และคณะกรรมการสิทธิชุดนั้นคือเป็นอนุกรรมการของนายวสันต์ พานิช ที่เป็นทนายความ

ดังนั้น การทำงานก็เลยมีลักษณะที่เป็นทีม และมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด และบังเอิญในพื้นที่ 3 จังหวัดที่ ณ ตอนนั้นมีประเด็นปัญหาเรื่องนี้อยู่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้น มันก็เลยเกิดพื้นที่ทำงานที่คล้ายๆ กับว่า Active Environment ที่ทุกคนอยากจะลงพื้นที่ อยากจะไปประชุม อยากจะเอาประเด็นนี้เข้ามาแก้ไขจริงๆ ทั้งในทางนโยบายและในทางปฏิบัติ

คณะอนุฯ ชุดต่อๆ มาก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเหมือนกัน 2 คณะ ก็คือ คณะอนุกรรมการฯภาคใต้ กับคณะอนุกรรมการฯเรื่องเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของนายแพทย์นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ ซึ่งก็ยังมีบรรยากาศการทำงานแบบนั้นอยู่     คุณหมอก็มีความกระตือรือร้นและสมาชิกคณะอนุกรรมการฯก็เป็นวงที่ใหญ่ขึ้น  มีคณะอนุกรรมการหลายคน   ทำให้ความคล่องตัวเหมือนกับครั้งที่คุณวสันต์มีน้อยลง  แต่ก็ทำให้มีความหลากหลายทางความคิดมากขึ้นในคณะอนุกรรมการ  ทั้งนี้เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานของแต่ละอนุฯ ด้วย เพราะ อย่าง อนุฯ เรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองมีเรื่องตั้งแต่ป่าไม้จนไปถึงในห้องกักของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเรื่องการเมืองอีก เรื่องเยอะมาก ดังนั้น ก็มีประเด็นที่จะต้องครอบคลุมกว้างขวาง

20915658_10155762226265086_2085497714729033632_n

ข้อท้าทายในการทำงานของอนุกรรมการคืออะไร

พรเพ็ญ: การทำงานของอนุกรรมการฯ คือทำงานประธานอนุฯ ซึ่งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำงานกับอนุกรรมการด้วยกันที่ได้รับเชิญมา และทำงานกับเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ เราคิดว่าเป็นสภาพปัญหาและก็ยังเป็นอยู่ก็คือบทบาทของเลขานุการของอนุฯ และบทบาทของเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน

 เนื่องจากพวกเรามีงานประจำอื่น แม้ว่าเราจะได้รับเชิญมาด้วยเพราะว่าเรามีความเชี่ยวชาญในประเด็นบางอย่าง แต่พอลงในรายละเอียดแล้ว มันเป็นงานของกรรมการสิทธิที่กรรมการสิทธิจะต้องสนับสนุนหรือว่าจะต้องจัดหาสิ่งที่เกี่ยวข้องสำคัญ เช่น เอกสารเกี่ยวข้องทางราชการ หรือข้อมูลเบื้องต้น การจดบันทึกการประชุม การนัดหมายการประชุม หรือสิ่งที่สำคัญก็คือการประสานงานให้เกิดการประชุมที่มีประสิทธิภาพ เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องที่มีเอกสารเยอะ ข้อมูลเยอะ และในแต่ละครั้งเกี่ยวข้องกับการเรียกบุคคลที่เป็นราชการหรือคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล ดังนั้นบันทึกต่างๆ เหล่านี้สำคัญ และต้องทำไว้อย่างดี จะถอดเทป หรือบันทึกสกัดเฉพาะข้อมูลข้อเท็จจริงที่เราต้องใช้จริงๆ หรือบางครั้งหลายคนที่มาให้ข้อมูลก็บอก ไม่ต้องบันทึกนะ (off record)  เพราะเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิ  อาจจะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หรือเข้าข่ายว่าเอาความลับของบางส่วนมาเปิดเผย   แต่เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนไปได้ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นทำได้ยากถ้าเลขานุการของอนุฯ และเจ้าหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่

เราก็ได้แต่ให้ความเห็น เราอาจจะมีบันทึกของเราเป็นการส่วนตัว แต่มันไม่ใช่บันทึกของคณะกรรมการ และบางครั้ง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันก็หายไปในระบบของสำนักงาน โดยที่อาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเราไม่รู้ ดังนั้น มันก็อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสถานการณ์ที่เรากำลังให้เราทำหน้าที่ตรวจสอบ

ประเด็นในการร้องเรียนต่อกสม. มีข้อจำกัดอย่างไร

พรเพ็ญ:   จริงๆ กสม. มีสำนักงานเดียวที่กรุงเทพฯ และมีสำนักงานที่ภาคใต้เมื่อกี่ปีมาแล้วไม่รู้ จำไม่ได้ น่าจะเกิน 3 ปี เห็นว่าไปเปิดอยู่ในมหาวิทยาลัยที่อีสาน แต่ว่าไม่เป็นที่รับรู้เท่าไร ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทำจากการถูกละเมิดสิทธิฯไม่สามารถเข้าถึง

คนที่สามารถเข้าถึงกรรมการสิทธิได้ ส่วนมากมักจะเป็นเครือข่ายคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่แนะนำกัน การเข้าถึงของประชาชนโดยทั่วไปน่าจะยังไม่มี นอกจากชาวบ้านที่รู้แล้วไปร้องเรียนเอง แต่เราเข้าใจว่าปริมาณคนที่ถูกละเมิดฯและคนที่ร้องเรียนน่าจะยังไม่ได้สัดส่วนกัน ถือว่าน้อย under-documented ประเด็นที่คิดว่าเป็นสาเหตุคือ

หนึ่ง บางครั้งผู้เสียหายไม่อาจร้องเรียนเองได้ในบางสถานะ เช่น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบครัวคนหาย ครอบครัวคนที่ถูกทรมาน การร้องเรียนเองไม่ได้ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สามารถที่จะเข้ามาให้ข้อมูลได้โดยตรง แต่บางครั้ง ในระยะเวลาที่ต้องการความเร่งด่วนในการเข้าไปตรวจสอบ เพราะระยะเวลาเหล่านั้นเป็นระยะเวลาที่สำคัญ เช่น คนหาย คนถูกซ้อม ดังนั้นบางครั้งเราก็จะประสบปัญหาว่าผู้ร้องเรียนเข้าไม่ถึง เพราะกลไกบางอย่างไปไม่ถึง เช่น ต้องให้ทำจดหมายขึ้นมาเอง เซ็นต์ชื่อเอง ส่งจดหมายมาด้วย แฟ็กซ์มาทันที อะไรอย่างนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะเริ่มการตรวจสอบไม่ได้       ซึ่งบางครั้งเราก็รู้สึกว่า ถ้าสมมติว่าการทำงานที่มันอาจจะไม่ตอบสนองต่อความเร่งด่วนของบางประเด็นอาจทำให้ประสิทธิภาพของการตรวจสอบของกสม. ลดลง หรือไม่

ในทางหนึ่งเราเข้าใจทางกสม.ว่าเขาต้องการความแน่นอนชัดเจนว่ามีผู้เสียหายจริงๆ เพราะว่าสิ่งที่เขาจะต้องไปทำคือการจะต้องไปสื่อสารกับรัฐ สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการละเมิดสิทธิ เช่น ค่ายทหาร สถานีตำรวจ ก็เป็นที่เข้าใจว่า อย่างเราในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้เสียหายก็ต้องพยายาม    พยายามสื่อสารกับญาติเพื่อจดหมายจากญาติจะไปถึงกสม.ให้เร็วที่สุด    เขาจะได้เริ่มดำเนินการ ปฏิบัติการตามกลไกหรือวิธีการของเขา เราก็พยายาม แต่บางครั้งมันก็เป็นอุปสรรค

หรือการรับเรื่องร้องเรียนรายกลุ่ม ซึ่งบางครั้ง collectively ผู้เสียหายไม่สามารถมายืนเข้าแถวกัน 20-30 คนเพื่อที่จะร้องเรียนในสิ่งที่เขาได้รับผลกระทบ  ดังนั้น เราก็ดำเนินการแทน ซึ่งก็มักจะไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งเราก็ต้องไปแสวงหาลายเซ็นหรือคำยินยอมจากผู้เสียหายทุกกรณี ซึ่งเราก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะบางครั้งประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เราให้ความสนใจ เช่น การตายในการควบคุมตัว ญาติอาจจะไม่ได้ติดใจ แต่เรารู้สึกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องญาติกับกสม. เป็นเรื่องความปลอดภัยมั่นคงของชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน เพราะว่าการตายในการควบคุมอาจเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ที่มีการดูแลรักษาพื้นที่นั้นไม่ดี หรือมีความตั้งใจที่จะละเมิดสิทธิหรือละเมิดชีวิต

ดังนั้น มันเป็นหน้าที่โดยตรงอยู่แล้วที่จะตรวจสอบ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้เสียหายติดใจเอาความ อันนั้นก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ถ้าไม่มีใครติดใจเอาความ มันไม่ใช่การละเมิดสิทธิ  ซึ่งไม่ใช่   การเสียชีวิตในการควบคุมตัวก็ยังเป็นการละเมิดสิทธิอยู่ เพียงแต่ผู้เสียหายอาจไม่อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถที่จะเอาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ร้องเรียนได้ ซึ่งสภาวะแวดล้อมเหล่านั้น กสม. มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้สภาวะแวดล้อมของการร้องเรียนง่าย คล่องตัวมากขึ้น

กฎระเบียบต่างๆ ที่สร้างขึ้นก็ช่วยในการคัดกรองข้อมูลที่ร้องเรียนมาว่าเป็นการหลอกลวงหรือทำให้องค์กรไหน หน่วยงานไหนเสียหาย โดยที่ไม่มีข้อมูล ข้อเท็จจริง เป็นการเอาข้อมูลเท็จมาร้องเรียนให้องค์กรนั้นเสียหาย ซึ่งก็ต้องระมัดระวัง  เราก็เข้าใจ

13335862_1222200031124629_3865844104904539764_n

อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำงานไปด้วยกัน อีกอย่างหนึ่งคือ ความลับของผู้ร้อง (ผู้ถูกละเมิดสิทธิ)ต่อหน่วยงานหรือบุคคลที่ถูกร้องเรียน (ผู้ละเมิดหรือถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิ) หลายครั้ง มันก็ยากที่จะปกปิดไว้อย่างเป็นความลับหรือ confidentiality แต่มันก็คงจะต้องมีวิธีการซึ่งไม่ใช่การแจ้งบอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของผู้ร้อง เช่น ชื่อ เบอร์ติดต่อ หรือเวลาเขียนรายงาน ข้อเท็จจริงที่เปิดเผยระดับหนึ่ง หรือว่าอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน จะทำยังไงให้ไม่เป็นผลร้ายต่อผู้ร้องเรียนหรือพยาน เพราะว่าถ้าสิ่งเหล่านั้นเป็นที่บอกต่อกันไปว่า ถ้าร้องเรียนกับกรรมการสิทธิแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะรู้ว่าใครร้อง แล้วเขาก็จะมาที่บ้าน อันนี้ก็อาจจะเป็นบริบทที่เลวร้ายกรณีถ้าเราอยู่ในพื้นที่สามจังหวัด ถ้ามีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านเพราะเรื่องที่เราร้องเรียน

เรื่องการปิดเรื่องร้องเรียนเป็นความลับ ไม่ใช่แต่เฉพาะกรรมการสิทธิ หน่วยงานของราชการด้วย ยูเอ็นก็ด้วย หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนหรือบุคคลที่ถูกร้องเรียนเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้ โดยวิธีการอะไรก็ไม่รู้ แต่บางครั้งเขาก็เดาออกได้ว่า ว่าครอบครัวนี้ที่ไปร้อง

ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้มีการกำชับหรือพูดคุยกับผู้ที่ถูกร้องโดยอำนาจหน้าที่ของกรรมการสิทธิ ว่านี่เป็นสิทธิของเขาในการร้องเรียนนะ ดังนั้น คุณต้องไม่ใช้การสืบสวนสอบสวนของกสม. กลายเป็นเครื่องมือไปคุกคามคนที่ร้องเรียนอีก คุณมีหน้าที่ที่จะให้ข้อมูลกับกสม. ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ไปบอกคนที่เป็นเหยื่อหรือญาติว่า อย่ามาร้องนะ หรือข่มขู่คุกคาม กสม.น่าจะมีบทบาทในการระงับยับยั้งอันนั้นด้วย ซึ่งก็ยาก  แต่ว่าคงต้องพยายาม และการสื่อสารของกสม. โดยเอกสาร เช่น การส่งแฟ็กซ์ไปหน่วยงานที่ถูกร้อง เอกสารแผ่นนั้นไม่รู้ว่าไปไหน สมมติว่า เราร้องเรียนว่าหน่วยทหารนี้มีการซ้อม เอกสารฉบับนี้แฟ็กซ์ไป อยู่หน้าโต๊ะทำงาน โอเค บุคคลเหล่านั้นอาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซ้อม แต่คนอื่นล่ะ ในสำนักงานเขามาดู อ้าว หน่วยกู

Confidentiality เรื่องนี้ยากก็จริง แต่ว่าทำให้ได้ เพื่อจะปกป้องผู้ร้องและทำให้กลไกของกสม. เป็นที่น่าเชื่อถือและชาวบ้านกล้าที่จะมาร้องเรียน  เวลาเกิดการละเมิด มีเรื่องร้องเรียนว่าผู้ร้องได้รับผลกระทบ กสม. ก็ต้องโอบแขน อ้าแขนมา ให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน เพื่อที่จะไม่ให้ผู้ร้องคนนั้นเดือดร้อนไปมากกว่าที่เขาถูกละเมิด มีผลในการยับยั้งและป้องกัน

 

TAG

RELATED ARTICLES